‘เกษตรกรรม’ ปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ กระทบ ‘โลกร้อน’ รุนแรงกว่าเดิม

ก๊าซเรือนกระจก” ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคนมักจะรู้จักแค่ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ความจริงยังมี “ก๊าซไนตรัสออกไซด์” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ซึ่งมาจากการใช้ปุ๋ยจำนวนมากในภาคเกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดข้อกังวลของนักวิจัยว่าปริมาณก๊าซจะเกินการควบคุม

ตามข้อมูลจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการวิเคราะห์ระบบประยุกต์ หรือ IIASA พบว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา (1980-2020) การปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์เพิ่มสูงขึ้น 40% ทำให้ในปี 2565 ระดับก๊าซดังกล่าวในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นเป็น 336 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งเพิ่มขึ้น 25% จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

ไนตรัสออกไซด์ หรือที่รู้จักในชื่อ “แก๊สหัวเราะ” เป็นหนึ่งใน “ก๊าซเรือนกระจก” ที่สำคัญ ร่วมกับคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน แม้ก๊าซไนตรัสออกไซด์อาจจะไม่ได้มีมากเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็มีประสิทธิภาพในการทำให้โลกร้อนขึ้นถึง 300 เท่า และยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศโดยกักเก็บความร้อนไว้เป็นเวลากว่าศตวรรษ อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษในดิน น้ำ และอากาศ ตลอดจนทำลายชั้นโอโซนอีกด้วย

หานชิง เถียน ผู้เขียนรายงานดังกล่าวระบุว่า หากต้องการให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส จำเป็นจะต้องลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ลงให้ได้จนเหลือเป็นเน็ตซีโร 

“การลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์เป็นวิธีแก้ปัญหาเดียวที่จะช่วยได้ เนื่องจากในตอนนี้ไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดก๊าซไนตรัสออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศได้” เถียนกล่าว

หากต้องการให้อุณหภูมิไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสก่อนยุคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากฝีมือมนุษย์ลงประมาณ 20% ภายในปี 2050

“เกษตรกรรม” แหล่งผลิต “ก๊าซไนตรัสออกไซด์”

ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก๊าซไนตรัสออกไซด์เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินและมหาสมุทร ดังนั้นความเข้มข้นของก๊าซไนตรัสออกไซด์ในบรรยากาศจึงค่อนข้างคงที่

เกษตรกรรม” เป็นแหล่งผลิตไนตรัสออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็น 74% ของไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากมนุษย์สร้างในช่วงปี 2011-2020 ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์ที่ทำให้เกิดก๊าซดังกล่าว ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ของเสียและน้ำเสีย การเผาไหม้ชีวมวล กระบวนการทางอุตสาหกรรม เช่น การผลิตไนลอน วัตถุระเบิด และปุ๋ย

ตั้งแต่ทศวรรษ 1980-2020 กิจกรรมทางการเกษตรปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์เพิ่มขึ้น 67% โดย 70% ของทั้งหมดมาจากปุ๋ยไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนอีก 30% มาจากมูลสัตว์และปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น เลี้ยงปลา ในประเทศจีน ซึ่งกำลังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 25 เท่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

ในปัจจุบันมีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ เป๊ป คานาเดลล์ หัวหน้านักวิจัยของ CSIRO หน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย  ผู้นำร่วมของการศึกษาวิจัยสัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ว่า “เราจำเป็นต้องเข้มงวดกับการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์มากขึ้น ในตอนนี้เรายังไม่มีนโยบายใด ๆ ทั้งสิ้น และยังไม่มีใครพยายามจะจำกัดมัน”

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ประเมินว่าไนตรัสออกไซด์คิดเป็น 6.4% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในโลก และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

สำหรับประเทศที่ปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์เป็นอันดับต้น ๆ ตามรายงาน ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา บราซิล รัสเซีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย และแคนาดา แต่ปริมาณการปล่อยก๊าซแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศด้วยเหตุผลหลายประการทางสังคม เศรษฐกิจ เกษตรกรรม และการเมือง

จีนและอินเดีย มีแนวโน้มผลิตก๊าซไนตรัสออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารของประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยจีนเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้ปุ๋ยเคมีรายใหญ่ที่สุด

ส่วนบราซิลและอินโดนีเซีย มีการตัดไม้และเผาป่าเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรและปศุสัตว์ ประกอบกับการทำเกษตรกรรมที่เข้มข้นมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสูญเสียไนโตรเจนจากแหล่งธรรมชาติรุนแรงขึ้น

ขณะที่ ทวีปแอฟริกาสามารถผลิตอาหารได้โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจน แต่ประเทศทางแอฟริกาเหนือกลับปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเพราะการทำปศุสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้นในแอฟริกา

สวนทางกับในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์อันดับต้น ๆ ของโลก แต่ปัจจุบันสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด ทั้งจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และก๊าซจากภาคการเกษตร เช่นเดียวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ลดลงเช่นกัน

เกษตรกรจำนวนมากพยายามจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงใช้ปุ๋ยไนโตรเจนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการจัดการของเสียจากสัตว์ที่ดีขึ้น และแนวทางการทำฟาร์มที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่คานาเดลล์กล่าวว่า ต่อให้ลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ได้ไม่มาก แต่ก็จะสามารถส่งผลกระทบได้อย่างใหญ่หลวง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีจึงจะมีผลที่ชัดเจน


ที่มา: Business Times, Phys, The Conversation

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...