เปิดวาระ 'เกมสภาฯ'  เร่งอุณหภูมิ 'การเมือง'

รัฐสภา ในสัปดาห์หน้า มีการประชุม สมัยวิสามัญ ที่ต้องจับตา เพราะมี “วาระ” ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของ “การเมือง”

โดย วันที่ 18 - 21 มิ.ย. “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาฯ นัดประชุม สส. เพื่อพิจารณาใน 2 วาระสำคัญคือ

วาระรับหลักการ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 ที่ปูทางไปสู่ “การได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยขณะนี้ มีร่างกฎหมาย 4 ฉบับที่รอการพิจารณา คือ ฉบับของ ครม. ฉบับของพรรคเพื่อไทย ฉบับของพรรคก้าวไกล และ ฉบับของพรรคภูมิใจไทย

ขณะนี้ มีความลงตัวแล้วในระหว่าง 2พรรคใหญ่ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ที่เจรจานอกรอบ กลั่นเป็นเนื้อหาที่ “ครม.” เสนอให้สภาฯ พิจารณา

ทว่ามีเรื่องต้องจับตา คือ “ร่างแทรก ของ พรรคภูมิใจไทย” เสนอโดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งคงเนื้อหาที่ถูกมองว่าเป็น “ด่านหิน” ที่อาจขวางการปูทางไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยประชาชนได้ 

ทั้งนี้อย่าลืมว่า ในบรรดา 4 ร่างที่เสนอต่อสภาฯ ฉบับของ “ภูมิใจไทย” เหมือนเป็นตัวแทน “ฝั่งอนุรักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่มีบทบาทยื้อการรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากมีข้อเสนอต่อการ แก้ไขประเด็นเกณฑ์การผ่านประชามติ ที่คง “2ด่าน” สำคัญ ไว้ คือ “ด่านผู้มาใช้สิทธิต้องได้จำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง" และ “ด่านเห็นชอบประชามติที่ต้องได้เสียงข้างมาก และสูงกว่าคะแนน โหวตโน”

ในชั้นรับหลักการ วันที่ 18 มิ.ย. นั้นอาจไม่มีอะไรหวือหวามากนัก เพราะ 2ฝ่ายที่กุมเสียงข้างมากของสภาฯ เห็นตรงกัน ทว่าต้องจับตาให้ดีในชั้นกรรมาธิการและวาระต่อๆ ไป

และ 2. ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.7 ล้านล้านบาท  กำหนดให้อภิปราย 3 วัน 3 คืน ตั้งแต่ 19 - 21 มิ.ย. เพื่อให้ “ฝ่ายค้าน” อภิปรายท้วงติงเต็มที่ ขณะที่ “ฝ่ายรัฐบาล” มีสิทธิอภิปรายกันเต็มที่เช่นกัน

โดยขณะนี้ถูกจับตาว่า จะมีเกมซ่อนแอบ “ล้มงบประมาณ” เพื่อ “ล่มรัฐบาล” หรือไม่ ทว่าในกระแสของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีใคร ที่อยากสนามเลือกตั้งเปิดตอนนี้ เนื่องจากไม่อยวัดพลังกับ “คนเบื้องหลังพรรคเพื่อไทย” ที่ประกาศกวาดคืน สส.ในหลายพื้นที่

ทั้งนี้ต้องจับตาวาระอภิปรายในรายละเอียดของการของบ ตามที่ “พรรครัฐบาล” หาเสียงไว้ เช่น แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หมื่นบาท ซอฟท์พาวเวอร์ รวมไปถึงงบกองทัพ 

ขณะที่ฝั่งวุฒิสภา  “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา นัดประชุม 18 - 21 มิ.ย. เช่นกัน เพื่อพิจารณาตามวาระงานของวุฒิสภา ทว่ามี 3 วาระสำคัญต้องจับตา คือ 

เห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด  จับตาว่าจะเป็น การทำหน้าที่ครั้งสุดท้ายของ “สว.” ปัจจุบันที่จะลงมติเห็นชอบบุคคลในองค์กรยุติธรรมหรือไม่

ต่อด้วย การพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่... ) พ.ศ.. หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่ “กรรมาธิการวิสามัญ” พิจารณาแล้วเสร็จ ในสาระไม่มีการแก้ไข โดยยืนเนื้อหาที่ “สภาฯ” เห็นชอบ เพียงแต่มี 2 สว.ที่ขอแปรญัตติในถ้อยคำเท่านั้น

และ การพิจารณาร่างพ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในส่วนของ “ภาครัฐ” ที่ต้องจับตา เพราะ “กมธ.วิสามัญ” มีการแก้ไขเนื้อหาใน 3 สาระสำคัญ คือ

กรณีการไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา ที่กำหนดให้ใช้เวลาดำเนินการภายใน 60 วัน ไม่เกิน 2 ปี และขยายได้ไม่เกิน 3 ปี  “กมธ.วุฒิสภา” กำหนดว่า เมื่อเลยระยะเวลาที่กำหนด ให้ “ป.ป.ท. สอบสวนและลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำโดยจงใจ ละเลย หรือ ประมาทเลินเล่อ โดยเร็ว” 

