เปิดจักรวาล ‘ซอสพริกศรีราชา’ ใครๆ ก็เคลมได้ เพราะศรีราชาเป็นเพียงชื่ออำเภอ

ปี 2566 กระแสข่าวซอสพริกศรีราชา ขาดตลาดโด่งดังไปทั่วโลก เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ผลผลิตพริกน้อยลง ได้ยินแบบนี้ในคราวแรกอาจเข้าใจไปว่า ซอสศรีราชาที่กำลังพูดถึงต้องเป็นผลิตภัณฑ์ของอร่อยจากบ้านเราเป็นแน่ ทว่า ซอสพริกสีแดงส้มฝาเขียวที่กำลังเป็นข่าว กลับมีที่มาจากเวียดนาม ผลิตโดย “ฮุยฟงฟู้ดส์” (Huy Fong Foods) เป็นที่โปรดปรานของชาวสหรัฐ จนมีราคาซื้อขายในอีคอมเมิร์ซพุ่งสูงราว 2,000 ถึง 3,000 บาท ต่อขวดทีเดียว

เหตุที่ทำให้เครื่องปรุงจากประเทศไทยเดินทางไกลไปถึงเวียดนาม เพราะ “ซอสพริกศรีราชา” ไม่ใช่ชื่อยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้า แต่เป็นชนิดหรือประเภทของซอส เหมือนกับซอสมะเขือเทศหรือซอสบาร์บีคิว ที่ใครๆ ก็เข้ามาเป็นผู้เล่นในสมรภูมินี้ได้ แม้กระทั่ง “บิ๊กแบรนด์” ที่เป็นเจ้าตลาดเครื่องปรุงชนิดอื่นอยู่แล้ว ก็ขอลงแข่งในนามซอสพริกศรีราชาเช่นกัน

เกิดที่ศรีราชาตั้งแต่ 111 ปีที่แล้ว ไม่คิดจดสิทธิบัตร ไม่อยากเก็บเป็นความลับ

ซอสพริกศรีราชาตราไก่ ประสบกับภาวะขาดแคลนพริกจาลาปิโน (Jalapeno) ที่เป็นส่วนประกอบหลักของซอสตั้งแต่ปี 2560 รายงานจากสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ระบุถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ซอสตราไก่ขาดตลาดว่า เกิดจากข้อพิพาทระหว่าง “ฮุยฟงฟู้ดส์” เจ้าของซอสตราไก่ และ “Underwood Ranches” ซัพพลายเออร์ผู้ปลูกพริก กระทั่งเกิดการฟ้องร้องจนนำไปสู่การต่อสู้ทางกฎหมาย 

สถานการณ์ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปี 2567 “ฮุยฟงฟู้ดส์” ก็ยังไม่สามารถจัดการกับห่วงโซ่อุปทานได้ โดยมีการประกาศลดการผลิตซอสตั้งแต่ปี 2566 โดยให้เหตุผลว่า บริษัทขาดแคลนวัตถุดิบ และยังไม่รู้แน่ชัดว่า อุปทานพริกจะเพิ่มขึ้นเมื่อไร

ด้าน “สเตฟานี วอร์คเกอร์” (Stephanie Walker) ผู้อำนวยการสถาบัน “Chile Pepper Institute” มหาวิทยาลัยรัฐนิวเม็กซิโก ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นี่คือบทเรียนสำคัญที่สะท้อนว่า ผู้ผลิตต้องดูแลรักษาความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ ในที่นี้คือ ฟาร์มผู้ปลูกพริก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการดำเนินงาน-ขยายธุรกิจในอนาคต

ความนิยมของซอสพริกศรีราชา สัญชาติเวียดนาม เฟื่องฟูถึงขั้นกลายเป็นของหายากในสหรัฐ ทั้งที่ในความเป็นจริงซอสมีต้นกำเนิดจากเมืองริมทะเลอย่างศรีราชา ที่ๆ ผู้คนในละแวกดังกล่าวไม่เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ “ซอสตราไก่” ด้วยซ้ำไป “National Public Radio” หรือ “NPR” องค์กรสื่อสาธารณะรายใหญ่ของสหรัฐเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อพูดคุยกับ “เสาวนิต (จักกะพาก) ไตรกิตยานุกูล” ทายาทของ “กิมซัว ทิมกระจ่าง” ต้นตำรับผู้คิดค้นสูตรซอสพริกศรีราชา

“เสาวนิต” ปัจจุบันอายุ 76 ปี เล่าว่า เธอเข้าครัวช่วยคุณยายทำซอสตั้งแต่อายุได้เพียง 9 ขวบ รับหน้าที่กวนส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน พร้อมไล่เรียงที่มาที่ไปของซอสพริกศรีราชาว่า เกิดขึ้นเมื่อครั้งทวดกิมซัวเดินทางไปติดต่อทำธุรกิจที่ประเทศเพื่อนบ้านบ่อยครั้ง ทั้งเมียนมา กัมพูชา และลาว จนสังเกตพบรสชาติซอสที่แตกต่างกัน ทั้งเผ็ด เปรี้ยว หวาน แต่ยังไม่มีซอสชนิดใดเลยที่รวมรสชาติทั้งสามไว้ในขวดเดียว

