พิชัย จิราธิวัฒน์ วางยุทธศาสตร์ good goods พลังเซ็นทรัลปั้นไทยแบรนด์สู่โลก

พร้อมมุ่งสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values : CSV) ระหว่างธุรกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ผู้มีส่วนได้เสีย เติบโตไปด้วยกัน ผ่านพลัง ร่วมกันลงมือทำในโครงการ “เซ็นทรัลทำ” สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs : Sustainable Development Goals) ตามกรอบขององค์การสหประชาชาติ (UN)

โครงการเซ็นทรัลทำ สำเร็จด้วยการ ลงแรง ลงกาย ลงใจ ของทีมงานกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้การวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนของคีย์แมนคนสำคัญ “พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล เล่าย้อนว่า กลุ่มเซ็นทรัลทำโครงการสนับสนุนและพัฒนาชุมชนมาตลอด ตั้งแต่รุ่นปู่ และรุ่นพ่อ ทั้งโครงการด้านการศึกษา การเกษตร การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยการปลูกป่าต้นน้ำ เพื่อสร้างพื้นที่การเกษตรที่ดี มีความปลอดภัย รวมทั้งส่งเสริมด้านอาชีพที่จะสร้างความยั่งยืนมากที่สุด

กลุ่มเซ็นทรัล มีความตั้งใจที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมและยกระดับสินค้าชุมชนไทยสู่ตลาดโลก จึงมองช่องทาง “ต่อยอด” ไปสู่การสร้างแบรนด์ กุ๊ด กุ๊ดส์ (good goods) เพราะทุกอย่างจะสำเร็จและอยู่ได้อย่างยาวนาน โจทย์สำคัญต้องทำให้แบรนด์เป็นรู้จักและติดตลาดให้ได้

“แบรนด์ good goods ผมเป็นคนคิดชื่อและวางคอนเซปต์ ได้นึกถึงประโยคที่คนที่ชอบพูดว่า good good และเป็นชื่อที่มีความหมายดีด้วย”

สร้างแบรนด์ต้องติดตลาดสู่ความยั่งยืน

“good goods” วางแนวคิดของผลิตภัณฑ์แบรนด์ไทยสไตล์ร่วมสมัยทั้งหัตถศิลป์ แฟชั่น อาร์ต ของกิน ของใช้ พร้อมนำผลกำไรทั้งหมดกลับคืนสู่ชุมชน เพื่อร่วมพัฒนาชุมชนและรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป ในคอนเซปต์ Good Design for Good Deeds 

ธุรกิจร้าน good goods อยู่ภายใต้วิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนในชื่อ “เซ็นทรัล ทำ” เมื่อปี 2561 โลโก้แบรนด์ ออกแบบให้มีความเป็นไทย ภายใต้สัญลักษณ์ ช้าง รวงข้าว และ ปลาตะเพียน

 

พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล

“good goods เกิดขึ้นในช่วงโควิดที่ทุกคนหยุดทำการตลาด จึงอยากสร้างแบรนด์ในช่วงที่ไม่มีใครอยากทำ และมุ่งสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด การสร้างแบรนด์ให้ทุกคนรู้จัก แบรนด์ต้องมี ซิกเนเจอร์ ซึ่งช่วงแรกนำบล็อกเกอร์ชาวจีน เข้ามาช่วยนำเสนอสินค้าสู่ตลาดประเทศจีนด้วย”

แนวทางพัฒนาแบรนด์ ได้นำองค์ความรู้ค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลถ่ายทอดให้ชุมชน ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่ยั่งยืน และส่งเสริมการขยายตลาดผ่านการนำเสนอสินค้าไปในช่องทางต่างๆ  รวมทั้งร่วมพัฒนาสินค้ากับชุมชน มุ่งส่งเสริมศักยภาพคนพิการ พัฒนาทักษะการผลิตผ่านโครงการตะกร้าสานผู้พิการ ร่วมกับสมาคมรวมใจพิการ จ.อุดรธานี รับซื้อสินค้ามาจำหน่ายในร้าน good goods สนับสนุน น้องๆ ออทิสติก นำงานฝีมือ เช่น ภาพวาด มาทำเป็นลายเสื้อ ทั้งจะขยายความร่วมมือกับกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่เคยเข้าเรือนจำ ร่วมสร้างงาน สร้างรายได้

สินค้า good goods มี 6 กลุ่มหลักกว่า 1,000 รายการ ได้แก่ 1.โซนงานคราฟต์ต่างๆ ตะกร้า เครื่องสาน ตุ๊กตา โครเชต์ 2.โซนเสื้อผ้า เครื่องประดับ หมวก รองเท้า 3.โซนอาหารแห้ง ขนมและกาแฟ 4.มุมคาเฟ่ กาแฟชุมชน 5.สินค้าสปา และเครื่องหอม 6.โซนงานภาพพิมพ์ หนังสือ และงานภาพวาดต่างๆ จากศิลปินที่ร่วมกับกุ๊ดกุ๊ดส์ 

