‘โอ้กะจู๋’ ขายผักจนมีรายได้ 2 พันล้าน ส่วน ‘Oh! Juice’ โตแรง ทะลุวันละ 500 แก้ว!

“อู๋ เดี๋ยวเรียนจบแล้วเราไปปลูกผักขายด้วยกันนะ” คือประโยคที่ “โจ้-จิรายุทธ ภูวพูนผล” หันไปพูดกับ “อู๋-ชลากร เอกชัยพัฒนกุล” เมื่อครั้งที่ทั้งคู่มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ดูงานแปลงปลูกผักคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากเดิมที่เคยตั้งเป้าเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจิรายุทธบอกว่า ตนไม่ได้เป็นนักวางแผน พอถึงชั้นมัธยมปีที่ 5 ใกล้เวลาเตรียมตัวสอบโควตาเข้ามหาวิทยาลัยก็มองว่า คงเลือกเรียนคณะคล้ายกับเพื่อนคนอื่นๆ ตามสูตรสำเร็จเดิม อาชีพหมอ ทันตแพทย์ เภสัชกร วิศวกร จึงเป็นความฝันฟุ้งๆ ในช่วงนั้น

การมาเยือนคณะเกษตรศาสตร์ครั้งนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของทั้งคู่ไปตลอดกาล เมื่อจบการศึกษา “จิรายุทธ” และ “เอกชัย” เริ่มต้นเส้นทางเกษตรกรด้วยการทดลองปลูกผักบนที่ดินเปล่า 1 ไร่ ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ จากการลองผิดลองถูก ปลูกผักแบบอินทรีย์ปลอดยาฆ่าแมลงในวันนั้น ไม่นานทั้งคู่ก็ค่อยๆ ต่อยอดสู่การเปิดร้านสลัดสาขาแรก ที่เกิดจากการผวนคำง่ายๆ เมื่อร้านเริ่มจากอู๋กับโจ้ ชื่อร้าน “โอ้กะจู๋” จึงน่าจะง่ายต่อการจดจำ

วันเวลาผ่านไปชื่อเสียงร้าน “โอ้กะจู๋” ดังไกลถึงกรุงเทพฯ บอกกันปากต่อปากว่า หากได้มาเชียงใหม่ นี่คืออีกหมุดหมายความอร่อยที่ไม่ควรพลาด จนถึงปัจจุบันร้านโอ้กะจู๋ขยายไปแล้ว 34 สาขา แตกแบรนด์ใหม่อย่าง “Oh! Juice” จนเกิดเป็นปรากฏการณ์รอคิวยาวนาน 4 ชั่วโมง

โดย “จิรายุทธ” เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ร้าน “Oh! Juice” มียอดขายเฉลี่ยอย่างต่ำ 500 แก้วต่อวัน ทำให้แผนการทำงานปีนี้ “โอ้กะจู๋” จะหันไปโฟกัสที่ธุรกิจร้านสมูทตี้ “Oh! Juice” เป็นหลัก เปิดอีกอย่างน้อย 10 แห่ง สาขาที่สองประเดิมที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน วันที่ 28 มิถุนายนนี้เป็นวันแรก และจะเปิดใจกลางกรุงที่ย่านสยามสแควร์ในเดือนสิงหาคมด้วย

-(จากซ้ายไปขวา) โจ้-จิรายุทธ ภูวพูนผล, อู๋-ชลากร เอกชัยพัฒนกุล และ ต้อง-วรเดช สุชัยบุญศิริ ผู้ก่อตั้งร้านโอ้กะจู๋-

เด็กบ้านโฮ่งที่ปลูกผัก เพราะรักลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว

“จิรายุทธ” เกิดและเติบโตที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เขาคลุกคลีกับวิถีเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ครอบครัวประกอบอาชีพปลูกหอม ปลูกกระเทียม เมื่อเห็นแปลงเกษตรที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเกิดเปลี่ยนใจอยากเข้าเรียนคณะเกษตรศาสตร์พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ห้ามปรามอะไร อาจเพราะทั้งคู่เป็นชาวสวนอยู่แล้ว ทำให้จิรายุทธมุ่งหน้าสู่อาชีพเกษตรกรได้อย่างราบรื่น

