ทำไม 'ฝ่ายซ้ายแลนสไลด์' ในอังกฤษ ขณะที่ยุโรปเทใจให้ 'อำนาจฝ่ายขวา'

การตัดสินใจของประชาชนอังกฤษ ที่เลือกเปลี่ยนอำนาจบริหารไปให้กับพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายกลาง เกิดขึ้นในขณะที่ประชาชนประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เทคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองฝ่ายขวาเป็นส่วนใหญ่

การเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อเดือนก่อน ผู้บัญญัติกฎหมายที่มาจากพรรคฝ่ายขวาและฝ่ายขวาจัดได้รับเลือกเข้ารัฐสภายุโรปมากเป็นประวัติการณ์ ผลการเลือกตั้งดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนมากมาย ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงแห่งฝรั่งเศส ถึงกับต้องยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ และเป็นครั้งแรกที่พรรคขวาจัดอาร์เอ็น (National Rally) ชนะเลือกตั้ง (รอบแรก) เมื่อสัปดาห์ก่อน นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ขณะที่เนเธอร์แลนด์ จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมีพรรคการเมืองจากฝ่ายขวาจัดเข้าร่วมด้วย ส่วนอิตาลีก็ได้ผู้นำฝ่ายขวาสุดขึ้นมาบริหารประเทศครั้งประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่เบนนิโต มุสโสลินี ผู้นำอิตาลีในช่วงสงครามฟาสซิสต์ แต่ชัยชนะในการเลือกตั้ง และโอกาสที่บรรดาพรรคการเมืองฝ่ายขวาขึ้นมามีอำนาจนั้นไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจในยุโรป

ความนิยมของพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่เพิ่มขึ้น มีสาเหตุแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ที่พูดถึงกันมากคือ หลายประเทศในยุโรปประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซา จำนวนผู้อพยพสูง และราคาพลังงานแพงขึ้น เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนสู่เน็ตซีโร่ 

แต่ทำไมอังกฤษเป็นเพียงประเทศในทวีปยุโรปเพียงแห่งเดียว ซึ่งเป็นประเทศที่มีแนวคิดต่อต้านยุโรป (Euroskepticism) ไม่เลือกพรรคการเมืองฝ่ายขวามาบริหารประเทศเหมือนชาติอื่น ๆ

โหวตเตอร์ต้องการ “การเปลี่ยนแปลง”

นักวิเคราะห์เผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า แรงขับเคลื่อนเบื้องหลังที่เปลี่ยนแปลงผลการลงคะแนนเลือกตั้งทั้งในอังกฤษ และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนหวังให้เกิด "การเปลี่ยนแปลง"

แดน สตีเวนส์ ศาสตราจารย์ภาควิชาการเมือง จากมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ เผยกับซีเอ็นบีซีว่า

“ในยุโรปมีความรู้สึกต่อต้านการดำรงตำแหน่งของผู้นำ ...ไม่ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งก็ตาม ซึ่งเป็นแค่ความไม่พอใจทั่วไป และต้องการการเปลี่ยนแปลง” 

ขณะที่การดึงดูดผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงชาวอังกฤษ พรรคแรงงานใช้คำว่า การเปลี่ยนแปลง เป็นสโลแกนครองใจโหวตเตอร์ก่อนจะมีการเลือกตั้ง และการเปลี่ยนผ่านอำนาจสู่พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในอังกฤษ เกิดขึ้นหลังจากมีความปั่นป่วนในการเมืองอังกฤษ ในช่วงผู้บริหารชุดสุดท้ายของพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งเต็มไปด้วยความกังวลเรื่องผู้อพยพ และแนวคิดต่อต้านยุโรปหลังมีการลงประชามติออกจากอียูในปี 2559

จากนั้นอุปสรรคก็ถาโถมเข้ามาอีกมากมายตลอดช่วงที่เกิดวิกฤติต่างๆ  ทั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 สงครามในยูเครน และวิกฤติค่าครองชีพ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งของอังกฤษ ประชาชนจึงเทคะแนนให้พรรคแรงงาน เนื่องจากเบื่อหน่ายกับพรรคการเมืองเดิม

คริสโตเฟอร์ แกรนวิล กรรมการผู้จัดการในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (EMEA) และการเมืองระดับโลก จาก TS Lombard กล่าวว่า

“ถ้าคุณเจอเศรษฐกิจที่แย่มาก ๆ คุณจะคาดหวังให้ลูกตุ้มทางการเมืองแกว่ง และเมื่อมันแกว่ง มันจะเหวี่ยงสู่ด้านตรงข้ามของปัจจุบัน มันเหวี่ยงไปด้านนั้นเพราะผู้คนยากจนข้นแค้นและโมโห” 

ฝ่ายขวาจะมีอำนาจมากขึ้นในยุโรป

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองหลายคนปักธงไว้ว่า ยุโรปจะมีพรรคฝ่ายขวาขึ้นมาบริหารประเทศมากขึ้น เพราะโหวตเตอร์ต้องการประท้วงเพื่อต่อต้านสถานะทางการเมืองที่เป็นอยู่ ซึ่งมักเป็นบุคคลหรือฝ่ายการเมืองที่ครองอำนาจบริหารมานาน

โซเฟีย วาซิโลปูลู ศาสตราจารย์ด้านการเมืองยุโรปจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอล บอกว่า พรรคฝ่ายขวา และขวาจัดไม่ได้ชนะเพียงเพราะประเด็นผู้อพยพเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการที่สามารถดึงดูดโหวตเตอร์ให้เลือกพวกเขาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปหลายประการ

“พวกเข้าได้เสียงจากกลุ่มคนนอกฐานเสียง เพราะคนกลุ่มนี้ขาดความเชื่อมั่นในการเมือง ขาดความเชื่อมั่นในสถาบัน และเบื่อหน่ายกับสถานะที่เป็นอยู่ ... เหมือนกับการประท้วงการเมืองทั่วไป และมักมีผู้ลงคะแนนกลุ่มนี้จำนวนมากที่พรรคฝ่ายขวาได้ไป”

นักวิเคราะห์การเมืองชี้ว่า แม้บรรดาพรรคการเมืองฝ่ายขวาในฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป แต่ผลเลือกตั้งของพวกเขายังได้ไม่ดีเท่าที่คาดหวังไว้ ยิ่งไปกว่านั้น พรรคประชาธิปไตยยุโรป (European People’s Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวากลาง ที่มาจากการร่วมกลุ่มของประชาธิปไตยคริสเตียน และพรรคอนุรักษนิยมทั่วอียู ยังคงครองที่นั่งส่วนมากในรัฐสภา โดยมีที่นั่งมากถึง 188 ที่นั่ง

 

อ้างอิง: CNBC, CNN

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...