เสาวนิตให้สัมภาษณ์กับ “NPR” ว่า ปู่ทวดของเธอมีความคิดริเริ่มอยากทำซอสที่กินเข้ากันกับอาหารไทยทุกชนิด ตั้งใจให้รสชาติและเนื้อสัมผัสเข้มข้นไม่เหมือนซอสชนิดอื่นๆ เธอบอกว่า สมัยก่อนต้องใช้เวลาเตรียมวัตถุดิบ ทั้งพริก กระเทียมดอง เกลือ นำไปกรอง และตากแดดจนแห้ง กินเวลานานหลายสัปดาห์ไปจนถึงหลักหลายเดือน มีชื่อเรียกในช่วงแรกว่า “น้ำพริกศรีราชา”

หลังจากนั้นครอบครัวก็ต่อยอดทำกิจการขายอาหารในอำเภอศรีราชา โดยใช้ซอสดังกล่าวเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญ ชื่อเสียงความอร่อยดังไกลจนทำให้ผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียง และนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ให้ความสนใจมาลิ้มรส นานวันเข้าก็เริ่มมีซอสพริกศรีราชาผุดขึ้นอีกหลายเจ้า โดย “เสาวนิต” ระบุว่า ทางครอบครัวไม่เคยคิดจดสิทธิบัตร “ซอสพริกศรีราชา” เพราะไม่ต้องการเก็บสูตรไว้กับตัว ไม่ได้มองว่า เป็นความลับอะไร ซึ่งในบรรดาหลายสิบแบรนด์ที่ถือกำเนิดภายหลัง หมายรวมไปถึง “ซอสตราไก่” ของ “เดวิด ทราน” (David Tran) ด้วย

ซอสท้องถิ่น สู่ “ศรีราชาพานิช” ในมือ “ไทยเทพรส”

ซอสพริกศรีราชาภายใต้เครื่องหมายการค้า “ศรีราชาพานิช” มีรสชาติเปรี้ยว เผ็ด หวาน กลมกล่อมไปด้วยกัน ไม่มีรสใดโดดเด่นไปมากกว่า เมื่อ “เสาวนิต” ได้ลองชิมซอสตราไก่ พบว่า ไม่ถูกปากนัก และบอกว่า มีเพียงรสชาติเผ็ดร้อนเท่านั้น

หลังจากมีการผลิตบรรจุขวดขายเป็นเรื่องเป็นราว จนเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของอำเภอศรีราชา ปี 2527 “บริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน)” เจ้าของซอสภูเขาทองตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ และจัดจำหน่ายซอสศรีราชาพานิชนับแต่นั้น ดูแลการผลิตและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ แตกไลน์สูตรเผ็ดกลาง เผ็ดมาก บรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ขวดพลาสติก และชนิดถุง

“วรัญญา วิญญรัตน์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทได้ส่งออกซอสพริกศรีราชาไปสหรัฐเช่นกัน แม้จะช้ากว่าซอสตราไก่ไปหลายก้าวในตลาดต่างประเทศ แต่ก็มีความพยายามช่วงชิงพื้นที่เพื่อปักธงว่า ซอสพริกศรีราชาสูตรดั้งเดิมมาจากประเทศไทย และมีรสชาติกลมกล่อมสามรส แต่น่าเสียดายที่คนสหรัฐได้ลองซอสพริกศรีราชาแบบเวียดนามเสียก่อน ทำให้พวกเขาคุ้นเคยกับรสเผ็ดร้อนไปแล้ว

“ซอสพริกศรีราชา” สนามที่ใครๆ ก็อยากชิงชัย

ไม่เพียงประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ “บิ๊กแบรนด์” ในไทย ที่เป็นเจ้าตลาดเครื่องปรุงอยู่แล้วก็ขอกระโดดเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตซอสพริกศรีราชาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “พันท้ายนรสิงห์” ที่มีน้ำจิ้มสุกี้เป็นสินค้าเรือธง “เด็กสมบูรณ์” เจ้าตลาดซีอิ๊วขาว “ฉั่วฮะเส็ง” แบรนด์ที่ผลิตน้ำพริกเผามายาวนาน 70 ปี แม้กระทั่ง “อร่อยดี” หนึ่งในผู้นำตลาดกะทิ ก็ยังข้ามห้วย-แตกไลน์โปรดักต์มาผลิตซอสพริกศรีราชา

ด้านแหล่งข่าวจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “CPF” ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงผลิตภัณฑ์ซอสพริกศรีราชาภายใต้แบรนด์ “Authentic Asia” ว่า สินค้ากลุ่มซอสเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของ “CPF” โดยเฉพาะซอสพริกศรีราชา และน้ำจิ้มไก่ที่ได้รับการตอบรับจากต่างชาติเป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่า ปีนี้จะนำสินค้าซอสพริกศรีราชากลับมาขายบนโมเดิร์นเทรดภายในประเทศด้วย

มาดูกันว่า หลังจากที่ทุกเจ้าโหมโรงเร่งเจาะตลาดต่างประเทศ ในช่วงเวลาที่ซอสตราไก่ขาดแคลน ศึกครั้งนี้จะพลิกเป็นโอกาสให้ต้นตำรับจากประเทศไทยได้เฉิดฉายบนเวทีโลกหรือไม่ แม้จะก้าวช้ากว่าเพื่อนบ้านไปหลายสิบปีก็ตาม

 

อ้างอิง: CNBC, CNN, The New York Times, NPR, Sriraja Panich, Thai Theparos

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...