กรณีการลงโทษวินัย ขยายเวลาให้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ภาย 90 วันจากเดิมกำหนดให้ภายใน 30 วัน และให้เริ่มนับระยะดังกล่าว ในวันที่รับทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัย

และ พบการปรับแก้เนื้อหา กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นบุคคลในอำนาจศาลทหาร ให้กลับไปใช้กระบวนการของศาลทหาร แทนที่ “อัยการสูงสุด” ตามร่างที่สภาเห็นชอบ

การประชุมของทั้ง 2 สภาฯ ในสัปดาห์หน้านั้น เป็นการประชุมสมัยวิสามัญ เพราะมีความจำเป็นที่ “รัฐบาล” ต้องการนำร่างกฎหมายงบประมาณเข้าสภาฯ เพื่อให้ทันรอบ

ส่วนการประชุมสมัยสามัญนั้น จะเริ่มขึ้นในวันที่ 3 ก.ค. และสิ้นสุด 30 ต.ค.67  แน่นอนว่า “จะเห็นของจริง” ในช่วงนี้แน่นอน

เพราะเมื่อเปิดประชุมสมัยสามัญ “ฝ่ายค้าน” ถือว่ามีอำนาจเต็มในการตรวจสอบ “รัฐบาล” โดยมีวาระที่ต้องจับตาอีกเช่นกัน  อาทิ ความคืบหน้าการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ผ่านรายงานของ “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม”  ที่แม้จะมีพิมพ์เขียว คือ นิรโทษกรรมคดีการเมือง และล้างมลทินคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยอัตโนมัติ ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และตั้งองค์กรใหม่ เพื่อทำหน้าที่ “แทนสภาฯ” ในการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 และคดีความมั่นคงที่ละเอียดอ่อน

ซึ่ง “กมธ.นิรโทษกรรม” เตรียมเสนอต่อสภาฯ ในช่วงต้นเดือน ก.ค. นี้เพื่อให้ “สภาฯ” ได้ถกเถียงและนำไปสู่การตรากฎหมาย ที่ขณะนี้รอเพียงการยื่นร่างนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องปรับให้สอดรับกับรายงาน และความเห็นของสภาฯ

ต่อจากนั้น คือ การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ ในวาระสองและวาระสาม ที่คาดว่าจะ ส่งให้สภาฯ พิจารณาวาระสองสาม ได้ช่วง กลางเดือนส.ค. ต้องจับตาว่า จะปลดล็อค “อุปสรรค” การแก้รัฐธรรมนูญได้มากน้อยแค่ไหน  แม้ว่า ฉากหน้าของเสียงข้างมาก ต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามที่หาเสียง แต่เบื้องหลังอาจซ่อนแทกติกที่หวังยืดเวลาให้ “รัฐบาล-เพื่อไทย” 

ขณะเดียวกันช่วง กลางเดือนก.ค. 67 มีวาระพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระแรก โดยตามกฎหมายกำหนดให้สภาฯ พิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน

ทว่าด้วยปัจจัยความจำเป็น “รัฐสภา” จะติดสปีดการพิจารณา หลังตั้งกมธ. แล้วจะพิจารณาและส่งคืนให้ ที่ประชุมสภาฯพิจารณาวาระสองและวาระสาม ต้นเดือนส.ค. จากนั้นจะส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณา ให้เสร็จภายในเวลา 20 วันก่อนส่งร่างกฎหมายตามขั้นตอนประกาศใช้

ส่วนในเดือน ก.ย. ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน สภาฯ จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ68 วาระสองและวาระสาม ก่อนส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาต่อช่วงปลายเดือน ก.ย. 

ขณะที่ในการประชุม “รัฐสภา” ยังคงต้องจับตาวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ “พรรคก้าวไกล” วางเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรายมาตรา  ซึ่ง “พริษฐ์ วัชรสินธุ” โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุผ่านเวทีพระปกเกล้าว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนยกร่าง ช้าเกินจำเป็น เตรียมเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา เพื่ออัพเกรดให้ดีกว่าปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังต้องจับตา การเปิดเวทีซักฟอกของ “ฝ่ายค้าน” ว่าจะใช้โอกาสนี้หรือไม่ ทว่าเรื่องนี้ ตอนนี้ยังไม่ชัด เพราะ “ก้าวไกล” ยังรอลุ้น การต่อสู้คดียุบพรรค

และนี่คือ บางส่วนของเกมการเมืองในสภาฯ ที่ต้องจับตาหลังจากนี้.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

รวมพลังดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ในงาน GC Sustainable Living Symposium 2024  

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดงาน GC Sustainable Living Symposium 2024: GEN ...

GC ดีเดย์! ขายเชื้อเพลิง SAF ม.ค.68 กำลังผลิตเบื้องต้น 5 แสนลิตรต่อวัน

นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ ...

มติสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ พัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภ...

อุปกรณ์ล่าไก่! รู้จัก 'realme 13 Series' มือถือสำหรับแฟนเกม PUBG MOBILE

ปังไม่หยุด! ล่าสุด realme เปิดตัว realme 13 Series สมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุดจากตระกูล Number Series ในประเ...