“หน้าที่ของผม คือทำลายสถิติคุณพ่อ” ท็อป-วสุพล ทายาทรุ่น 3 ‘เด็กสมบูรณ์’

77 ปี คือระยะเวลานับตั้งแต่วันแรก ที่ตระกูลตั้งสมบัติวิสิทธิ์ผลิตซีอิ๊วขาวขวดแรกจากวิชาความรู้การหมักซีอิ๊วที่หอบหิ้วติดตัวมาจากเมืองจีน แม้จะไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรกแต่ก็ไม่เคยลดละความพยายาม กระทั่ง ปี 2525 ตลาดเครื่องปรุงรสไทยก็มี บริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถือกำเนิดขึ้น ภายใต้การปักธงรบของ “วิเชียร ตั้งสมบัติวิสิทธิ์” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรพันล้าน “หยั่นหว่อหยุ่น” ที่มีรายได้และผลกำไรเติบโตขึ้นทุกปี

จากรุ่นแรกสู่การบริหารในอุ้งมือ “สมหวัง ตั้งสมบัติวิสิทธิ์” ทายาทรุ่นที่ 2 และกำลังถูกส่งต่อการบริหารบางส่วนให้กับ “วสุพล ตั้งสมบัติวิสิทธิ์” ทายาทรุ่นที่ 3 ลูกชายคนโตของสมหวัง ปัจจุบันอายุ 26 ปี แม้จะจบปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก (University of San Francisco) แต่ “วสุพล” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แท้จริงแล้วความฝันในวัยเด็กของเขา คือการเป็นนักร้อง และคนดูแลสวนสัตว์ หรือ Zoo Keeper 

กระทั่งต้องเข้ามาเรียนรู้ธุรกิจครอบครัวอย่างลึกซึ้ง ทำให้ “วสุพล” สนุก และความรักที่มีต่อแบรนด์ก็ค่อยๆ ก่อตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภารกิจสำคัญของทายาท Gen Z คนนี้ ไม่ใช่การดื่มด่ำความสำเร็จที่บรรพบุรุษสร้างไว้ เขายังต้องการทำให้เด็กสมบูรณ์เติบโตอย่างยั่งยืน เข้าไปทำความรู้จักกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจจะห่างไกลกับแบรนด์ด้วยโปรดักต์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่า เด็กสมบูรณ์จะทำได้

“ลองมาคิดดูว่า อะไรที่ชาตินี้เด็กสมบูรณ์จะไม่ทำเลย เราเลยลองทำออกมา” 

-“วสุพล ตั้งสมบัติวิสิทธิ์” ทายาทรุ่นที่ 3 อาณาจักรเด็กสมบูรณ์-

อยู่มาเกือบ 80 ปี ไม่อยากให้มีดีแค่ซีอิ๊ว “ไอศกรีม-ลูกอม-น้ำโซดา” ก็ทำได้

ที่ผ่านมาเด็กสมบูรณ์ถูกจดจำในฐานะ “คนเบื้องหลัง” มาโดยตลอด ทำให้วสุพลคิดไอเดียฉีกกรอบใหม่ๆ ด้วยการโยนคำถามลงไปในวงประชุมว่า อะไรบ้างที่คนอื่นไม่คิดว่า เด็กสมบูรณ์จะทำออกมา เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เราจึงเห็น “ไอศกรีมซีอิ๊วดำ” ซอฟต์เสิร์ฟสีขาวครีมเนื้อนวลออกมาทำความรู้จักกับผู้บริโภคในฐานะของหวานจากแบรนด์เด็กสมบูรณ์ ด้วยผลตอบรับในทางบวกที่เกิดขึ้น “วสุพล” จึงไม่รอช้า เปิดตัว “อิ๊วโซดา” ในปี 2566 และ “ลูกอมรสซีอิ๊ว” ในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

