ส่องผลงานเศรษฐกิจ 'รัฐบาลเศรษฐา' 1 ปี ยังสอบไม่ผ่าน 'นโยบายเรือธง'

"รัฐบาลเศรษฐา" ถือเป็นรัฐบาลที่ประชาชนตั้งความหวังในเรื่องเศรษฐกิจไว้มาก เนื่องจากเข้ามาในช่วงที่ประเทศกำลังมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งเรื่องกำลังซื้อของประชาชนที่ลดน้อยถอยลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง

ตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้งรัฐบาลเพื่อไทยได้ชูนโยบายเศรษฐกิจเป็นนโยบายหลัก ด้วยนโยบายที่ประกาศเพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาหนี้สิน และดึงการลงทุน ถือเป็น"นโยบายเรือธง" เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาทด้วยโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต การลดค่าครองชีพ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้วันละ 600 บาทภายในระยะเวลา 4 ปี เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้เฉลี่ย 5% ต่อปี 

รัฐบาลเศรษฐาเริ่มต้นทำงานในเดือน ก.ย.2566 โดยใน "รัฐบาลเศรษฐา1" โดยนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่ง แต่ผลงานในเรื่องของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจยังไม่เห็นผลชัดเจน

ปรับ ครม.ตั้งรองนายกฯควบคลัง

ด้วยภารกิจที่มากทั้งการลงพื้นที่และการเดินทางไปต่างประเทศ ในที่สุดในการปรับครม.นายพิชัย ชุณหวชิร เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง รับบทคุมนโนบายการคลัง และเริ่มมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลรวมทั้งตั้งเป้าให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวไม่น้อยกว่า 3% 

  • ประเมินผลงานเศรษฐกิจปีแรกรัฐบาลเศรษฐา

ผลงานในช่วงขวบปีแรกของรัฐบาลเศรษฐาในเรื่องเศรษฐกิจต้องถือว่ายังสอบไม่ผ่าน โดยเฉพาะในส่วนของนโยบายที่เป็นนโยบาย "เรือธง" ที่สำคัญที่ได้มีการหาเสียงไว้

ขณะที่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ออกมาบ่งบอกได้ว่ารัฐบาลยังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เพราะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ขยายตัวได้เพียง 1.5% ต่ำที่สุดในอาเซียน ขณะที่หน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยในปีนี้เหลือเฉลี่ย 2.4 – 2.5% โดยในส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำในไตรมาสแรกของปีนั้นมาจากการใช้จ่ายภาครัฐทั้งการอุปโภคและการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัวลงอย่างมากเนื่องจากความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งกว่าจะบังคับใช้ได้คือเดือน พ.ค.ของปีนี้

 

การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า

ขณะที่ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลมีการขยับปรับเปลี่ยนวงเงินงบประมาณเพื่อให้งบประมาณปี 2567 ส่วนหนึ่งมา รองรับโครงการนี้ รวมทั้งมีการออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (งบกลางปี 2567) วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีขยับขึ้นจากประมาณ 61% มาอยู่ที่ประมาณ 65% เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 

หนี้สาธารณะเพิ่มหลังทำงบฯกลางปี 

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการพยายามปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายปี 2567 หลายครั้งแต่ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องมีการออก พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมในปี 2567 เป็นงบกลางปีวงเงินประมาณ 1.22 แสนล้านบาท ส่งผลตามมาในเรื่องของงบประมาณและหนี้สาธารณะภาพรวมของประเทศที่เห็นจากการปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ครั้งที่2 ที่รัฐบาลมีการก่อหนี้ใหม่อีก 2.7 แสนล้านบาท ดันให้ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับเพิ่มขึ้นเป็น 65.05% เมื่อสิ้นปีงบประมาณ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้พยายามที่จะผลักดันงบประมาณลงไปในท้องถิ่นและกลุ่มจังหวัด เห็นได้จากการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการตามผลการประชุมบูรณาการรวมฯ ไปแล้ว 80 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 11,648.93 ล้านบาท

ขยับไทม์ไลน์ดิจิทัลวอลเล็ต 

ส่วนความคืบหน้าของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีการเลื่อนไทม์ไลน์การแจกเงินออกมาเป็นระยะๆ จากปลายปี 2566 มาเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 และล่าสุดขยับเวลามาเป็นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยนโยบายนี้มีการขับเคลื่อนยากทั้งในเรื่องของกฎหมายการเงินการคลัง วิธีการทางงบประมาณ รวมทั้งการวางระบบหลังบ้านทั้งระบบลงทะเบียนและระบบธุรกรรมทางการเงินขนาดใหญ่

ล่าสุดนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังออกมายืนยันว่าภายในเดือน ก.ค.นี้จะเปิดให้ประชาชน ร้านค้า ลงทะเบียนและยืนยันตัวตน โดยนายกรัฐมนตรีจะคิกออฟประกาศวันลงทะเบียนให้ได้ทราบในวันที่ 24 ก.ค.นี้ 

ปรับแหล่งเงินลดขนาดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ในเรื่องของวงเงินที่จะใช้ในโครงการนี้มีการปรับลดลงจากเดิม 5 แสนล้านบาท  เป็น 4.5 แสนล้านบาท โดยมีที่มาของแหล่งเงินคือ

1.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท

2.การบริหารจัดการงบประมาณในปี 2567 และงบกลางฯปี 67 43,000 ล้านบาท

3.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 โดยตั้งงบประมาณ 152,700

4.การบริหารจัดการงบอื่นๆ เช่น งบกลางฯ และงบประมาณส่วนที่หน่วยงานใช้ไม่ทัน 132,300 ล้านบาท

รอพิสูจน์ผลดึงลงทุนจากต่างประเทศ

ในมิติของการดึงลงทุนจากต่างประเทศซึ่งในช่วงเกือบๆ 1 ปีที่ผ่านมา นายเศรษฐามีการเดินทางไปโรดโชว์และร่วมการประชุมสำคัญในต่างประเทศทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น พบปะนักธุรกิจชั้นนำระดับโลกจำนวนมาก ผลที่เป็นรูปธรรมจากการไปดึงบริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุนนั้นยังไม่ชัดเจนแต่มีตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนนั้นเพิ่มขึ้น

แต่ตัวเลขาการลงทุนจริงที่มองผ่านตัวเลขการลงทุนทางตรง (FDI) ถือว่ายังมีน้อยมาก ที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่ที่ประกาศเข้ามาลงทุนในไทยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่างไมโครซอฟต์มีการประกาศแผนลงทุนในไทยแต่ยังไม่ประกาศตัวเลขในการลงทุนโดยการเจรจากับบริษัทรายใหญ่ให้ต้องใช้เวลาในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์ผลงานในด้านนี้ว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่ 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...