รัฐบาลมีไว้ทำไม ถ้าไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

การส่งออกสินค้าของประเทศไทยที่มีมูลค่าน้อยกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งเวียดนามและมาเลเซีย ในขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของประเทศไทยในปี 2566 ยังน้อยกว่าอินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนาม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวสะท้อนที่ชัดเจนให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ หากไม่ต้องการให้การค้าและการลงทุนของประเทศไทยถูกทิ้งห่างจากหลายประเทศในอาเซียนมากกว่านี้ 

ในอดีตภาคการผลิตของไทยใช้ความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและต้นทุนแรงงานเพื่อแข่งขันกับภูมิภาค ซึ่งทำให้ในช่วง 20 ปี เศษ การส่งออกสินค้าเป็นเครื่องจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยผู้ผลิตไทยอยู่ในฐานะของผู้รับจ้างการผลิตได้อย่างเข้มแข็ง สามารถผลิตสินค้าได้ทุกมาตรฐานของประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในช่วงหลังหลายประเทศได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและยกระดับการผลิตทำให้แซงหน้าไทยในด้านเทคโนโลยี 

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่ผู้ผลิตสินค้าของไทยมีความกังวลเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เมื่อปี 2544 ผู้ผลิตสินค้าไทยกังวลสินค้าจีนที่มีความได้เปรียบต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่ามาก เช่น เครื่องนุ่มห่ม รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าจีนตีตลาดทั่วโลกจนได้รับการขนานนามเป็นโรงงานของโลก แต่ผ่านมา 20 ปี ภาคการผลิตของจีนมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจนกระทั่งเหลือสินค้าเพียงไม่กี่ประเภทที่ไทยจะไปแข่งขันกับจีนได้ เป็นเพราะจีนได้มีการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่ภาคการเกษตรของไทยยังก้าวไปไม่ถึงการทำเกษตรแบบแม่นยำที่สมบูรณ์ ยังไม่นับรวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคการเกษตรไม่ว่าจะเป็นระบบอัตโนมัติหรือระบบดิจิทัล โดยวิธีการผลิตของไทยไม่น้อยยังเป็นแบบดั้งเดิมที่มีต้นทุนการผลิตสูง ส่วนเอสเอ็มอีที่ทุกรัฐบาลยอมรับเป็นรากฝอยที่สำคัญของเศรษฐกิจ แต่ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ ปัญหาการตลาดและเทคโนโลยียังคงมีอยู่ไม่ต่างจากเมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา 

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ไม่ได้เข้ามายุควิกฤติเหมือนรัฐบาลในอดีตไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจโลก (แฮมเบอร์เกอร์)  วิกฤติน้ำท่วม วิกฤติโควิด จึงถือว่าได้รัฐบาลเศรษฐามีเงื่อนไขการบริหารงานที่เอื้อต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะไม่ต้องวุ่นวายกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยทุกรัฐบาลที่ผ่านมาพูดถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแต่ไม่มีใครทำสำเร็จ เพราะเป็นเรื่องระยะยาว ดังนั้นจึงคาดหวังว่ารัฐบาลที่ไม่ได้บริหารประเทศในภาวะวิกฤติจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้เป็นรูปธรรมกว่าที่ผ่านมา

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...