“วสุพล” มองว่า เด็กสมบูรณ์อยู่ในวงการอาหารมานานมาก ทำอย่างไรจะนำ “Core Product” อย่างเครื่องปรุงรสเข้าไปอยู่ในเซกเมนต์ขนมหวานล้อไปกับเทรนด์ที่กำลังเติบโตในปัจจุบัน เพื่อเจาะกลุ่มเข้าถึงผู้บริโภคอายุน้อย ทำให้แบรนด์มีความเป็นวัยรุ่นมากขึ้น

เขาระบุว่า สิ่งที่กลัวมากที่สุด คือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจที่อยู่มาเกือบ 80 ปี โตต่อไปในรุ่นตนเองได้อย่างยั่งยืน แบรนด์จะส่งต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของเมนูของหวานในรอบปีที่ผ่านมา

สำหรับ “อิ๊วโซดา” พบว่า กระแสตอบรับดีเกินคาด ลูกค้าบางคนได้นำสูตรไปทดลองผสมกินเองที่บ้านด้วย จนถึงตอนนี้ได้มีการพัฒนารูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ให้ออกมาหน้าตาคล้ายขวดซีอิ๊วขนาดจิ๋ว ส่วน “ลูกอมรสซีอิ๊ว” ก็เกิดจาก Pain Point เดียวกัน คือต้องการเข้าไปนั่งในใจคนรุ่นใหม่จนถึงเด็กตัวเล็กๆ

“วสุพล” พูดติดตลกว่า เราคงไม่นำซีอิ๊วขาวไปให้เด็กๆ ทดลองชิม แม้ว่าซอสปรุงรสเหล่านี้จะอยู่เบื้องหลังจานอร่อยแทบทุกบ้านก็ตาม ฉะนั้น โปรดักต์ที่จะสร้าง “Awareness” ให้เด็กๆ เกิดความผูกพันกับแบรนด์ได้ เหมือนที่ซีอิ๊วขาวเคยทำมา จึงมาลงเอยที่ “ลูกอม” ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์มากที่สุด

-ลูกอมซีอิ๊วเม็ด โปรดักต์ใหม่ล่าสุดในไลน์ขนมของเด็กสมบูรณ์-

“ซีอิ๊วเม็ด” ไม่ใช่ April’s Fool Day คิดทำจริง เจอแน่สิงหาคมปีนี้

ทายาทรุ่นที่ 3 บอกว่า โปรดักต์ใหม่ๆ ว้าวๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งต้นจากคอนเซปต์ไอเดียเป็นหลัก คิดก่อนแล้วค่อยนำไปพัฒนาต่อ “ซีอิ๊วเม็ด” ที่เกิดกระแสไวรัลช่วงปลายเดือนมีนาคมก็เช่นกัน แต่ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวที่เกิดขึ้น อาจทำให้หลายคนเข้าใจไปว่า เป็นคอนเทนต์ต้อนรับ “เอพริล ฟูลส์ เดย์” หรือไม่ “วสุพล” บอกว่า เป็นสินค้าที่มีการผลิตจริง และตอนนี้การพัฒนาสินค้าเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีแผนวางจำหน่ายพร้อมกันทั่วประเทศภายในเดือนสิงหาคมปีนี้

“เวลาออกสินค้าอะไรก็ตาม เราจะออกมาเป็นคอนเซปต์ไอเดียก่อน ยังไม่รู้หรอกว่า รสชาติเป็นอย่างไร แต่ผมรู้ว่า โปรดักต์นี้ต้องปัง ต้องเวิร์ก ออกมาเป็นประกาศบนโซเชียลมีเดียก่อนแล้วค่อยทำ กระบวนการคือมาถึงเราคิดก่อนเลยว่า อยากทำลูกอม แล้วค่อยไปถึงขั้นตอน R&D (Research & Development) ตัว “ซีอิ๊วเม็ด” เราก็โพสต์ไปก่อนแล้วมา R&D ทีหลัง เดือนสิงหาคม 2567 นี้เจอกัน ไม่ใช่เอพริล ฟูลส์ เดย์ เด็กสมบูรณ์ทำรับรองว่า ได้เห็นจริง”

