ปลุกEEC ดึงลงทุน 2.1 แสนล้าน ขยายเมืองใหม่ ตั้ง นิคมสีเขียว – สปอร์ตคอมเพล็กซ์

การดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศถือเป็นนโยบายและเป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันระยะยาวให้กับประเทศไทย โดยที่ผ่านมาตัวเลขการลงทุนทางตรง (FDI) ที่เข้ามาในประเทศไทยในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมายังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม อินโดนิเซีย และมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลกำลังหาแนวทางที่จะเร่งรัดการลงทุนเพิ่มตัวเลข FDI ในประเทศไทย

ล่าสุดรัฐบาลได้ขับเคลื่อนการลงทุนผ่านโครงการสำคัญภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีโครงการรอลงทุนจำนวนมากในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบความคืบหน้าเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในพื้นที่อีอีซีทั้ง 4 โครงการสำคัญที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2571 – 2572

รัฐบาลยังเตรียมที่จะออกประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... ที่จะเพิ่มอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)มีอำนาจในการเจรจากับนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการกำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อดึง FDI เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

จ่อออกประกาศส่งเสริมลงทุนของอีอีซี

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าปัจจุบันครม.ได้เห็นชอบในหลักการให้ “อีอีซี” จัดทำสิทธิประโยชน์เจรจากับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีเป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ของอีอีซีที่มีอยู่ โดยในขั้นตอนต่อไปเมื่อ ครม.เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ...และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมายนักลงทุนต่างชาติก็จะสามารถมาขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานอีอีซีได้โดยตรง โดยคาดว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้ ครม.จะอนุมัติการออกประกาศฉบับนี้จากนั้น สกพอ.จะตั้งคณะกรรมการเจรจากับนักลงทุนขึ้นมา

โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการจะมีเลขาธิการอีอีซีเป็นประธานมีผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน โดยในองค์ประกอบจะมีกรรมการที่หมุนเวียนเข้ามาตามความเชี่ยวชาญและความสามารถของกรรมการที่จะต้องเข้ามาเจรจากับบริษัทเอกชนโดยจะเริ่มต้นเจรจาได้ในเดือน ก.ค.นี้

 

เจรจาเอกชน 30 ราย 2.1 แสนล้าน 

ทั้งนี้ปัจจุบันมีภาคเอกชนที่เข้ามาหารือกับ สกพอ.และรอที่จะใช้สิทธิประโยชน์ตามประกาศสิทธิประโยชน์ฉบับใหม่อยู่ 30 ราย วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.1 แสนล้านบาท ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ กพอ.มีนโยบายในการการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ และสุขภาพ อุตสาหกรรมบริหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และยานยนต์สมัยใหม่  และอุตสาหกรรมบีซีจี ซึ่งนอกจากการลงทุนที่รอการเจรจานี้อีอีซียังตั้งเป้าหมายที่ดึงการลงทุนเข้ามาในอีอีซีเข้ามาได้ปีละ 1 แสนล้านบาทต่อเนื่อง 5 ปี (2567 - 2571) โดยโครงการส่วนนี้ไม่รวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และจะวัดจากมูลค่าการลงทุนจริงของภาคเอกชน

“อีอีซียังเป็นโครงการและพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศอย่างมาก มีทั้งการที่ติดต่อผ่านสถานทูตต่างประเทศ การติดต่อจากสถาบันการเงิน และการที่นักลงทุนเข้ามาติดต่อที่อีอีซีโดยตรง ปัจจุบันมีนักลงทุนที่รอการลงทุนโดยจะขอการส่งเสริมการลงทุนจากอีอีซีอยู่ประมาณ 30 ราย วงเงินลงทุนรวมกัน 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งกว่าครึ่งหรือกว่า 1 แสนล้านบาทเป็นโครงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ซึ่งการลงทุนในส่วนนี้ถือว่าเป็นไปตามเทรนด์โลกที่นักลงทุนมีการลงทุนเพื่อเตรียมรับการผลิตที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องกรีน เช่น ไฟฟ้าสะอาด โรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่รถEV  ดาต้าเซนเตอร์ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ดิจิทัล ดาต้าเซนเตอร์ ที่ต้องการไฟฟ้าสะอาดทั้งสิ้น” นายจุฬา กล่าว

เลขาธิการอีอีซียังกล่าวด้วยว่าข้อดีของการส่งเสริมการลงทุนที่อีอีซีเป็นผู้เจรจากับนักลงทุนโดยตรงคือข้อได้เปรียบทางด้านกฎหมาย และการขออนุญาตซึ่ง ตาม พ.ร.บ.ของอีอีซีนั้นดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในพื้นที่ 14 ฉบับ เมื่อมีการเจรจาแล้วเสร็จแล้วนักลงทุนจะเริ่มก่อสร้างอีอีซีสามารถที่จะอนุมัติอนุญาติได้ทันที เช่น ในเรื่องการขออนุญาตก่อสร้าง การขออนุญาตใช้น้ำ-ไฟ เป็นต้น ซึ่งทำให้การลงทุนสามารถทำได้รวดเร็ว ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยเสริมให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนได้รวดเร็ว ซึ่งในส่วนนี้เราคุยกับนักลงทุนตั้งแต่แรกโดยการเจรจาแต่ละรายนั้นนักลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน ขึ้นกับการเจรจา

เน้นโครงการที่ลงทุนจริง

ซึ่งเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่คณะกรรมการจะต้องพิจารณาคือโครงการที่จะเข้ามาสามารถลงทุนได้จริงเมื่อไหร่ซึ่งส่งผลต่อเรื่องของสิทธิประโยชน์ที่จะให้ด้วย เช่น กิจการที่จะเข้ามานักลงทุนได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด 8 ปี  แต่ในการเจรจาเราอาจยื่นเงื่อนไขว่าหากมีการลงทุนทันทีในปีนี้ 30 – 40 % ของมูลค่าโครงการ เราอาจจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 – 2 ปี ซึ่งในส่วนนี้จะเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจได้ในทันที

