‘เฟตต้า’ จี้ยกเครื่องท่องเที่ยวไทย จ่อยื่นสมุดปกขาว 11 วาระเร่งด่วน

หลังจากสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย หรือ FETTA (เฟตต้า) ระดมความคิดเห็นเครือข่ายภาคเอกชนท่องเที่ยว รวบรวมข้อเสนอแนะเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวไทย เตรียมส่งมอบเป็นสมุดปกขาว (White Paper) ถึงรัฐบาลเร็วๆ นี้ รองรับการประกาศให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวโลกตามนโยบายรัฐบาลซึ่งตั้งเป้าสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวไทย 3.5 ล้านล้านบาทในปี 2567

รายงานข่าวจากเฟตต้า ระบุว่า ข้อเสนอแนะที่รวบรวมอยู่ในสมุดปกขาวเตรียมส่งมอบให้รัฐบาลนั้น มี 11 ข้อเสนอ ได้แก่

1.จัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐที่มีเครือข่ายส่วนกลางและภูมิภาค เสมือนทีมที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยให้ข้อมูล ความเคลื่อนไหว และเสนอแนะแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมให้ฝ่ายนโยบายคอยพิจารณา เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย

2.จัดทำแผนการพัฒนาและตัวชี้วัดที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านซัพพลาย ควบคู่กับด้านดีมานด์ ภายใต้เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศด้วยการกระจายรายได้ และความเจริญที่มีความสมดุลทั้งในสังคมเมืองและชนบท โดยจัดทำแผน Thailand Tourism Carrier Capacity Blueprint ที่เป็นการทำงานร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการทำร่วมกันเพื่อจัดวางพัฒนาการท่องเที่ยวไปในทิศทางเดียวกันบนศักยภาพที่มีให้เกิดเอกภาพในขับเคลื่อนร่วมกันในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

ชงแก้ กม. ดึงแรงงานต่างชาติทดแทน

3.ขับเคลื่อนการแก้ไขข้อกฎหมายด้านแรงงานการท่องเที่ยวในตำแหน่งที่ขาดแคลนและคนไทยไม่ยอมรับในตำแหน่งงานนั้นๆ เพื่อหาแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทน

4.การอำนวยความสะดวก ลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศ การเพิ่มเที่ยวบิน และกระจายนักท่องเที่ยวสู่สนามบินในภูมิภาคด้วยมาตรการยกเว้นวีซ่า (Visa-Free) การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และการบริการภาคพื้นในสนามบินต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนเที่ยวบินภายในประเทศให้มีอัตราที่ถูกลงจากการเพิ่มสายการบินเข้าสู่ตลาดการแข่งขันให้มีปริมาณเพียงพอและกระจายตัวเป็นทางเลือกแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น

5.ส่งเสริมยกระดับผู้ประกอบการด้านการใช้งานดิจิทัล (Digital Transformation) ด้วยการสนับสนุนงบประมาณใช้ซอฟต์แวร์ที่ต้นทุนถูกลงเพื่อแข่งขันและรองรับความเปลี่ยนแปลงของด้านแข่งขันของการท่องเที่ยวโลก

6.ออกแบบเส้นทางหรือแหล่งท่องเที่ยวในยามค่ำคืน เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะโลกเดือดที่ทำให้เกิดอันตรายต่อนักท่องเที่ยวจากอาการฮีตสโตรก (Heat Stroke) เช่น โครงการนำร่องแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของรัฐในเวลาเย็นและค่ำ โดยมีระบบการบริการและความปลอดภัยรองรับที่ดี

7.แก้ไขกฎเพดานการใช้งบประมาณภาครัฐในการจัดประชุมสัมมนาที่ไม่ได้ปรับปรุงมานาน เพื่อสอดรับกับนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐ

หนุนรัฐตั้งงบพัฒนา ‘ท่องเที่ยวยั่งยืน’

8.จัดตั้งงบประมาณพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยให้ภาคเอกชน ชุมชน มีส่วนร่วมในการบริหาร และเป็นกองทุนที่นำมาใช้บริหารจัดการภาวะวิกฤติด้านการท่องเที่ยวโดยตรง จากการประเมินตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละปี เช่น ปี 2567 เป้าหมาย 35 ล้านคน คนละ 100 บาท ประมาณ 3,500 ล้านบาทเป็นงบประมาณตั้งต้น

9.จัดทำโครงการพื้นที่นำร่องจากนโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดหลัก โดยใช้ตัวชี้วัดทั้งด้านดีมานด์และซัพพลายควบคู่กัน และมีคณะกรรมการร่วมช่วยกันประเมินและคอยปรับปรุงให้ต้นแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมาใช้งานให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อยกระดับดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (TTDI) ซึ่งเป็นจุดอ่อนในปัจจุบันที่เป็นรูปธรรม

10.แก้กฎหมาย พรบ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ปัจจุบันที่มีปัญหามากมายในการบังคับใช้และเป็นช่องโหว่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในด้านโครงสร้างและการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายในเชิงธุรกิจอย่างเร่งด่วน