พอดีกับที่ทางบ้านของหุ้นส่วนคนสำคัญมีที่ดินเปล่าอยู่ 1 แปลง ทั้งคู่ทดลองปลูกผักแบบอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใส่สารเคมี ผลผลิตที่ได้มาก็เก็บเกี่ยวมาปรุงอาหารให้คนในครอบครัวทานด้วย จึงเป็นที่มาของสโลแกน “ปลูกผักเพราะรักแม่” จิรายุทธบอกว่า “แม่” เปรียบเสมือนตัวแทนของคนในครอบครัวที่ทุกคนรัก นัยจึงหมายถึงความรัก ความใส่ใจ ในวัตถุดิบและเมนูอาหาร เพราะลูกค้าก็เหมือนคนในครอบครัว

“โอ้กะจู๋” เลือกเปิดร้านสาขาแรกบริเวณหน้าฟาร์ม นอกจากองค์ความรู้เรื่องการปลูกผักในฐานะวัตถุดิบหลัก หัวใจสำคัญที่ทำให้ชื่อเสียงโอ้กะจู๋ดังไกลก็มาจากหน้าตาการจัดจานของเมนูเลื่องชื่ออย่าง “สเต๊กซี่โครงสะพานโค้ง” และ “เลดี้ ริบส์ โอ้กะจู๋” ด้วย จิรายุทธยกเครดิตส่วนนี้ให้กับชลากรและแฟนสาวที่เป็นผู้เนรมิตเมนูอาหารภายในร้านตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน

หลังจากสาขาแรกได้รับการตอบรับที่ดี ทั้ง “จิรายุทธ” และ “ชลากร” เริ่มมีความคิดอยากขยายสาขาไปยังจังหวัดอื่นๆ บ้าง พอดีกับที่ทางร้านถูกชักชวนให้มาเปิดสาขาในตัวเมืองเชียงใหม่ จึงถือเอาร้านโอ้กะจู๋ สาขานิ่มซิตี้ เป็นโมเดลนำร่องเพื่อเรียนรู้กระบวนการจัดการหลังบ้านทั้งหมด

หากจะต้องขยายสาขาไปไกลกว่านี้ สิ่งที่หุ้นส่วนทั้งสองกังวล คือวัตถุดิบหลักอย่างผักสดที่ใช้จากฟาร์มทั้งหมด 100% ซึ่งปัจจุบันได้มีการแบ่งสรรปันส่วนกระจายห่วงโซ่อุปทานไปยังซัพพลายเออร์รายอื่นๆ โดยเป็นกลุ่มเกษตรกรจากจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญมาตลอด คือผักที่ส่งมาหน้าร้านต้องเป็นผักสดวันต่อวัน ทุกวันที่ฟาร์มต้องมีการเพาะเมล็ด เตรียมแปลง ย้ายปลูก เก็บเกี่ยว ล้างผัก และขนส่ง ตอนนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นผักปลูกเอง บางส่วนแบ่งปันให้กลุ่มเกษตรกรที่มีใจรักทำการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งตอนแรกก็คุยกันว่า ไม่เอาดีกว่า ปลูกเองทั้งหมดดีกว่า ลูกค้าน่าจะมั่นใจในสิ่งที่เราทำ แต่ผู้ใหญ่ก็ให้คำแนะนำมาว่า ประสบความสำเร็จมาระดับหนึ่งแลัว ถ้ามีโอกาสน่าจะแบ่งปันให้คนที่มีโอกาสน้อยกว่าเรา ด้วยข้อคิดแบบนี้ประมาณเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เราจึงเริ่มแบ่งปันให้กลุ่มเกษตรกรในเชียงใหม่ด้วย”

-แปลงปลูกผักปลอดสารเคมีของร้านโอ้กะจู๋-

ก่อนสำเร็จก็ “ลองผิด” มาเยอะ เกือบถอดใจ ไม่มีแบรนด์ชื่อ “โอ้กะจู๋” 

ปัจจุบันโอ้กะจู๋มีหุ้นส่วนทั้งหมด 4 คน เพิ่มเติมจากจิรายุทธและชลากร คือ “ต้อง-วรเดช สุชัยบุญศิริ” และคนสุดท้ายที่เข้ามาเติมเต็มให้การทำงานมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น คือ “OR” กลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกที่เรารู้จักกันในชื่อ “ปตท.” เข้าซื้อหุ้นโอ้กะจู๋ด้วยสัดส่วน 20%

