‘ภากร’ลุยเพิ่มเสน่ห์หุ้นไทย เร่งออกโปรดักต์ตอบโจทย์ หวังฟันด์โฟลว์หวนคืน

หากย้อนดูสถิติของ “ตลาดหุ้นไทย” ยังเผชิญกับภาวะ “ขาลง” ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา !! สะท้อนผ่านดัชนี SET INDEX ไม่ได้ปรับขึ้นเลย ถือว่าเป็น “Lost Decade” มูลค่าซื้อขาย (วอลุ่ม) หดหาย และนักลงทุนต่างชาติเทขาย      

ขณะเดียวกัน ยังเกิด “วิกฤติความเชื่อมั่นหดหาย” หลังเกิดสารพัดปัญหากับหลาย “บริษัทจดทะเบียนไทย” (บจ.) ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากการ “ทุจริตปั่นหุ้น-ทุบราคาหุ้น”

 ดังนั้น ถึงคราวตลาดทุนไทยต้องเร่งปฏิรูปครั้งใหญ่... ในทุกๆ มิติ ด้วยการผลักดัน “มารตรการยกระดับกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุน” สะท้อนภาพมาตรการต่างๆ เริ่มทยอยออกมาปฎิบัติได้จริงตามไทม์ไลน์ ซึ่งตลาดทุนไทยก็ตอบรับมาตรการต่างๆ ที่ ตลท. ออกเรียกความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่งแล้ว 

ทว่าขึ้นชื่อว่าตลาดหุ้นยังมีปัจจัยกระทบที่อยู่นอกเหนือการควบคุมได้ บ่งชี้ผ่านดัชนีหุ้นไทย “ทำจุดต่ำสุด” ในรอบเกือบ 4 ปี อยู่ที่ 1,330 จุด ! (6 มิ.ย. 2567) ด้วยการกลับมาของ “ความกังวลประเด็นการเมือง” อีกครั้ง สอดรับช่วง 7 วันทำการ “ต่างชาติ” เทขายหุ้นไทยหนักมากรวมกว่า 20,000 ล้านบาท โดยช่วงเวลา 11 วันทำการ ดัชนีหุ้นไทย “ร่วง 50 จุด” 

สารพัดปัจจัยลบดังกล่าว อาจกระทบ “เซนติเมนต์” ตลาดทุนไทยระยะสั้น ทั้งการวินิฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ผลต่อการอภิปรายงบประมาณปี 2568 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า รวมถึงต่างชาติมีความกังวลความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หวั่นถูกแทรกแซง หลังมีชื่อคนในรัฐบาลเป็นแคนดิเดตประธานบอร์ดคนใหม่ของแบงก์ชาติ 

หลายแรงกดดันภายในที่ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญในขณะนี้ถือเป็น “ปัจจัยเฉพาะตัว” ดังจะเห็นจากทิศทางตลาดต่างประเทศที่ฟื้นตัวโดดเด่น ดังนั้น ด้วยพื้นฐานแท้จริงตลาดหุ้นไทย “ไม่ได้ตกชั้น” เมื่อเทียบกับตลาดอื่น เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังอยู่ใน “เรดาห์” ของนักลงทุนทั่วโลก เพียงแค่กำลังรอสารพัดปัจจัยรุมเร้าคลี่คลายเท่านั้น 

ดังนั้น ต้องรีบดึงเสน่ห์ตลาดทุนไทยกลับด่วน !! “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สิ่งที่ต้องทำท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่เข้ามามากทั้งดีและร้าย นั่นคือ การพยายามสื่อสารข้อมูลให้ชัดเจน ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดหุ้นไทยอย่างเต็มกำลัง ซึ่งตลอดการทำงานในตำแหน่ง “เอ็มดีตลท.” ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ถือว่าได้ทำงานสุดความสามารถ 

ดังนั้น ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ “ผู้จัดการตลท.คนใหม่” ภารกิจล่าสุดที่ต้องดำเนินการคือ การควงแขน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ออกนอกบ้าน ด้วยการเดินสายนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) “จุดเด่น” ของตลาดหุ้นไทยต่อสายตานักลงทุนต่างประเทศ และเปิดมุมมองที่จะกลับมาแต่งตัวใหม่ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” (Value Added) ให้กับตลาดหุ้นไทยสู่ “ตลาดทุนแห่งอนาคต” ของทุกคน

