การท่าเรือฯ เร่งประมูลโครงสร้างพื้นฐาน 'แหลมฉบัง 3' จบปีนี้

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย​ (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยระบุว่า ปัจจุบัน กทท.อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินงานในส่วนที่ภาครัฐต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน งานถมทะเล และระบบสาธารณูปโภค โดยงานส่วน 1 การก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล กิจการร่วมค้า CNNC เอกชนคู่สัญญาอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ

อย่างไรก็ดี กิจการร่วมค้า CNNC คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) ได้ทันเป้าหมายภายในเดือนมิ.ย.นี้ หลังจากนั้น กทท.จะตรวจสอบมาตรฐานความแน่นหนาของงานถมทะเล ก่อนเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้กับ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC คู่สัญญาในโครงการบริหารท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งจะทยอยส่งมอบส่วนของท่าเรือโซน F1 ภายในเดือน พ.ย.2568 และกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2569

ขณะที่งานส่วน 2 โครงสร้างพื้นฐาน งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ก่อนหน้านี้ กทท.ได้เปิดประกวดราคา โดยมีราคากลาง 7,387.518 ล้านบาท พบว่ามีเอกชนซื้อซอง 4 ราย และผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติ 2 ราย คือ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

ทั้งนี้ จากการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค และด้านราคา ผลปรากฏว่า บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยต่ำกว่าราคากลางราวิ 160 ล้านบาท กทท.จึงประกาศให้เป็นผู้ชนะการประมูล แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาจ้างได้ เนื่องจากมีการยื่นอุทธรณ์ผลการประมูล ส่งผลให้อยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการตรวจสอบ

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กทท.เตรียมประกวดราคางานลงทุนภาครัฐอีก 2 ส่วน วงเงินรวมกว่า 3พันล้านบาท แบ่งเป็น ส่วน 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ งบประมาณ 799.5 ล้านบาท และส่วน 4 งานจัดหา ประกอบและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับบริหารท่าเรือระบบโครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ 2,257.84 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเร่งรัดเปิดประกวดราคาได้ภายในปีนี้

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. 47% และเอกชน 53% โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี

นอกจากนี้ยังเพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของท่าเรือแหลมฉบังจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี ช่วยสนับสนุนการลดต้นทุน การขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดค่าขนส่งประมาณ 250,000 ล้านบาท อีกทั้งยังผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่การค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...