'ซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ ผงาด 'ทักก้า' ปลุกเศรษฐกิจสะพัด 8 ล้านล้านบาท

นับถอยหลังจัดงานใหญ่ “THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024” โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ หรือ ทักก้า (Thailand Creative Content Agency :THACCA) วันที่ 28-30 มิ.ย. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นฟอรัมระดับชาติ ประกาศศักดาซอฟต์พาวเวอร์ไทยชิงพื้นที่ในตลาดโลก พร้อมมุมมองจากบิ๊กคอร์ปไทยและต่างประเทศ เช่น เจ้าสัวธนินท์ เจียรนนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซูฮยอน คิม แห่งยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ ตัวแทนจาก webtoon เกาหลีใต้ และค่ายอนิเมะจากญี่ปุ่น ร่วมถอดบทเรียนพึ่งอำนาจละมุนพลิกโฉมเศรษฐกิจสร้างเม็ดเงินมหาศาล

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า การจัดงาน “THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024” ถือเป็นการประกาศยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านอำนาจละมุนหรือซอฟต์พาวเวอร์ อุตสาหกรรม 11 สาขา เกิดขึ้นจริง ผ่าน 3 วัตถุประสงค์ ได้แก่ 1.แนวทางการทำงานซอฟต์พาวเวอร์ที่มีความชัดเจนมากที่สุด 2.โอกาสของซอฟต์พาวเวอร์ไทยในตลาดโลกมีอยู่จุดไหนบ้าง รวมถึงการสร้างนักรบซอฟต์พาวเวอร์ไทย ติดอาวุธด้วยการเพิ่มทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ อาชีพ จำนวน 20 ล้านคน รวมถึงขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ให้เกิดขึ้น

3.การประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในประเทศไทย และมิตรประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี อิตาลี มาช่วยขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ตลาดโลก

“แผนงานซอฟต์พาวเวอร์ที่หลายคนบอกไม่มีรูปธรรม วันนี้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เราวางรากฐานมานาน ถูกมองว่าดำเนินงานคนละทิศคนละทาง สะเปะสะปะ อยากบอกว่าไม่ใช่ เพราะเราให้เอกชนผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมต่างๆ ผู้รู้ เชี่ยวชาญช่วยขับเคลื่อน งานนี้ไม่ใช่ของรัฐ แต่เอกชนที่มีความรู้ความสามารถ เล่นจริงเจ็บจริงได้เวลาเติบโตเพื่อบรรลุเป้าหมาย”

ของบกลางฯ กว่า 2,000 ล้านหนุน

การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์มีการของบประมาณกลางปี 2567 วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับงบประมาณเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น เพื่อดำเนินโครงการต่างๆในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ เช่น การสร้าง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เปิดทางให้ตัวแทนครอบครัว 1 คน เลือกอาชีพที่สนใจแล้วเข้าอบรมเสริมทักษะ การพัฒนาเชฟ 7-8 หมื่นรายทั่วประเทศ ผ่านการคัดเลือกจาก 3 คนต่อ 1 หมู่บ้าน เข้ารับการอมรม 28 วัน ต่อยอดสู่การเป็นเชฟออกไปทำงานในร้านอาหารไทยทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนหลักสูตรมวยไทยผ่านโรงเรียนในสังกัด กทม. รวมถึงสถานเรียนมวยไทยหรือยิม การสร้างนักรบซอฟต์พาวเวอร์ทักษะสูงและมีความคิดสร้างสรรค์ 20 ล้านคน ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์วันที่ 28 มิ.ย. หรือลงทะเบียนผ่านกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ กิจกรรมเหล่านี้ต้องมีเม็ดเงินสนับสนุนทั้งสิ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลที่ผ่านมามีการของบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่า 6,000-7,000 ล้านบาท สิ่งที่เกิดในอดีตคือต่างคนต่างทำ แต่รัฐบาลนี้จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก

“การของบกลางฯ ปีนี้ขอเท่าที่จำเป็น และคำนึงถึงการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า การใช้เงินสะเปะสะปะจะไม่เกิดแน่นอนภายใต้คณะกรรมการทักก้า อย่างไรก็ตามหากมีหน่วยงานทักก้า ซึ่งปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือทักก้าดำเนินการเสร็จแล้ว จะนำเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างกฎหมายต่อไป ซึ่งจะทำให้การของบประมาณปี 2569 เป็นภาพใหญ่เพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์”

หวังสร้างเศรษฐกิจไทย 8 ล้านล้านบาท

การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย รัฐบาลมองเป้าหมายปี 2570 คาดการณ์นักรบซอฟต์พาวเวอร์ 20 ล้านคน จะสร้างรายได้ 1.6 หมื่นบาทต่อเดือน หรือ 2 แสนบาทต่อคนต่อปี สร้างเม็ดเงินให้เศรษฐกิจไทย 4 ล้านล้านบาทต่อปี และหากมองทั้งภาพใหญ่คาดการณ์จะมีเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ทั้งการท่องเที่ยว อาหาร มวยไทย ภาพยนตร์ แฟชั่น เฟสติวัล อยู่ที่ 8 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ จะผลักดันให้อาหารไทยขยายตลาดสู่ต่างประเทศเพิ่มเป็น 1 แสนแห่ง ในเมืองใหญ่ทั่วโลก จากปัจจุบันมีเพียง 2-3 หมื่นแห่ง หลังจากมีนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกแต่ถูกแช่แข็งมาราว 20 ปี และมียิมมวยไทย 1 แสนแห่งทั่วโลก จาก 4 หมื่นแห่ง และผลิตเชฟสู่ตลาดโลก 7-8 หมื่นคน รวมถึงครูสอนมวยไทยเป็นต้น

ดึง“เจ้าสัว-บิ๊กคอร์ป”โชว์วิสัยทัศน์ซอฟต์พาวเวอร์

สำหรับงาน THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024 มีไฮไลต์นำเสนอ 4 โซนซอฟต์พาวเวอร์บนพื้นที่ 1.12 หมื่นตร.ม. เพื่อโชว์ศักยภาพทั้งอาหาร แฟชั่น หนัง เฟสติวัล การท่องเที่ยว ศิลปะ  พร้อมถอดบทเรียนด้านซอฟต์พาวเวอร์จากบุคคลชั้นนำของไทยและระดับโลก เช่น นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในหัวข้อ “โอกาสประเทศไทยกับความมั่นคงอาหาร” นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล หัวข้อ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2024 การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์อาหารเพื่อความยั่งยืน” ซูฮยอน คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ อภิปรายด้านวัฒนธรรมและเมืองสร้างสรรค์

พร้อมกันนี้ ยังมีพันธมิตรประเทศต่างๆ เช่น เว็บตูน (Webtoon) เกาหลีใต้ ค่ายอนิเมะจากญี่ปุ่น และอิตาลี จะฉายภาพความล้มเหลวและสำเร็จด้านซอฟต์พาวเวอร์ การปรุงอาหารพิเศษจากเชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร รวมถึงศักยภาพเกมไทย ที่นำทัพโดยนายสิทธิชัย เทพไพฑูรย์. ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม ภายใต้คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

ยังมีกิจกรรมที่ให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ เช่น การแสดงศิลปะวัฒนธรรมและเสียงเพลงจากวงหมอลำระเบียบวาทะศิลป์ที่จะมาครบ 30 ชีวิต โดยงานนี้คาดการณ์มีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...