เปิดแผน 'เจ้าสัว' ระดมทุนไอพีโอ เร่งขยายโรงงาน ติดเครื่องบุกตลาดต่างประเทศ

จากจุดเริ่มต้น "ธุรกิจครอบครัว" สู่การเป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยวที่ทุกคนต่างคุ้นเคย สามารถอยู่คู่ตลาดในประเทศมาเป็นเวลากว่า 66 ปี สำหรับ บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ภายใต้แบรนด์ "เจ้าสัว" และแบรนด์ "โฮลซัม" (Wholesome)

สอดรับกับ "ตลาดขนมขบเคี้ยว" ของประเทศไทย มีมูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปี 2565 เจ้าสัวเป็นผู้นำอันดับหนึ่งใน "ตลาดข้าวตัง" โดยมี Market Share สูงถึง 78.5% ในปี 2565 และ "ตลาดขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อหมู" โดยมี Market Share 57.2% ในปี 2565 โดยที่ผ่านมาตลาดขยายตัวมาตลอด และประเมินว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง (อ้างอิงข้อมูลจาก Frost & Sullivan มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสำหรับปี 2565 - 2570 ที่ 14.6% สำหรับตลาดข้าวตัง และ 23% สำหรับตลาดขนมขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อหมู) ดังนั้นภารกิจสร้างการเติบโตครั้งใหม่จึงเริ่มต้น

สะท้อนผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 87.68 ล้านหุ้น คิดเป็น 29.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด มูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 1 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ แบ่งเป็น 1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 46.94 ล้านหุ้น และ 2.หุ้นสามัญเดิม จำนวนไม่เกิน 40.74 ล้านหุ้น โดยคาดจะเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ภายในปี 2567

ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัว กับภารกิจสำคัญครั้งใหม่ในการผลักดันให้บริษัทฯ "ติดนามสกุลมหาชน" ผ่านการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หากต้องการ "ต่อยอดธุรกิจ" ให้มีอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต แผนการระดมทุนจึงถือเป็นธงผืนใหญ่

สอดคล้องกับเงินระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อต้องการสร้างการเติบโต สะท้อนผ่านเงินระดมทุนเพื่อ "การขยายกำลังการผลิต" โดยการก่อสร้างโรงงานของบริษัทย่อย เพื่อใช้เป็นสถานที่ผลิตสินค้ากลุ่ม Non-pork ของกลุ่มบริษัทฯ (ปัจจุบันส่วนโรงงานที่ได้รับมาตรฐานฮาลาลของบริษัทฯ มีอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยเฉลี่ยกว่า 70% ทำให้ในบางช่วงเวลาเกิดข้อจำกัดในด้านกำลังการผลิต) ซึ่งโรงงานแห่งใหม่ดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 2,000 ตันต่อปี นอกเหนือจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนการขยายกำลังการผลิตผ่านการติดตั้งตู้อบสายพานและการพัฒนาระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 1,700 ตัน โดยจากเดิมกลุ่มบริษัทฯ มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 5,900 ตันต่อปี ในปี 2566



ดังนั้น คาดว่าในปี 2568 จะมีกำลังการผลิตโรงงานรวม 9,600 ตันต่อปี ซึ่งการขยายโรงงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการเติบโตในตลาดต่างประเทศเป็นหลัก รวมทั้งใช้เงินระดมทุนในการพัฒนาระบบอัตโนมัติและปรับปรุงระบบควบคุมคุณภาพ และใช้เป็น "เงินทุนหมุนเวียน" เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการ รวมถึงชำระคืนเงินกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน

ทว่าการนำบริษัทฯ เข้าตลาดหุ้น จะไม่ได้ประโยชน์เพียงแค่มีช่องทางการหาเงินทุนมากขึ้น แต่จะได้ประโยชน์เรื่องภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือเต็มๆ ซึ่งมาตรฐานของบริษัทฯ จะถูกยกระดับขึ้นทันที ที่สำคัญยังสามารถดึงดูดคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานด้วยแบบมืออาชีพ 

ปัจจุบัน กลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1.ขนมขบเคี้ยว (Snack) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าหลัก โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 มีสัดส่วนรายได้ระดับ 80.8% โดยบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดจนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อ "ตอบโจทย์" ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย ซึ่งนอกจากข้าวตังและหมูแท่งที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี กลุ่มบริษัทฯ ยังมีผลิตภัณฑ์หนังปลาและแครกเกอร์ธัญพืช ที่มีกระแสตอบรับอย่างดีจากลูกค้าในต่างประเทศอีกด้วย