นอกจากนั้นในการเจรจาสิทธิประโยชน์กับนักลงทุนนอกจากจะพิจารณาถึงขนาดของการลงทุนยังดูถึงความสำคัญในด้านอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีที่จะเข้ามาลงทุน การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่จะดึงการลงทุนที่เกี่ยวข้อง การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้วัตถุดิบ และวัสดุในประเทศ (Local Content) ซึ่งต้องมีการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆที่มีการหารือกับภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ด้วย

“การที่จะเน้นให้เกิดการลงทุนจริงเพื่อให้ FDI ของไทยเพิ่มขึ้นการเจรจากับภาคเอกชนเป็นเรื่องสำคัญ ต้องคุยกันให้ชัดว่าถ้าคุณลงทุนได้ทันทีเลย เราให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้”นายจุฬา กล่าว

มองปี 68 การก่อสร้างในภาคตะวันออกคึกคัก

นายจุฬา กล่าวด้วยว่าในปี 2568 การลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะมีความคึกคักขึ้น นอกจากการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานก็จะมีหลายโครงการที่เริ่มเดินหน้าก่อสร้างได้ในช่วงต้นปีหน้า ตามที่บอร์ด กพอ.ได้รับทราบข้อมูลความคืบหน้าในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของอีอีซีซึ่งภายหลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัทเอเชีย เอราวัณ ได้มีการหารือเรื่องของการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง - อูตะเภา) แล้วจะมีการลงนามในสัญญาร่วมกันภายในปี 2567 และจะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 2568

ขณะที่ภายในสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะเริ่มมีการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2567 ในโครงการรันเวย์ที่ 2 วงเงิน 6 พันล้านบาท ซึ่งโครงการนี้รับผิดชอบโดยทหารเรือจะเป็นเจ้าของโครงการ ขณะเดียวกันบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด จะเริ่มโครงการก่อสร้างเทอร์มินัลใหม่สนามบินอู่ตะเภาซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในพื้นที่ภาคตะวันออกมีความคึกคักมากขึ้นซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

เพิ่มพื้นที่เมืองใหม่เป็น 1.4 หมื่นไร่ 

สำหรับความคืบหน้าโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะซึ่งถือเป็นโครงการสำคัญอีกโครงการหนึ่งในพื้นที่อีอีซีซึ่งจะรองรับการขยายตัวของเมืองในพื้นที่อีอีซีซึ่งคาดว่าจะมีประชากรเข้ามาอาศัยในพื้นที่ประมาณ 3 แสนคนในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งภายหลังจากที่มีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จ รวมทั้งมีการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มขึ้นประชากรและแรงงานในพื้นที่ก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยล่าสุดมีการขยายพื้นที่เมืองใหม่อีอีซีจากเดิมพื้นที่ประมาณ 5,700 ไร่ เพิ่มเป็น 14,000 ไร่ เพื่อรองรับอีก 2 โครงการสำคัญที่จะเข้ามาอยู่ในเมืองใหม่อีอีซี ได้แก่โครงการนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว (กรีนอินดัสทรี) ในพื้นที่ 5,000 ไร่ โดยโครงการในส่วนนี้สำนักงานอีอีซีได้มีการหารือกับการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แล้วโดยการลงทุนนี้จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (PPP) เพื่อพัฒนาโครวงการดังกล่าวซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว และโครงการบีซีจีที่มีความต้องการลงทุนในอีอีซีจำนวนมาก

ตั้งสปอร์ตคอมเพล็กซ์ 1.5 พันไร่ 

อีกส่วนคือการเปิดให้มีการลงทุนโครงการก่อสร้าง  ‘สปอร์ต คอมเพล็กซ์’ ซึ่งมีสนามกีฬาขนาดใหญ่ ขนาดความจุประมาณ 80,000 ที่นั่ง บนพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ โดยโครงการนี้อีอีซีจะร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดยสนามกีฬาขนาดใหญ่ในปัจจุบันถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเมืองขนาดใหญ่ซึ่งสนามกีฬาขนาดใหญ่นั้นจะรองรับทั้งมหกรรมกีฬา รวมทั้งคอนเสิร์ต รวมทั้งปัจจุบันมีกีฬาในรูปแบบที่หลากหลายรวมไปถึงอีสปอร์ตที่ทั่วโลกให้ความสนใจมาก โดยโครงการนี้ กกท.จะเปิด PPP ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเช่นกัน ซึ่งในอนาคตการจัดมหกรรมกีฬาหรืออีเวนต์ขนาดใหญ่ในพื้นที่นี้การเดินทางจะสะดวกสบายมากขึ้นเนื่องจากมีสถานีรถไฟความเร็วสูงที่สามารถเดินทางมาจาก กทม.ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น

อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการเปิดให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของโครงการเมืองใหญ่ฯอีอีซี จะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการ เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โรงพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอื่นๆ ซึ่งสำนักงานอีอีซีจะมีการเปิด PPP โครงการนี้กับภาคเอกชนประมาณ 20 โครงการ  โดยจะมีการประกาศความชัดเจนของโครงการในเร็วๆนี้

“การดึงการลงทุนในขณะนี้ต้องวางแผนที่จะรับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การลงทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นและแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งนักลงทุนนั้นพร้อมที่จะนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุน ซึ่งในพื้นที่อีอีซีมีความพร้อมทั้งในเรื่องของสิทธิประโยชน์ ข้อกฎหมาย และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลงทุน ซึ่งตอบโจทย์เรื่องของการดึงเอฟดีไอจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...