จิรายุทธบอกว่า การมี OR เข้ามาเป็นหุ้นส่วนคนที่ 4 ทำให้มีโอกาสขยับขยายได้คล่องตัวมากขึ้น มีผู้มากประสบการณ์เข้ามาช่วยแนะนำทิศทางธุรกิจ จากที่เคยทำงานกันวันต่อวัน วางแผนระยะสั้น ตนเพิ่งเข้าใจว่า การวางแผนระยะยาวเป็นอย่างไร แผนในอีก 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี ต้องทำอะไรบ้าง

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ “โอ้กะจู๋” ไม่ได้สำเร็จตั้งแต่แรก ลองผิดลองถูกมาก็เยอะ ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจที่ยังไม่ได้มีเงินทุนมากนัก แปลงผักฟาร์มโอ้กะจู๋เคยได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อนสูงสุดถึง 200 หลัง ประเมินมูลค่าความเสียหายได้หลายล้านบาท หรือย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ช่วงขวบปีแรกที่โอ้กะจู๋มีโรงเรือนเพียงหลังเดียวก็เคยเจอกับน้ำท่วมเสียหายทั้งหลังเช่นกัน จนคิดถอดใจไม่อยากไปต่อกับธุรกิจนี้ และเริ่มวางแผนกลับไปหางานประจำทำแล้ว แต่เพราะได้กำลังใจจาก “ชลากร” ทำให้ตนฮึดสู้อีกครั้ง

“ปีแรกผมโดนน้ำท่วม โรงเรือนพัง ถ้าทำคนเดียวอาจจะเฟล ไม่อยากไปต่อแล้ว อาจจะกลับมาหางานประจำทำ แต่ด้วยความโชคดี มีพาร์ทเนอร์ที่ดีที่โตมาด้วยกัน รู้จักกันมาตั้งแต่อายุสิบกว่าๆ ก็ให้กำลังใจกันว่า เขาก็บอกว่า เราฝันมาเป็นสิบๆ ปี เจอปัญหาแค่นี้จะยอมแล้วเหรอ คนอื่นเขาลำบากกว่าเราอีก เขาก็เจอปัญหาเหมือนกัน ไม่มีใครสำเร็จตั้งแต่วันแรกหรอก ก็โชคดีที่ได้กำลังใจจากพาร์ทเนอร์ที่ดีมากๆ”

“Oh! Juice” ไปต่ออีก 10 สาขา ไขข้อข้องใจจุดประกายจาก Erewhon?

10 ปีผ่านไป จากวันตั้งไข่โอ้กะจู๋สาขาแรก มาปีนี้ “โอ้กะจู๋” แตกไลน์ร้านใหม่ในเครืออีกครั้งจากสมูทตี้ผลไม้ที่ติดอันดับเมนูขายดีมาโดยตลอด “จิรายุทธ” บอกว่า สเกลของร้านโอ้กะจู๋มีข้อจำกัดในการขยายสาขาเพราะเป็นร้านใหญ่ แต่จะทำอย่างไรให้การขยายธุรกิจครอบคลุมมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการหยิบเมนูสมูทตี้ดั้งเดิมของร้านมาพัฒนาสูตรให้แตกต่าง บนพื้นที่ร้านคีออสไม่เกิน 30 ตารางเมตร ในชื่อ “Oh! Juice”

“จิรายุทธ” เล่าว่า ก่อนจะออกมาเป็นร้าน Oh! Juice แห่งแรก ผ่านการคิดและวางแผนมาหลายปี ตอนแรกมีแผนเปิดตัวร้านเร็วกว่านี้ด้วยซ้ำ กระทั่งลงตัวกับแลนด์ลอร์ดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ยอมรับว่า กระแสตอบรับออกมาดีเกินคาดไว้มาก หลังจากนี้ทีมโอ้กะจู๋ทุ่มสรรพกำลังมาที่ร้าน Oh! Juice เป็นหลัก วางแผนขยายเพิ่มอีกอย่างต่ำ 10 สาขาภายในปีนี้ โดยเลือกพื้นที่ที่มีทราฟิกเป็นหลัก ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นนอกเมืองหรือชานเมืองเพราะกลุ่มเป้าหมายแตกต่างจากร้านโอ้กะจู๋ที่มีความเป็น “Destination” เชื่อว่า Oh! Juice จะช่วยเพิ่มความถี่ในการขายได้