และ 11.จัดทำมาตรการส่งเสริมการตลาดในพื้นที่เป้าหมาย เช่น เมืองรอง และช่วงโลว์ซีซัน ทั้งตลาดในและต่างประเทศ

 

ททท.ของบกระตุ้นตลาดปั๊มรายได้ 3.5 ล้านล้าน

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากเป้าหมายการทำงานของ ททท. สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวปีนี้ 3 ล้านล้านบาท มั่นใจว่าทำได้จริง เพราะเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ ส่วนการไปให้ถึงเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างรายได้รวม 3.5 ล้านล้านบาทนั้น มองว่าเป็นเรื่องท้าทาย ททท.ต้องการงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทั้งการจัดอีเวนต์เพื่อกระตุ้นกระแสการเดินทาง การทำโปรโมชันร่วมกับเอกชนท่องเที่ยว อาทิ สายการบิน และบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ต้องทำตลอดทั้งปี รวมไปถึงการจัดโรดโชว์ ล่าสุด ททท.กำลังประสานกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และคิงเพาเวอร์ ร่วมกันจัดโรดโชว์ 3 เมืองในประเทศจีน ได้แก่ ฉางซา ซีอาน และเจิ้งโจว ในปลายเดือน ก.ค.นี้

“สถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติตอนนี้ ในเชิงจำนวนยังทรงๆ ต้องหาอะไรมากระตุ้นรายได้รวมการท่องเที่ยวเพื่อไปให้ถึง 3.5 ล้านล้านบาท เร่งขุนยอดช่วงครึ่งปีหลังด้วยกลยุทธ์การเพิ่มจำนวนวันพำนักในไทย มีอีเวนต์ใหญ่มากระตุ้นจำนวนคนเพื่อให้เกิดการเดินทางตลอดปี รวมถึงการทำโปรโมชันร่วมกับภาคเอกชนด้วย”

ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา

 

เศรษฐกิจเอเชียทรงตัวกระทบเป้ารายได้ท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ปัจจัยเศรษฐกิจของประเทศต้นทางในภูมิภาคเอเชียมีผลต่อเป้ารายได้การท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก บางประเทศอยู่ในภาวะทรงตัว ไม่ได้พุ่งเหมือนยุคก่อนโควิด-19 เช่น จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง แต่ก็ไม่ได้แย่ทั้งหมด มีบางประเทศที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเกินเป้าแล้ว เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ยอดนักท่องเที่ยวพุ่งดีมาก แต่ตลาดเหล่านี้ยังมีจำนวนไม่มากเท่าตลาดจีน ส่วนตลาดอินเดีย เศรษฐกิจเติบโตดีมาก ด้วยมาตรการวีซ่าฟรีช่วยดึงนักท่องเที่ยวอินเดียเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-4 มิ.ย. 2567 มีจำนวนสะสม 868,698 คน มากเป็นอันดับ 3 แซงตลาดรัสเซียแล้ว แต่ยังเป็นรองตลาดจีนและมาเลเซีย

“เป้าหมายรายได้รวมที่รัฐบาลตั้งไว้ 3.5 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายของ ททท. ถึง 5 แสนล้านบาท ตลาดความหวังคือนักท่องเที่ยวจีนและอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่มีจำนวนสูง จากฐานประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน โดยในปีนี้มั่นใจว่านักท่องเที่ยวจีนจะมาไทยถึง 8 ล้านคน”

นางพัฒน์สี เพิ่มวงศ์เสนีย์ ผู้อำนวยการภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวเสริมว่า นักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าไทยปีนี้น่าจะถึง 2 ล้านคน สูงกว่าเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ 1.7 ล้านคน

ส่วนเป้าหมายรายได้รวมการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาทตามที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ เผชิญความท้าทายจากปัจจัยหลายๆ ประเทศกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เช่น หลายเมืองในอินเดียได้ออกมาตรการส่งเสริมการจัดงานแต่งงานในประเทศ ต่างจากยุคก่อนโควิด-19 ที่มีคู่แต่งงานชาวอินเดียนิยมจัดงานในไทย ใช้จ่ายสูงมาก เหมาโรงแรมทั้งชั้นและอยู่นาน 5-6 คืน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

 

คาดงาน ‘ทีทีเอ็มพลัส’ รายได้เจรจาธุรกิจ 3,000 ล้าน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ททท.จัดงาน ไทยแลนด์ ทราเวล มาร์ท พลัส 2024 (TTM+ 2024) ในวันที่ 5-7 มิ.ย. ณ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท เขาหลัก รีสอร์ต แอนด์ สปา จังหวัดพังงา ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 21 มีผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวจากต่างประเทศในฐานะผู้ซื้อมาร่วมงานมากถึง 425 ราย จาก 50 ประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้น 13.64% จากปี 2566 มากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่จัดงานมา สะท้อนถึงความเชื่อมั่นศักยภาพสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวไทย

“งานครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Amazing Thailand, Your Stories Never End โดย ททท.คาดว่าการเจรจาธุรกิจในงานนี้จะมีมากกว่า 15,000 นัดหมาย สร้างมูลค่ารายได้จากการเจรจาธุรกิจกว่า 3,000 ล้านบาท กระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท”

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...