นอกจากโปรดักต์ที่เล่ามา ยังมี “ชานุมไข่มุกซีอิ๊วดำ” ที่ออกขายตามอีเวนต์เป็นครั้งคราว ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็เพื่อปูทางต่อยอดไปสู่ธุรกิจร้านคาเฟ่ของหวานในอนาคต ตนมองว่า เด็กสมบูรณ์ควรมีจานพิเศษ หรือ “Signature Dish” ให้กับผู้บริโภคบ้าง หลังจากที่เป็นส่วนหนึ่งของจานอร่อยมาแล้วนับไม่ถ้วน

-“ซีอิ๊วเม็ด” อีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะวางขายในเดือนสิงหาคม 2567-

คำสอนป๊า “เก่งไม่กลัว กลัวคนขยัน” อยากเล่นเกม ต้องนับสต๊อกให้เสร็จ

ในพาร์ทชีวิตวัยเด็กของทายาทรุ่นที่ 3 คนนี้ เขาเรียนจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก เมื่อถามว่า ตั้งใจเรียนบริหารเพื่อกลับมารับช่วงกิจการหรือไม่ “วสุพล” บัณฑิตหมาดๆ อายุ 26 ปี บอกว่า หลังจบปริญญาโทใหม่ๆ ตนได้งานทำที่ “Salesforce” บริษัทผู้ให้บริการ CRM ระดับโลก ที่สหรัฐอเมริกา

แต่หลังจากนั้นไม่นาน “สมหวัง ตั้งสมบัติวิสิทธิ์” ผู้เป็นพ่อก็ชวนตนกลับมาทำงานที่หยั่นหว่อหยุ่นพร้อมเสนอเงินเดือนให้เหมือนกับพนักงานบริษัทคนหนึ่ง กระทั่ง “วสุพล” ยื่นเรทเงินเดือนที่ตนได้รับจากบริษัทในสหรัฐเพื่อเป็นการต่อรองกับพ่อ จนสุดท้ายก็ได้กลับมาประจำการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Assistant Executive Manager

“ตอนแรกเราเล่นตัวด้วย เพราะว่า พอจบปริญญาโทก็ได้งานทำที่สหรัฐ บริษัท Salesforce ซึ่งอยู่ข้างๆ บ้าน ตอนแรกคุณพ่อบอกว่า ถ้ากลับมาช่วยทำจะให้เงินเดือนเท่านี้ๆ ก็ต่อรองกับคุณพ่อจนคุณพ่อบอกว่า งั้นคุณไปสมัครงานก่อน แล้วดูสิว่า ในตลาดแรงงานเขาจะจ้างคุณกี่บาท แล้วค่อยเอาสลิปเงินเดือนมาบอกว่า ผมต้องจ้างคุณกี่บาท เราก็เอามาต่อรอง ไปสมัครงานก็ได้เรทเงินเดือนของสหรัฐมา เราก็มาทำ”

“วสุพล” เล่าว่า คุณพ่อให้เข้ามาเรียนรู้กิจการตั้งแต่เด็กๆ ทำทุกอย่างตั้งแต่นั่งไปกับรถขนส่งสินค้า นับสต๊อกสินค้า ในวัยเด็กช่วงมัธยมต้น “วสุพล” ก็มีความชอบเรื่องเกมและดนตรีเหมือนกับวัยรุ่นทั่วไป แต่สิ่งที่ต้องแลกมากับกิจกรรมเหล่านั้น คือการทำงานในโรงงาน นับสต๊อกสินค้าในคลังให้แล้วเสร็จ ยิ่งเสร็จเร็วก็ได้เล่นเกมเร็วขึ้น ทุกๆ ปิดเทอมใหญ่จะถูกส่งไปเรียนรู้งานในคลังสินค้าเป็นประจำ พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็ได้รับภารกิจเสมือนพนักงานขนส่งสินค้า ไปกับรถขนของ ทำหน้าที่เก็บเงินจากร้านค้า