2. ผลิตภัณฑ์อาหาร (Meal) ซึ่งประกอบด้วย อาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) เช่น กุนเชียง หมูยอ ไส้กรอกอีสาน และแหนม เป็นต้น และอาหารพร้อมทาน (Ready to Eat) เช่น หมูหยอง หมูสวรรค์ หมูนุ่มเส้น หมูเส้นฝอย และหมูทุบ เป็นต้น 

ด้วย "จุดแข็ง" สำคัญของเจ้าสัว คือการเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวไทยรูปแบบใหม่ (Modern Thai Snack) ที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย เช่น "ข้าวตัง" ซึ่งเป็น Product Champion ของบริษัทฯ ที่มี 5 รสมาตรฐาน และยังมีการเพิ่มรสชาติหมุนเวียนเพื่อสร้างความแปลกใหม่และความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค และการปรับรูปลักษณ์จากข้าวตังขนาดปกติ เป็น "ข้าวตังมินิ" ซึ่งมีขนาดเล็ก พอดีคำ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการบริโภค รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตและมีสูตรลับที่ยากจะลอกเลียนแบบ เป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก และมีความนิยมสูง และยังมีทีมผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอย่างยาวนาน 

ทั้งนี้ อีกหนึ่งจุดแข็งของเจ้าสัวคือด้านเครือข่าย "ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า" ที่หลากหลาย ด้วย 4 ช่องทางสำคัญ 1.ร้านค้าปลีกและค้าส่งสมัยใหม่ (Modern Trade) กว่า 24,000 สาขาทั่วประเทศไทย และในปัจจุบันยังได้มีการเริ่มวางจำหน่ายข้าวตัง 2 รสชาติใหม่ผ่านร้าน Amazon Café ทั่วประเทศอีกด้วย 2. ร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade) ประมาณ 10,000 สาขา 3. ช่องทางส่งออกไปยังต่างประเทศ กว่า 12 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย และเขตปกครองพิเศษฮ่องกงโดย 2 ประเทศหลัก ได้แก่ จีน และสหรัฐ

ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังมีสินค้าที่ส่งออกไปขายไม่กี่รายการเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปริมาณการบริโภคขนมขบเคี้ยวต่อหัวในต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา จีน และฮ่องกง ที่อัตราการบริโภคสูงกว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญ (อ้างอิงข้อมูลจาก Frost & Sullivan) รวมถึงเทรนด์การบริโภคที่เน้นการให้ความใส่ใจกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตสำหรับกลุ่มขนมขบเคี้ยวที่มีคุณค่าทางอาหาร รสชาติอร่อย และสะดวกในการบริโภค

ดังนั้นทิศทางที่บริษัทฯ จะขยาย ได้แก่ 1. ประเทศที่บริษัทฯ ได้เข้าไปเจาะตลาดแล้ว และยังขยายจำนวนสินค้าเข้าไปขายเพิ่มได้อีก และ 2. ขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศใหม่ๆ ที่กลุ่มบริษัทฯ มองเห็นถึงศักยภาพ เช่น ประเทศกลุ่มฮาลาล ที่กลุ่มบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ประเภท non-pork รองรับอยูแล้ว เช่น ข้าวตังหน้าปลาหยอง หนังปลา แครกเกอร์ธัญพืช ดังนั้นก็เป็นโอกาสที่จะเติบโตในตลาดต่างประเทศได้อีก "มหาศาล" และ 4. ช่องทางอื่นๆ เช่น Tiktok Shop, Shopee, Lazada และ Facebook Live เป็นต้น

สอดคล้องกับผลประกอบการ 3 ปีที่ผ่านมา (2564 - 2566) บริษัทฯ มี "กำไรสุทธิ" เติบโตต่อเนื่องอยู่ที่  64.4 ล้านบาท 86.6 ล้านบาท และ 161.6 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ "รายได้จากการขาย" อยู่ที่ 1,135.1 ล้านบาท 1,413.6 ล้านบาท และ 1,493.4 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตของรายได้จากการขายเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 14.7% 

สำหรับงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2567 กลุ่มบริษัทฯ มี "กำไรสุทธิ" อยู่ที่ 26.7 ล้านบาท และ "รายได้จากการขาย" อยู่ที่ 336.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.4% และ 4.1% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2566

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้นโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน (Sustainability Management Policy) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และนโยบายด้านสังคม โดยบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยการนำโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular Green Economy : BCG Economy) มาใช้ในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรผ่านการนำข้าวหอมมะลิมาแปรรูปเป็นข้าวตัง การใช้ลดปริมาณของเสียในกระบวนการการผลิตให้ได้มากที่สุด และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผ่าน Solar Cell เป็นต้น

"ณภัทร" กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมายระยะยาวเราวางแผนที่จะรักษาการเติบโต โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างผลิตภัณฑ์และรสชาติใหม่ แนวทางการนำเสนอใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างยั่งยืน 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...