BTS ลุ้นศาลอาญาคดีทุจริต ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( รฟม.) ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน (พีพีพี) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563 แต่การประมูลครั้งดังกล่าวมีข้อพิพาทในกรณีการปรับเงื่อนไขการประมูลหลังจากขายซองประมูลไปแล้ว ซึ่งนำมาสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง และท้ายที่สุด รฟม.ประกาศยกเลิกการประมูลครั้งดังกล่าว

หลังจากนั้น รฟม.ได้ออกประกาศการประมูล ครั้งที่ 2 โดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ร้องต่อศาลปกครองกลางในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกฟ้อง และมีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ล่าสุด ศาลปกครอง อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2567 เวลา 13.15 น. ในคดีหมายเลขดำที่ 1437/2566 ระหว่าง BTS กับคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้ดุลยพินิจกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเหมาะสม และความจำเป็นแห่งกรณีเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์เป็นการเฉพาะเจาะจงที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมการคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน

คมนาคมเร่งชง ครม.เคาะผลประมูล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดพิพากษาในคดีข้อพิพาทประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยระบุว่า รฟม.จะรวบรวมข้อมูล และเสนอผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนมายังกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า โดยกระทรวงฯ จะเร่งเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็ว เนื่องจากโครงการล่าช้ามาหลายปี

อย่างไรก็ดี เมื่อ ครม. มีมติให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แล้ว รฟม. จะเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ซึ่งคาดว่าจะสามารถ ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือนต.ค.นี้ โดยมีแผนเปิดให้บริการโครงการสำหรับส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือนพ.ค.2571 และเปิดให้บริการโครงการตลอดทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือนพ.ย.2573

“โครงการนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งโดยปกติแล้วกระทรวงฯ ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เพียงเห็นชอบผลประมูลหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณามาแล้วว่า รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกไม่ได้กระทำขัดต่อข้อกฎหมาย ดังนั้นไม่มีเหตุที่กระทรวงฯ จะไม่เห็นชอบผลการคัดเลือก”

ส่วนกรณีที่ BTS ได้ทำหนังสือมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของ รฟม. ในหลายๆ เรื่อง ปัจจุบันกระทรวงฯ รับทราบข้อร้องเรียนดังกล่าว และได้สั่งการให้ รฟม. ทำหนังสือชี้แจงข้อร้องเรียนทั้งหมด ดังนั้นวันนี้ถือได้ว่าข้อพิพาทเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้สิ้นสุดลงแล้ว และโครงการก็จะเดินหน้าตามขั้นตอน

 

 

 

 

ยืนยันกระบวนการประมูลถูกต้อง

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ อดีตผู้ว่าการ รฟม.เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมรับฟังศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา โดยระบุว่า ข้อพิพาทในคดีนี้ถือเป็นภารกิจสุดท้ายที่ตนกังวล เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ รฟม.อยู่ โดยจากคำพิพากษาวันนี้ ถือเป็นเครื่องชี้วัดแล้วว่า การทำงานของตน และกระบวนการคัดเลือกเอกชนประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดำเนินการถูกต้อง

อย่างไรก็ดี ตามกระบวนการดำเนินโครงการนั้น ทราบว่าหลังจากนี้ รฟม. จะต้องเสนอผลการคัดเลือกเอกชนไปยังกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอไปยัง ครม.พิจารณาอนุมัติ และลงนามสัญญากับเอกชน ซึ่งคาดว่ากระบวนการจะใช้เวลาไม่นาน เพราะที่ผ่านมา รฟม.ได้เตรียมรายละเอียดไว้หมดแล้ว ผลการประมูล และเอกสารร่วมลงทุนก็ได้เสนอไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้ว จึงเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานในการผลักดันลงนามสัญญา ส่วนทางเอกชนปัจจุบันยังคงยืนราคาตามข้อเสนอเดิม ดังนั้นข้อเสนอนั้นจึงถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด

งานเร่งด่วนจัดหาขบวนรถไฟฟ้า

นายภคพงศ์ กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนมากสุดในตอนนี้ น่าจะเป็นเรื่องการเร่งรัดเอกชนจัดหาขบวนรถ เพื่อมาให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เพราะงานโยธาก่อสร้างเสร็จมาประมาณ 1 ปีแล้ว ซึ่งโดยปกติเอกชนน่าจะใช้เวลาในการจัดหาขบวนรถราว 2 ปี พร้อมติดตั้งงานระบบและเปิดให้บริการ 

ส่วนงานก่อสร้างส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ ปัจจุบัน รฟม. มีพื้นที่พร้อมส่งมอบให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้บางส่วน ดังนั้นเมื่อลงนามสัญญาแล้ว คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่และอนุญาตให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที

“บีทีเอส” ลุ้นศาลอาญาคดีทุจริต

รายงานข่าวจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS กล่าวว่า บริษัท น้อมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด แต่อย่างไรก็ดี ข้อพิพาทเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปัจจุบันยังมีคดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี 

ซึ่งบริษัท ยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม.เป็นจำเลยที่ 1 และพวกรวม 7 คน ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ม.36 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งปัจจุบันบริษัท ได้ยื่นอุทธรณ์พิจารณาคดี

ศาลชี้เงื่อนไขประมูลผ่านรับฟังความเห็นแล้ว

รายงานข่าวระบุว่า ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ให้แตกต่างจากประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 โดยปรับเกณฑ์คะแนน เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ที่จะดำเนินการตามโครงการให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด หากได้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอที่มีศักยภาพไม่เพียงพอ ย่อมเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ

ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค จึงไม่อาจรับฟังว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด

ระบุยื่นประเด็น “ไอทีดี” หลังสอบสวนจบ

ขณะที่ประเด็นการฟ้องร้องกรณีกรรมการท่านหนึ่งของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ ITD Group หนึ่งในผู้ยื่นข้อเสนอ เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 นั้น 

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื่องด้วยคำร้องฟ้องเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีนี้ ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องมาหลังจากที่มีการสืบสวนรายละเอียดของคดีไปแล้ว ส่งผลให้ศาลปกครองชั้นต้นได้ปฏิเสธรับคำร้องเพิ่มเติม ประกอบกับ ITD Group ไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูล ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นว่าไม่มีเหตุแห่งการพิจารณา

“บีอีเอ็ม” ชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนผู้ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) รวมถึงงานเดินรถไฟฟ้าตลอดสาย บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดย รฟม.ได้เปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 มีผู้ซื้อซองประมูล 14 ราย และมีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ

1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท

2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับบริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท

โดย รฟม.ได้ประกาศให้ BEM ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 เนื่องจาก BEM ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติและเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...