ตะกร้าสานพลาสติกโดยคนพิการ ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวจีนสูงมาก จนทำให้สินค้าขาดตลาดไปบางช่วง

สินค้ายอดนิยมของลูกค้าต่างชาติ เช่น ตะกร้าสานพลาสติก ชาร์มห้อยกระเป๋า กระเป๋าถักนิตติ้ง เสื้อยืด logo งานหัตถกรรม กระเป๋าผ้าขาวม้า  ส่วนกลุ่มคนไทย นิยมสินค้าหัตถกรรมที่หาที่อื่นไม่ได้ เช่น ตะกร้ากระจูด หรือกระเป๋ากกพันเกียว สินค้าที่ระลึก เช่น กระเป๋าซองซิป หรือกระเป๋ากกใบเล็ก

“เอกลักษณ์ของสินค้าแตกต่างจากสินค้าชุมชนทั่วไปด้วยดีไซน์ ผสมงานอาร์ต  ทั้งร่วมกับศิลปินออกแบบ มีความเท่และเจ๋ง”

นอกจากนี้ ร่วมมือกับแบรนด์ ISSUE สร้างสรรค์ผลงานที่ผลิตจากวัสดุท้องถิ่นที่เซ็นทรัลทำเข้าไปพัฒนา เช่น กกพันเกลียว จากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์จากกก ต.ทุ่งวัง จ.บุรีรัมย์ นำมาสานขึ้นรูปเป็นกระเป๋าถือประดับด้วยโครเชต์ที่มีลายดอกรักราชกัญญา

เปิดแฟลกชิปสโตร์พัทยา-ป๊อปอัปในห้างยุโรป

ธุรกิจ good goods มีรายได้และกำไรขยายตัวทุกปี โดยปี 2566 สร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาท ปัจจุบันเปิดสาขา 3 สาขา เซ็นทรัลเวิลด์ จริงใจมาร์เก็ต เชียงใหม่ และ เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า และได้เปิด สาขาย่อยในห้างเซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัล ป่าตอง ลูกค้าร้าน good goods เป็นคนไทย 20-30% ต่างชาติ 70-80% เป็นลูกค้าชาวจีนมากสุด ตามด้วย เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และยุโรป 

สำหรับในปี 2568 เตรียมเปิดแฟลกชิปสโตร์ที่พัทยา และ รูปแบบ ชอปอินชอป ที่จังซีลอน 

อีกทั้ง มีแผนนำสินค้าไทยขยายสาขาไปยังห้างในยุโรปของกลุ่มเซ็นทรัล จากปัจจุบันมี Mini Pop-Up อยู่ที่ ห้างเซลฟริดเจส ประเทศอังกฤษ เริ่มต้นจากสินค้ากลุ่มผ้าขาวม้า ที่ได้รับความสนใจสูง จึงสนใจต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป

 

นำ good goods สู่โกลบอลแบรนด์

ในอนาคตต้องการนำพาร้าน good goods ก้าวสู่ โกลบอลแบรนด์อีกด้วย "พลังของกลุ่มเซ็นทรัล ทีมงาน ชุมชนต่างๆ ผนึกกำลังนำพาสินค้าชุมชนไทยไปไกลอย่างแน่นอน ผมถูกปลูกฝังเสมอจากครอบครัวจิราธิวัฒน์ ว่าการทำธุรกิจต้องคิดถึงทุกคน วิน วิน ไปด้วยกัน ทุกการขับเคลื่อนของเซ็นทรัล ใช้แนวคิด centrality เป็นจุดศูนย์กลางของทุกชีวิตในชุมชนเพื่อคุณภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “พิชัย” ย้ำว่า การทำงานต้องรวดเร็วเสมอ ดังนั้น หากสินค้ากลุ่มไหนไม่ได้รับความสนใจก็ต้องปรับเปลี่ยน!

แต่การทำงานก็ต้องอย่าลืมคำว่า “work life balance” ภายใต้หมวกอีกใบของ “พิชัย” ได้แบ่งเวลาไปทำสิ่งที่ชื่นชอบทั้งค่ายเพลง SPICY DISC และออกกำลังกาย อีกกิจกรรมที่ชื่นชอบ คือ การไปสำรวจพื้นที่ค้าปลีกต่างๆ ทั้งในกลุ่มเซ็นทรัล และแบรนด์อื่นๆ เพื่อดูเทรนด์ เมื่อได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้การปรับเปลี่ยนต่างๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว

พิชัย จิราธิวัฒน์ นักธุรกิจสายเลือดศิลปิน บิ๊กบอสเซ็นทรัล และค่ายเพลง กับบริหารร้าน good goods และ โครงการ เซ็นทรัลทำ ก้าวเดินหน้าไปพร้อมใส่ส่วนผสมของ “ความยั่งยืน” ลงไปด้วย

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...