กำลังซื้อทรุดลามธุรกิจอาหาร ‘ซีอาร์จี’หั่นเป้าโต‘เคเอฟซี’

นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัดหรือ ซีอาร์จี เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารทุกประเภทมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท แต่เมื่อเจาะลึกเฉพาะหมวดร้านอาหารบริการด่วน หรือ คิวเอสอาร์มีมูลค่าราว 4.5 หมื่นล้านบาท โดยไก่ทอดมีมูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นพิซซ่า เบอร์เกอร์

ทั้งนี้ ตลาดร้านอาหารคิวเอสอาร์มีอัตราการเติบโต 3% โดยตัวแปรสำคัญคือร้านไก่ทอดที่เป็นหมวดผลักดันให้ภาพรวมมีการเติบโต ซึ่งเฉพาะปี 2567 คาดการณ์ตัวเลขเติบโตที่ 5-6%

สำหรับตลาดไก่ทอด มีแบรนด์ระดับโลกอย่างเคเอฟซี เป็นผู้เล่นสำคัญและครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 90% เป็นอันดับ 1 อย่างแข็งแกร่ง จากแฟรนไชส์ซี 3 ราย โดยหนึ่งในนั้นคือกลุ่มซีอาร์จี

กำลังซื้อลด-แข่งขันเดือด กระทบเป้าโตปี 67

ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดี กำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง ส่งผลให้ยอดขายของร้านอาหารสาขาเดิมหรือ Same store ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเติบโต 4-5% จากเดิมโต 6% ส่วนยอดการซื้อเคเอฟซีต่อบิลเฉลี่ยอยู่ที่ 200 บาท ไม่มีการเติบโตเช่นกัน อีกปัจจัยที่กระทบการเติบโตปีนี้ คือการแข่งขันในธุรกิจอาหารมีสูงมาก เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีกำแพงป้องกันผู้เล่นเข้ามา ทำให้ร้านอาหารหลากประเภทเกิดใหม่จำนวนมาก

จากตัวแปรข้างต้นยังส่งผลให้ซีอาร์จี ต้องปรับเป้าหมายการเติบโตปี 2567 ของร้านไก่ทอดเคเอฟซีเหลือเพียง 7-8% จากต้นปีคาดว่าจะเติบโต 11% ขณะที่ปี 2566 ซึ่งมียอดขาย 7,050 ล้านบาท

ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์

“มองว่ากำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ยอดขายสาขาเดิมเราไม่โต 6% เหมือนเดิม อีกส่วนเพราะเศรษฐกิจไม่ดี รวมถึงการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารมีสูงมาก เนื่องจากไม่มี Barriers to Entry เพียงแค่มีตะหลิว สูตรอาหาร สามารถเข้ามารุกธุรกิจ ขายอาหารได้แล้ว ทำให้คนใหม่เข้ามาค่อนข้างมาก เพื่อแย่งตลาด ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และเปลี่ยนหรือชิพพฤติกรรม จึงส่งผลให้การเติบโตของเราช้าลง ต้นปีเคเอฟซีวางเป้าหมายเติบโต 11% ตอนนี้ทั้งปีคาดว่าจะโต 7-8%

วางหมากโตแกร่ง ใน 3-5 ปี

ร้านไก่ทอดเคเอฟซี อยู่ในตลาดประเทศไทยยาวนาน 40 ปี โดยซีอาร์จี ถือเป็นรายแรกที่นำแบรนด์เข้ามาในฐานะแฟรนไชส์ซี และสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนงานใน 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทยังวางเป้าหมายรักษาการเติบโตอย่างแข็งแกร่งหรือเฮลตี้ โกรทรอบด้าน ทั้งการมีร้านหรือสาขาเพิ่มขึ้น ยอดขายและอัตรากำไรเติบโต

ทั้งนี้ ปี 2567 บริษัทยังเดินหน้าเปิดร้านเคเอฟซี 23 สาขา จากปัจจุบันมี 338 สาขา (ณ 31 พ.ค.2567) มีการนำโมเดลร้านใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ล่าสุด จะเห็นร้านโมเดลใหม่ แกร็บ แอนด์ โก พื้นที่ขนาดเล็ก 50-60 ตารางเมตร(ตร.ม.) ขายสินค้าแค่เมนูไก่ทอด เพื่อตอบโจทย์การซื้อกลับบ้าน เน้นทำเลสถานีรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยโมเดลนี้จะใช้เงินลงทุนลดลง 20% จากเดิมการลงทุนต่อสาขาอยู่ที่ 10-15 ล้านบาท ซึ่งร้านรูปแบบไดรฟ์ทรูลงทุนมากสุด