“ผมไปตั้งแต่ร้านข้าวมันไก่ เก็บเงินจากร้านขายของชำ ยังจำได้เลยว่า แต่ละบาทที่ได้มาไม่ง่าย อย่างเช่นเวลาไปส่งสินค้าหนึ่งครั้ง บางเจ้าจ่ายผมมา 30,000 บาท จ่ายเป็นเหรียญบาทหมดเลย ผมนั่งนับกับพี่คนขับ แกะถุงนับกัน เพราะถ้าหายไปบาทเดียวผมก็ต้องจ่าย เราก็รู้สึกว่า ตั้งแต่เริ่มแรกระดับล่างสุด การปูพื้นฐานเป็นอย่างไร ทำให้เข้าใจธุรกิจค่อนข้างดี จริงๆ ผมไม่ได้เป็นคนที่เก่งอะไรขนาดนั้น แต่ผมเข้าใจธุรกิจนี้ได้ดีกว่าคนอื่นๆ เพราะผมได้เข้าไปเรียนรู้เร็ว

ความฝันในวัยเด็กของเขาไม่ใช่การเป็นทายาทรับช่วงบริหารกิจการ ทว่ามีอยู่สองอย่าง คือการเป็นนักร้อง และอาชีพคนเลี้ยงสัตว์ หรือ “Zoo Keeper” วสุพลเคยทำวงดนตรีประกวดร่วมกับเพื่อนๆ ในอดีต อีกทั้งตนเองก็เป็นคนรักสัตว์ด้วย จนท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเข้ามารันธุรกิจจากคำสอนของคุณพ่อ ยอมรับว่า ตอนแรกยังไม่ได้รู้สึกรักธุรกิจที่บ้านมากนัก แต่พอได้เข้ามาทำเต็มตัวก็ทำให้เกิดความผูกพัน และอยากต่อยอดอาณาจักรเด็กสมบูรณ์ เพื่อส่งต่อความมั่นคงไปถึงลูกถึงหลานในภายภาคหน้าด้วย

ส่วนคำสอนของ “ป๊า” ที่ลูกชายคนนี้จำได้ขึ้นใจ คือ “ไม่เคยกลัวคนเก่ง กลัวอย่างเดียวคือคนขยัน” ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นและถูกส่งต่อมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ วสุพลเล่าย้อนไปถึงซีอิ๊วขวดแรกที่คุณปู่นำไปฝากขายตั้งแต่ยังไม่มีชื่อยี่ห้อหรือโลโก้เด็กสมบูรณ์

วันนั้น “ปู่วิเชียร” โดนร้านขายของชำไล่กลับมาแต่ก็ไม่ละความพยายาม จนมีครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ครั้งที่สี่ สุดท้ายเถ้าแก่เปลี่ยนใจให้นำซีอิ๊วมาฝากขายได้ ทำให้ตนเชื่อว่า ความสำเร็จต้องมาพร้อมกับความขยัน พยายาม อดทน และทำมากกว่าคนอื่น

แม้จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ แต่วสุพลกลับไม่เชื่อในเรื่อง “Work-Life Balance” มองว่า ถ้าอยากเป็นเบอร์ 1 ต้องทำมากกว่าคนอื่นๆ ต้องรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของสิ่งที่กำลังทำ รวมถึงให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า วันแรกซีอิ๊วขาวรสชาติแบบไหน วันนี้ก็ยังต้องเป็นเช่นนั้น 

คำสอนทีม “T.O.P.” Teamwork-Ownership-Professionalism

นอกจากมรดกทางความคิดที่รับมาจากเจเนอเรชันก่อนหน้า “วสุพล” ยังสร้างวัฒนธรรมองค์กรเฉพาะตัวที่มีชื่อเรียกว่า “T.O.P.” ล้อไปกับคำว่า “ท็อป” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของตนเอง ย่อมาจากคำสามคำ คือ Teamwork, Ownership และ Professional

ตัวแรก คือ “Teamwork” วสุพล บอกว่า ทีมที่มาอยู่กับตนไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดหรือดีที่สุด แต่ขอให้มีสปิริต มีความเป็นทีมเวิร์ก ตนไม่เคยพูดกับทีมว่า เป็นหัวหน้าหรือเจ้านายใคร แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดปัญหาขึ้น เขามีหน้าที่แก้ปัญหาเหล่านั้นร่วมกัน ในทางกลับกันถ้าลูกทีมประสบความสำเร็จ ความสำเร็จนั้นก็เป็นของแต่ละคน