สำหรับเส้นทาง “พัฒนาตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนแห่งอนาคตที่สนับสนุนผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม” โดยจุดที่น่าสนใจมากของตลาดทุนไทยในขณะนี้คือ สามารถระดมทุน “หุ้นไอพีโอ” ได้ต่อเนื่อง ในทุก ๆ ปี ปีละ 30-40 บริษัท มี “มาร์เก็ตแคป” ปีละ 3,000-4,000 ล้านดอลลาร์ มีสภาพคล่องที่สูง และมีโปรดักต์ที่เชื่อมต่อกับประเทศอื่น เช่น DR, ETF ซึ่งโปรดักต์เหล่านี้นักลงทุนค่อนข้างให้ความสนใจ 

รวมถึงปัจจุบันราคาหุ้นไทยยังน่าสนใจ ราคาต่ำกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และทางด้านความยั่งยืน ไม่น้อยหน้าติดอันดับท็อปของภูมิภาคและระดับเวิลด์คลาส  และหากผสานกับจุดแข็งของประเทศไทย ที่คนทั้งโลกยอมรับ อุตสาหกรรมทางด้าน Well-being Economy, การส่งออก, อาหาร, เฮลท์แคร์ และการท่องเที่ยว และนโบายของภาครัฐส่งเสริมทางด้าน “พลังงานสะอาด” 

 “ภากร” กล่าวต่อว่า ตลาดหุ้นไทยยัง “ไม่ไร้เสน่ห์” ในสายตานักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เพียงแต่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในสิ่งต่างๆ ที่เป็นจุดแข็งอยู่แล้วอย่างไรต่อไป  แน่นอนว่าในเรื่อง  DR, ETF เราจะเชื่อมในภูมิภาคได้มากกว่านี้ เพราะจะลงทุนได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำ Due Diligence เพิ่มเติม นี่คือ สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมุ่งเน้นต่อไป พร้อมกับการเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาตามไทม์ไลน์ที่ได้วางไว้   

     ดังนั้น มองไปในอนาคต ตลท.จะก้าวสู่ปีที่ 50 การดำเนินงานปี 2568 ได้ กำหนดแนวคิดการก้าวสู่ปีที่ 50 ว่า Make it “Work” for Every Future-ร่วมสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคนทั้งการสร้างสรรค์สินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์เป้าหมายอนาคตของผู้ออมและผู้ลงทุน เป็นกลไกให้ภาคธุรกิจเข้าถึงโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนระยะยาว นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างแข็งแกร่ง พร้อมสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม และอนาคตสังคมไทยยั่งยืน

    โดยมุ่งสู่เป้าหมายอนาคต “5 ด้าน”  คือ 1.ยกระดับสู่ตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาค ทั้งด้านเป็นแหล่งระดมทุนในและต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มเติมทางเลือกการลงทุนต่างประเทศผ่านกลไกตลาดทุนไทย 2.ขยายโอกาสระดมทุนให้บริษัททุกขนาดในภูมิภาค มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ บริษัทต่างชาติที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ และ SMEs Startups พร้อมส่งเสริมการพัฒนา Data Platform สำหรับบจ. เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data Pools) นำมาต่อยอดเป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์ 

3.พัฒนาตลาดทุนแบบดิจิทัลเสริมตลาดทุนดั้งเดิมที่มีความเข้มแข็งในปัจจุบันเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนยุคใหม่ 4.เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและกำกับดูแล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนที่แข็งแกร่งโดยพิจารณาในการนำเทคโนโลยี AI และ Generative AI เข้ามาช่วยพัฒนางานในหลายด้านเพิ่มขึ้น 5.ขับเคลื่อนความยั่งยืน ในทุกมิติโดยมุ่งเน้นการเตรียม บจ. ผู้ลงทุน และบุคลากรตลาดทุน ให้พร้อมรองรับความท้าทายและโอกาสจากประเด็นความยั่งยืน และพัฒนาการของกฎเกณฑ์กำกับใหม่ ๆ 

      ดังนั้น การมุ่งเน้นเดินหน้าสู่เป้าหมายตลท.ในอีก 50 ปี สนับสนุนยกระดับตลาดทุนไทย เป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค (ไฟแนนซ์เชียลฮับ) หรือเป็นจุดที่สามารถระดมทุนและลงทุนได้ทั้งในประเทศและภูมิภาคโดยไม่ต้องออกไปต่างประเทศ พร้อมให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล จะทำให้ตลาดทุนสมบูรณ์มากขึ้นโดยใช้การระดมทุนผ่านรูปแบบ Investment Token และ Utility Token และนำคาร์บอนเครดิตในการบริหารเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และได้เครดิตกลับมาเพื่อทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นพร้อมสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมและอนาคตของสังคมไทยยั่งยืน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...