แผน 6 ปี ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ ลงทุน 4.4 พันล้าน ปี 67 ขึ้นราคาผงชูรสไซส์ใหญ่ 4%

ด้านปี 2567 พัฒนาสินค้าใหม่ต่อยอดศาสตร์แห่งอะมิโน คิกออฟแอปพลิเคชัน “i-LiveWell” แพลตฟอร์มกินดีมีสุขฉบับมนุษย์เงินเดือน แห่งแรกในโลกที่ไทย เผยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง กระทบผลผลิตการเกษตร รับขึ้นราคาผงชูรสไซส์ใหญ่ 4%

อิชิโระ ซะกะกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งมั่นขยายธุรกิจและทำตลาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หลังมีรากฐานยาวนานกว่า 6 ทศวรรษสร้างการเติบโต โดยแผนระยะยาว 6 ปี หรือภายในปี 2573 ยังเดินหน้าลงทุน 4,400 ล้านบาท สอดรับยุทธศาสตร์สร้างความยั่งยืน เพื่อพัฒนาและนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ ศาสตร์แห่งอะมิโน เพื่อตอบสนองการส่งเสริมสุขภาพที่ดี และสร้างการกินดีมีสุขให้แก่ผู้บริโภคชาวไทย

ส่วนปี 2567 (ปีงบประมาณ เม.ย.2567 - มี.ค.2568) บริษัทได้วางแผนการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ “ส่งเสริมโภชนาการครบวงจร” มุ่งนำเสนอไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ จากจุดแข็งด้านศาสตร์แห่งอะมิโนที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญและใช้มาเป็นเวลากว่า 100 ปีไปสู่การขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งกลุ่มโภชนาการกีฬา สินค้าบำรุงร่างกาย และกลุ่มความงามหรือบิวตี้ เข้ามาเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าคนไทยที่สนใจดูแลสุขภาพและความงาม รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ รับเทรนด์ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย

ขณะเดียวกัน โอกาสตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในประเทศไทยยังมีขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท และมีศักยภาพด้านการขยายตัว 5-10% ในทุกปี

ปี 2567 บริษัทยังเปิดตัวแอปพลิเคชัน “i-LiveWell” แพลตฟอร์มกินดีมีสุขฉบับมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเป็นแอปที่พัฒนาโดยทีมในประเทศไทย และยังเปิดตัวที่ไทยเป็นครั้งแรกในโลกด้วย ซึ่งจุดเด่นของแอปจะตอบโจทย์การดูแลสุขภาพแบบเชิงรุก นำร่องเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจ( B2B) เพื่อร่วมตอกย้ำ วิสัยทัศน์การเป็นผู้นำ ในการสร้างความ กินดีมีสุข อย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้าน ผู้บริโภค สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพนักงาน

อิชิโระ กล่าวอีกว่า การดำเนินธุรกิจปี 2567 บริษัทกังวล “ต้นทุนวัตถุดิบ” เนื่องจากพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตรมาก  เช่น มันสำปะหลังเพื่อผลิตผงชูรส และเมล็ดกาแฟผลิตกาแฟพร้อมดื่ม (RTD) ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ส่งผลให้บริษัท “ปรับราคา” ผงชูรส อายิโนะโมะโต๊ะ แพ็กเกจจิ้งใหญ่ขึ้นมา 4% จำนวน 4 ไซส์ ประกอบด้วย 250 กรัม , 500 กรัม , 1 กิโลกรัม หรือ ขนาด 1,000 กรัม และ 3 กิโลกรัม หรือ 3,000 กรัม ตามต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนไซส์อื่นๆ ราคายังเท่าเดิม

ส่วนปัจจุบันผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะแบบปลีก มีหลายขนาด เช่น 9 กรัม 35 กรัม 75 กรัม 1 กิโลกรัม และ 3 กิโลกรัม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วนให้มุมมองด้านสถานการณ์เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกอาจยังไม่ดีนัก แต่แผนของบริษัทยังมุ่งมั่นในการเรื่องการดูแล และควบคุมต้นทุนภายในองค์กรเป็นหลัก รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนอย่างสูงสุด และประเมินสถานการณ์ต่างๆ ทุกเดือน

“บริษัทให้ความสำคัญในการประเมินเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ กระบวนการผลิต หาแนวทางเพิ่มยอดขายในทุกเดือน และมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ซึ่งจากการประเมินแผนในทุกเดือน ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจ ปรับตัวได้ทันท่วงที ซึ่งแผนงานนี้ได้มีการใช้ตั้งแต่ปี 2564 ช่วยสร้างความแม่นยำให้แก่องค์กร ส่งผลดีต่อยอดขายและประสิทธิภาพของธุรกิจให้มีความเสถียรอย่างดี”

สำหรับปี 2566 อายิโนะโมะโต๊ะสร้างผลประกอบการอยู่ที่ 32,000 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างรายได้ ประกอบด้วย ผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ ซึ่งเป็นผู้นำตลาด ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 93% รสดีมีส่วนแบ่งตลาด 89% และกาแฟกระป๋อง เบอร์ดี้ส่วนแบ่งตลาด 53% และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยำยำ ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ขณะที่ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มอาหารเสริมกรดอะมิโน สร้างผลประกอบการขยายตัวสองหลัก

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายผลประกอบการเติบโตสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทย

วันนเรศวร์ สุขีลักษณ์  ผู้จัดการแผนกธุรกิจใหม่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า แอปพลิเคชัน i-LiveWell -แพลตฟอร์มกินดีมีสุขฉบับมนุษย์เงินเดือน ถูกพัฒนาโดยทีมงานในประเทศและเปิดตัวในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในโลก มีความโดดเด่นแตกต่างจาก แอปพลิเคชันอื่นๆ ในตลาด ทั้งการมีฟีเจอร์หลัก A.I. Personal Health คำนวณแคลอรีของอาหาร สามารถใช้กล้องถ่ายรูปอาหาร เพื่อวิเคราะห์แคลอรีในเชิงลึกได้ทันที รวมถึงด้านพลังงานและเกลือแร่ อีกทั้งยังมี เอนเตอร์เทนเมนต์ แอคทิวิตี้ เกมและอวตารคอมมูนิตี้ เพิ่อทำให้องค์กรร่วมสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่พนักงาน

สำหรับแอปพลิเคชัน i-LiveWell จะมุ่งเจาะลูกค้า B2B เบื้องต้นตั้งเป้าหมายให้บริการ 50 บริษัท โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงิน และบริษัทประกัน เพื่อร่วมสร้างสุขภาพที่ดี และคาดการณ์ภายในปี 2568 จะมีพนักงานเข้าร่วมกว่า 3,000 คน ส่วนอัตราค่าบริการจะเริ่มต้นประมาณ 100 บาทต่อคนต่อเดือน

“แอปพลิเคชันใหม่นี้ อยู่ในพอร์ตโฟลิโอของธุรกิจใหม่ นับเป็นการรุกธุรกิจ Healthtech อย่างจริงจังมากขึ้น โดยกลุ่มนี้รวมกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วย ซึ่งกลุ่มธุรกิจใหม่ ในปัจจุบันสร้างรายได้ในสัดส่วน 5% ของรายได้ทั้งหมด ประเมินว่าในอีก 6 ปีจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 10%”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...