“ข้อที่สองที่ผมอยากให้ทุกคนมีคือ “O - Ownership” เด็กรุ่นใหม่หลายคนอาจจะมองว่า ทำงานไปก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม จริงๆ มันไม่ใช่ ทุกความสำเร็จ ทุกการเติบโตใน Career path ผมมองว่า “Ownership” คือสิ่งสำคัญ ถ้าจะทำอะไรให้ได้ดีก็ตาม คุณต้องรู้สึกว่า สิ่งนี้เป็นของคุณเอง

อันสุดท้าย คือ “P - Professionalism” หรือความเป็นมืออาชีพ ผมมองว่า Work-life Balance บนโลกนี้ไม่มีจริง สมมติลูกค้าโทรมาจะออเดอร์สินค้าวันเสาร์ ถ้าผมบอกว่า พอดีวันนี้เป็นวันหยุด รบกวนโทรมาใหม่วันจันทร์แบบนี้ได้หรือไม่ ก็ไม่ได้”

หน้าที่ของผม คือทำลายสถิติว่า “เราเจ๋งกว่าคุณพ่อ”

ปี 2567 เด็กสมบูรณ์ใต้ปีกทายาทรุ่นที่ 3 ยังมีอีกหลายโปรเจกต์ ตั้งแต่การปรับโฉมผ่านพรีเซนเตอร์ใหม่ครั้งแรก ลุยผลิตภัณฑ์น้ำปลา ลูกอมซีอิ๊ว ซีอิ๊วเม็ด ฯลฯ เราถามวสุพลต่อไปว่า ทุกครั้งที่ได้ไอเดียแปลกใหม่ได้มีการขอคำปรึกษากับคุณพ่อ หรือ “ป๊าสมหวัง” บ้างหรือไม่

เขาเล่าว่า คุณพ่อรู้พร้อมกับทุกคนบนโซเชียลมีเดีย ทุกครั้งจะเก็บเป็นความลับกับทีม ไม่มีใครรู้ เมื่อปิ๊งไอเดียก็โพสต์ลงบนเพจเฟซบุ๊กเลย จากนั้นก็คอยดูท่าทีของมหาชนว่า โปรดักต์นี้มีแนวโน้มเป็นอย่างไร หากฟีดแบ็กดีก็จะดำเนินการหลังบ้านเป็นขั้นตอนต่อไป

“เวลาคิดได้ไอเดียเราก็ลงโพสต์เพจไปเลย มีครั้งหนึ่งคุณพ่อก็บอก เฮ้ย ทำอะไร เขาโทรมาหาเต็มเลย เราก็ตอบไปว่า อันนี้เป็นคอนเซปต์ไอเดีย เราทำทุกอย่างให้ถูกต้องแหละ แต่เราต้องการโชว์คอนเซปต์ไอเดียไปก่อน เพื่อฟัง Social Listening ว่า เป็นอย่างไร ควรจะทำหรือไม่ ลูกค้าให้ฟีดแบ็กเป็นอย่างไรบ้าง” 

ส่วนเป้าหมายด้านยอดขายหรือการเติบโตในปีนี้ “วสุพล” ไม่ได้มีตัวเลขในใจอย่างชัดแจ้ง มีเพียงเป้าหมายกลมๆ จากสิ่งที่คุณพ่อเคยทำได้ดี หน้าที่ของตน คือทำให้ดีกว่า “Break the record” ให้ได้ทุกปี อยากทำลายสถิติว่า เราเจ๋งกว่าคุณพ่อ

ซึ่งในปีนี้โปรเจกต์สนุกๆ จากทีมการตลาดของวสุพลยังมีแผนหยิบจับโลโกเด็กสมบูรณ์มาต่อยอดในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งการปรับโลโก้ให้มีความเด็กลง นำไปจับกับแก้วน้ำ เสื้อผ้าแฟชั่น และเร็วๆ นี้ จะมีโมเดลอาร์ตทอยเด็กสมบูรณ์ออกมาด้วย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...