ขุมทรัพย์การลงทุนจากเพชรน้ำงามในยุโรป

ถ้าพูดถึงหุ้นยุโรป เชื่อว่าคงเป็นม้านอกสายตาสำหรับนักลงทุนบางกลุ่ม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภายในภูมิภาคที่มีมาตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2016 สหภาพอังกฤษมีการลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) จนก่อให้เกิดกระแสการออกจากยูโรโซนในหลายประเทศ อีกทั้งยังมีประเด็นทางการเมืองในแต่ละประเทศ นอกจากนั้นในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปยังเติบโตได้ไม่โดดเด่นเท่าสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งกดดันจากภาคยานยนต์ที่ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของภูมิภาค ที่กำลังสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ท่ามกลางกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่มาแรง

แต่ในปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีกว่าที่คาดไว้ โดยได้หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เห็นได้จากตัวเลข Composite PMI ในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมาที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นสูงกว่า 50 จุดได้แล้ว บ่งชี้ถึงแนวโน้มที่ขยายตัว ส่วนหนึ่งได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัว ที่สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าแบรนด์เนมหรู นอกจากนั้นวิกฤตพลังงานที่เคยผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้คลี่คลายลงสู่ภาวะปกติตั้งแต่ปีที่แล้ว และความขัดแย้งในตะวันออกกลางไม่ได้รุนแรงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันไม่ได้พุ่งสูงขึ้น จึงมองเป็นโอกาสเข้าลงทุนในหุ้นยุโรป โดยเน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ในระยะกลาง-ยาว จากปัจจัยหนุนดังนี้

จุดเด่นข้อแรก แน่นอนว่าเป็นเรื่องนโยบายการเงินที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี ในการประชุมเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ดอกเบี้ยนโยบาย (ECB Deposit Facility Interest Rate) ลงมาสู่ระดับ 3.75% ถือเป็นจุดเริ่มต้นการผ่อนคลายนโยบายการเงินในยุโรป และคาดว่า ECB มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง หรือ 0.50% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แตกต่างจากฝั่งสหรัฐฯ ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยช้าและน้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยอ้างอิงจาก FED Dot Plot ในการประชุมวันที่ 11-12 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการ FED ประเมินว่าจะลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ในเดือนมีนาคมที่ 3 ครั้ง เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะภาคการจ้างงาน และเงินเฟ้อยังไม่ปรับลงสู่ระดับเป้าหมายของ FED ทำให้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบลดดอกเบี้ย

ดอกเบี้ยในยุโรปที่ลดลงย่อมหมายถึงต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง โดยคาดว่าหุ้นขนาดเล็กในยุโรปจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ปรับลดลงมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ เนื่องจากกู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยหนุนผลกำไรของบริษัท และหนุนให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นได้ โดยจากข้อมูลในอดีต พบว่าหุ้นขนาดเล็กมักให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ในช่วง 12 เดือนหลังจากที่ ECB ลดดอกเบี้ยครั้งแรก

ผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนยังคงเติบโตได้ดี โดยรายได้และกำไรสุทธิของบริษัทขนาดกลาง-เล็กมักเติบโตได้สูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ในระยะยาว และเติบโตของเศรษฐกิจภายในภูมิภาคจะส่งผลดีต่อกลุ่มนี้มากกว่า ด้าน Valuation หรือมูลค่าหุ้นอยู่ในเกณฑ์ถูกในหลายมิติ ทั้งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต เมื่อเทียบกับหุ้นยุโรปขนาดใหญ่ และถูกกว่าหุ้นสหรัฐฯ ขนาดเล็ก อีกหนึ่งปัจจัยบวกพิเศษในปีนี้ก็คือการจัดมหกรรมโอลิมปิกในฝรั่งเศส (Paris Olympic) ซึ่งแน่นอนว่าจะหนุนภาคการท่องเที่ยว และการบริโภค โดยทางการฝรั่งเศสคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าชมกีฬาราว 1.85 ล้านคน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 1.1 หมื่นล้านยูโร

จากปัจจัยหนุนที่ระบุข้างต้น จึงประเมินว่าหุ้นยุโรปขนาดเล็กจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนนอกเหนือจากหุ้นสหรัฐฯ ทั้งนี้การเฟ้นหาหุ้นยุโรปขนาดเล็กอาจจะไม่ง่ายนัก เพราะ หุ้นขนาดเล็กจะมีนักวิเคราะห์ติดตามน้อยกว่าหุ้นใหญ่ ทำให้หาข้อมูลเชิงลึกได้ยากกว่า และหุ้นที่ผลดำเนินงานโดดเด่นมักจะกระจุกตัวอยู่ในหุ้นไม่กี่บริษัท ดังนั้นจึงควรลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญคอยเลือกเฟ้นหุ้นคุณภาพดี ศักยภาพการเติบโตสูง และล้อไปกับกระแสหลักของภูมิภาคยุโรป เช่น กระแสดิจิตอลและเทคโนโลยี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนความยั่งยืน และการปรับปรุงประสิทธิภาพของบริษัทและอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...