จัดพอร์ตท่ามกลางความผันผวนของโลก

ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงมาก ทั้งทางด้านการเมืองที่ดิฉันเคยเขียนไปว่ามีการเลือกตั้งกว่า 70 ประเทศ ภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงรุนแรง เนื่องจากโลกกำลังจะเดือด และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีการหันกลับมาในแนวชาตินิยมเพิ่มขึ้น มุ่งหวังครอบครองและทวงคืนทรัพยากรมากขึ้น

การลงทุนก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนพอร์ตให้สอดรับกับสถานการณ์ และทุกปี ดิฉันก็จะนำพอร์ตของผู้ลงทุนกลุ่มอภิมหาเศรษฐี (Ultra-High Net Worth Individuals : UHNWIs) คือผู้มีความมั่งคั่งเกิน 30 ล้านเหรียญ หรือเกิน 1,100 ล้านบาทขึ้นไป จาก World Wealth Report 2024 ซึ่ง Capgemini มารายงานให้ท่านทราบ ปีนี้เพิ่งออกมาสดๆร้อนๆ พบว่าอภิมหาเศรษฐีหายกลัวกันแล้ว แต่ยังคงลงทุนอย่างระมัดระวังอยู่ค่ะ จากปี 2022 ซึ่งผู้ลงทุนขาดทุนทั้งการลงทุนในหุ้นทุนและตราสารหนี้ ปี 2023 อภิมหาเศรษฐีเหล่านี้จึงกลัวความเสี่ยง และถือเงินสด เงินฝากถึง 34% ซึ่งเป็นสัดส่วนการถือครองเงินสด เงินฝาก และสินทรัพย์ใกล้เคียงเงินสด ในระดับที่มากกว่าการถือครองในวิกฤตการณ์อื่นๆ ในระยะกว่า 20 ปีที่ผ่านมา คือ มากกว่า ปี 2002 ที่ฟองสบู่ดอทคอมแตก (มีเงินสดเป็นสัดส่วน 25%) และ ปี 2008 ที่เกิดวิกฤตการณ์ซับไพร์ม ในสหรัฐ (มีเงินสด 21%) 

ในต้นปี 2024 นี้ สัดส่วนการถือครองเงินสด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความกลัวของผู้ลงทุน ลดลงจาก 34% ในปี 2023 เหลือ 25% โดยโยกไปซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ เพิ่ม 5% (จาก 15% เป็น 20%) และกล้านำไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มอีก 4% คือจาก 15%ในปี 2023 เป็น 19% ในต้นปีนี้

ดิฉันเข้าใจเลยค่ะว่าทำไมไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่ม ดิฉันเคยให้สัมภาษณ์เหมือนกันว่า ในปีที่แล้วดิฉันนำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่ม เพราะเหตุผลหลักคือ “จับต้องได้” เวลาเกิดวิกฤติ ถึงราคาจะตก แต่ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือคอนโดมิเนียม ยังคงอยู่ มองเห็นอยู่ เข้าอาศัยอยู่ได้ แต่การลงทุนในหลักทรัพย์ เวลามูลค่าหายไป หากระยะเวลาการลงทุนของเราไม่ยาวข้ามจุดวิกฤติ เพื่อแก้ไขให้มูลค่าของพอร์ตกลับมา เงินลงทุนของเราจะหายไปจริงๆ ค่ะ

สำหรับหุ้นทุนนั้น อภิมหาเศรษฐีเหล่านี้ ลดการลงทุนลงอย่างต่อเนื่อง จาก ปี 2021 ที่ลงทุน 30% ของพอร์ต เหลือ 29% ในปี 2022 เหลือ 23%ในปี 2023 และเหลือ 21% ในปี 2024 หรือลดลงไป 2% โดยนำไปลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก หรือ Alternative Investment แทน (สินทรัพย์ทางเลือก เช่น โภคภัณฑ์ เงินตราต่างประเทศ หุ้นนอกตลาด เฮดจ์ฟันด์ ตราสารจัดโครงสร้าง และสินทรัพย์ดิจิทัล)

ส่วนของสินทรัพย์ทางเลือกที่ชอบคือ หุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาด (หุ้นนอกตลาด) หรือ Private Equity (เหมาะสำหรับผู้รับความเสี่ยงสูงได้เท่านั้น เพราะสภาพคล่องต่ำมาก และในการลงทุนต้องถือลงทุนยาวถึง 7-10 ปีค่ะ) ส่วนสาเหตุที่ย้ายจาก หุ้นในตลาดไปลงทุนในหุ้นนอกตลาดนั้น เพราะอภิมหาเศรษฐีเหล่านี้มองว่าราคาของหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดมีความผันผวนมากเกินไป นอกจากนี้ กองทุนบริหารความเสี่ยง หรือ เฮดจ์ฟันด์ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มหลักทรัพย์ที่ อภิมหาเศรษฐีให้ความสนใจเพิ่มขึ้น หลังจากที่พบกับปีที่ผลการดำเนินงานย่ำแย่ในปี 2022 และตั้งแต่เดือนมกราคม 2024 กลต.สหรัฐ อนุญาตให้ออกกองทุนรวมตลาดทุน ของเงินคริปโท(Crypto Exchange Traded Funds หรือ Crypto ETFs)ได้ ผู้ลงทุนที่เป็นอภิมหาเศรษฐีเหล่านี้ จึงอาจสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในเงินคริปโทเพิ่มขึ้นได้

ดิฉันไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเงินคริปโท แต่ถ้าให้ดิฉันแนะนำ ผู้ที่คิดจะลงทุนควรศึกษาให้แน่ชัดก่อนว่า เงินคริปโทนั้น นำไปแลกซื้ออะไรได้บ้าง เมื่อเงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ค่าของเงินก็จะอยู่ที่ความสามารถในการนำไปแลกเปลี่ยนอะไรได้บ้าง หากเป็นสิ่งที่คนอื่นๆเห็นคุณค่า เงินก็จะเป็นที่นิยม และจะมีค่าจริงๆ ซึ่งน่าสนใจ แต่หากคนอื่นที่อยู่นอกวงไม่เห็นคุณค่า เงินคริปโทนั้น ก็จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของคนในกลุ่มเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวดิฉันไม่สนใจลงทุน

หลังจากได้รับทราบการจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับปี 2024 ของอภิมหาเศรษฐีแล้ว ดิฉันอยากนำผลการวิจัยพฤติกรรมของผู้ลงทุนกลุ่มนี้มาเล่าด้วยค่ะ ข้อมูลจากงานวิจัยเล่มเดียวกัน เขาทำการสอบถามเพื่อจะดูว่า อภิมหาเศรษฐีเหล่านี้ มีความลำเอียงหรือไม่เป็นกลางในการตัดสินใจลงทุนบ้างไหม และพบผลที่น่าสนใจมากคือ มีพฤติกรรมลำเอียง 6 อย่างที่อภิมหาเศรษฐี เป็นกันมากดังนี้

1. หาข้อมูลจากแหล่งที่มีมุมมองคล้ายตัวเอง มีถึง 65% ตอบว่าใช่ และ 28% ตอบว่า “อาจจะเป็นได้” ในขณะที่มีเพียง 6% เท่านั้นที่ตอบว่า “ไม่ใช่”  

2. เปิดรับโอกาส (ลงทุน) โดยไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ระมัดระวัง ตอบว่าใช่ 47% ตอบว่า “อาจจะเป็นได้” 39% และตอบว่า ไม่ใช่ 14%

3. ถือหลักทรัพย์/สินทรัพย์ที่ไม่ perform ยาวเกินไป (หมายถึงไม่ยอมตัดขายขาดทุน) ตอบว่าใช่ 45% “อาจจะเป็นได้” 42% และตอบว่า “ไม่ใช่” 13% (จากประสบการณ์ของดิฉัน กลุ่มผู้ลงทุนที่มีเงินลงทุนไม่จำกัด จะเป็นแบบข้อนี้กันเยอะมาก เนื่องจากมองว่ารอได้ แต่บางที รออย่างไรก็ไม่กลับมาดีค่ะ กลุ่มที่มีเงินลงทุนจำกัด จะทำได้ดีกว่า เนื่องจากต้องตัดสินใจว่าจะเอาเงินจากตรงไหนไปลงทุนในสิ่งใหม่ที่ให้โอกาสดีกว่า จึงเป็นข้อดีที่จะเลือกตัดสิ่งที่ดีน้อยที่สุดออกไป)

4. อนุรักษนิยมเกินไปในการฉกฉวยโอกาสที่อาจมี (กลัวความเสี่ยงมากจนเกินไป) มีผู้ตอบว่า “ใช่” 45% “อาจจะเป็นได้” 41% และตอบว่า “ไม่ใช่” 16%

5. ยึดติดกับการตัดสินใจในอดีต โดยไม่พิจารณาประเมินใหม่ มีผู้ตอบว่า “ใช่” 45% “อาจจะเป็นได้” 42% และ “ไม่ใช่” 15%

6. ลงทุนตามการคาดการณ์ทำนายของตนเอง (มั่นใจในตัวเองเกินไป) มีผู้ตอบว่า “ใช่” 37% “อาจจะเป็นได้” 47% และ “ไม่ใช่” 16%

รับทราบอย่างนี้แล้ว คงสบายใจเพิ่มขึ้นนะคะ ว่าพฤติกรรมพวกนี้ เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับกลุ่มผู้ลงทุนที่มีพอร์ตใหญ่ และเราก็ต้องเรียนรู้เพื่อนำมาปรับปรุงพฤติกรรมการลงทุนของตัวเอง เพื่อให้สามารถทำผลตอบแทน บรรลุเป้าหมายการลงทุนของเราให้ดียิ่งขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม เพราะต้องอย่าลืมว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง”

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...