นอกจากนี้ จะเห็นโมเดลคีออส ให้ลูกค้าสั่งซื้ออาหารผ่านตู้แทนสั่งผ่านหน้าเคาน์เตอร์ ซึ่งปีนี้คาดเห็นคีออสเคเอฟซี 35 ตู้ จากปัจจุบันมี 14 ตู้

“ร้านโมเดลใหม่เป็นคอนเซปต์ควิก แอนด์ อีซี่ เราจะเน้นทำเลที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางหรือ Transportation hub จะเห็นช่วงไตรมาส 3-4 ปัจจุบันมีร้านต้นแบบเปิดให้บริการที่หมอชิต 3 ซึ่งร้านรูปแบบดังกล่าวมีการเปิดในฮ่องกง สิงคโปร์ และเรามองเป็นอีกโอกาสผลักดันการเติบโต”

ปรับโฉมเคเอฟซีสาขาแรกในไทย

ซีอาร์จี นำร้านไก่ทอดเคเอฟซีมาทำตลาดในไทยปี 2527 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ล่าสุด ได้ปรับโฉม ตกแต่งร้านใหม่ภายใต้คอนเซปต์ “Colonel's Legacy” นำกลิ่นอายสไตล์เรโทรของอดีตกลับมาอีกครั้ง พร้อมผสานเทคโนโลยี ดิจิทัลในการสั่งอาหารและเครื่องดื่มให้บริการลูกค้า

“ซีอาร์จีเป็นแฟรนไชส์ซีเคเอฟซีเจ้าแรก และทุก 10 ปี เราจะปรับโฉมร้านเคเอฟซีร้านแรก ปีนี้เราชูธีมเรโทร ดึงซิกเนเจอร์ของกรุงเทพฯ นำความรู้สึกเก่าๆกลับมาเชื่อมโยงผู้บริโภค แต่เส้นทางการซื้อหรือ Journey ลูกค้าในร้านเป็นดิจิทัลหมด เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า”

สำหรับเคเอฟซีในประเทศไทยแม้อายุ 40 ปี แต่ภาพลักษณ์แบรนด์ยังคงมีความวัยรุ่น และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเด็ก ครอบครัว จุดแข็งของแบรนด์นอกจากเมนูไก่ทอดรสชาติโดนมจ ราคายังเข้าถึงง่าย รวมถึงการมีจำนวนร้านกว่า 1,000 สาขา(รวม 3 แฟรนไชส์ซี) ทำให้แบรนด์ครองใจผู้บริโภคเสมอมา

โมเมนต์แชร์ความสุขของผู้บริโภค

“40 ปีเคเอฟซีในไทย เราเป็นเจ้าแรกที่พาไปค้นพบผู้บริโภคชาวไทยชอบไก่ทอด ซื้อง่ายขายง่าย การทานอาหารเน้นแชร์กัน สร้างโมเมนต์ความสุขเล็กๆ เรามีการปรับตัวตลอด การเปิดร้าน อดีตเน้นสาขาใหญ่ขนาด 350-400 ตร.ม. ตอนนี้เล็กลงเฉลี่ย 200-250 ตร.ม. มีการเปิดสาขาตามปั๊ม เปิดดึกขึ้นตอบโจทย์คนทานมื้อดึก มีบริการดิลิเวอรี ซื้อกลับบ้าน การนำเทคโนโลยี ดิจิทัลมาให้บริการ มีเมนูหลากหลายทั้งไก่ทอด กาแฟ ไอศกรีม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เปลี่ยนตามเจอร์นี่ ความต้องการของคน ที่สำคัญท่ามกลางการแข่งขันร้านอาหารที่ผู้เล่นรายใหม่เข้ามา รายเก่าออกไป คนที่เจ๋งจริงจึงอยู่ได้นาน และเราอยู่มา 40 ปี”

สำหรับซีอาร์จี มีร้านอาหารหลายสิบแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ ไตรมาส 1 มีร้านรวมกันทุกแบรนด์ 1,618 สาขา เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนมี 1,599 สาขา และผลประกอบการของบริษัท มีรายได้รวม 3,144 ล้านบาท เติบโต 4% มีกำไรสุทธิ 124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไร 91 ล้านบาท

เส้นทาง 40 ปี "ซีอาร์จี" เคลื่อน "เคเอฟซี" ผสานโลกดิจิทัลบริการลูกค้า

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...