อย่างไรก็ตาม “กรุงเทพธุรกิจ” สอบถามถึงความละม้ายคล้ายคลึงกันของสมูทตี้หมวดซิกเนเจอร์ แบรนด์ “Oh! Juice” และสมูทตี้จากลักชัวรี ซูเปอร์มาร์เก็ต อย่าง “Erewhon” ที่สหรัฐว่า เป็นความบังเอิญหรือตั้งใจกันแน่ “จิรายุทธ” ให้ความเห็นว่า Oh! Juice อาจไม่ใช่ที่แรกในโลกที่ออกแบบหน้าตาสมูทตี้ในรูปแบบดังกล่าว

ส่วนหนึ่งเกิดจากการไปเห็นและได้รับแรงบันดาลใจจากต่างประเทศจริง การตกแต่งแก้วที่มีสีสันสะดุดตาทำให้เกิดความสนใจ แต่จริงๆ ทุกเมนูของ Oh! Juice ยึดตามเมนูเดิมของร้านโอ้กะจู๋อยู่แล้ว เพียงแต่นำมาประยุกต์ให้เกิดความแตกต่าง เข้ากับความชอบของคนไทยมากขึ้น

สำหรับจุดขายของ “Oh! Juice” โมเดลตั้งต้นไม่ได้วางจุดยืนเป็น “น้ำปั่นไฮโซ” หรือ “น้ำปั่นฟาสต์แฟชั่น” แบรนด์ต้องการเป็นสมูทตี้ไทยแท้ที่หากลูกค้าอยากกินต้องนึกถึง Oh! Juice เท่านั้น ทว่า เพราะจังหวะไวรัลของเมนูซิกเนเจอร์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจึงทำให้เกิดข้อสังเกตอื่นๆ ตามมา

“จิรายุทธ” บอกว่า ตนไม่อยากให้ Oh! Juice เป็นเพียงกระแสฉาบฉวย แต่ต้องเข้ามาตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ ซึ่งทางร้านก็เลือกวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติเป็นหลัก เติมส่วนผสมบางตัวเข้าไปให้มีความพิเศษมากขึ้น เช่น คอลลาเจนนำเข้าจากญี่ปุ่น หรือผง “Blue Magic” ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้สมูทตี้เป็นเรื่องของสุขภาพที่น่าจะมีความยั่งยืนได้ในระยะยาว

หลังจากนี้ “Oh! Juice” มีแผนเปิดสาขาถัดไปที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ สำหรับกระแสตอบรับที่เซ็นทรัลลาดพร้าว “จิรายุทธ” พูดติดตลกว่า ตอนนี้ไม่ต้องรอ 4 ชั่วโมงแล้ว เหลือเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ยอดขายตอนนี้ขายได้ไม่ต่ำกว่า 500 แก้วต่อวัน

ส่วนของโลเกชันที่ดูเหมือนจะเน้นพื้นที่รอบนอกก่อนเข้าไปยังใจกลางเมืองนั้น “จิรายุทธ” บอกว่า ความตั้งใจของ “Oh! Juice!” อยากให้ครอบคลุมทุกพื้นที่อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง โดยเฉพาะการทำสัญญากับแลนด์ลอร์ดด้วย ต้องดูว่า พื้นที่เขาพร้อมเมื่อไหร่ มีแผนปักหมุดย่านสยามสแควร์แน่นอนภายในเดือนสิงหาคมปีนี้

อนาคตของเครือโอ้กะจู๋ มีแผนเปิดแบรนด์อื่นต่อจาก “Oh! Juice” แน่นอน แต่ปีนี้เนื่องจากจังหวะและโอกาสมาที่ร้าน Oh! Juice จึงขอโฟกัสตรงนี้เป็นหลัก ส่วนแผนที่เป็นความฝันในอีก 5 ปีข้างหน้า มองว่า อยากพาโอ้กะจู๋ไปต่างประเทศให้ได้ เป็นอีกฝันใหญ่ที่ตั้งเป้าไว้และอยากทำให้สำเร็จ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...