ททท. อ้อนรัฐอัดงบ ทำโปรฯร่วมแอร์ไลน์ จูงใจเปิดรูทบิน หนุนรายได้ 3.5 ล้านล้าน

ตามเป้าหมายรัฐบาลต้องการดึง “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เข้าไทยไม่น้อยกว่า 39 ล้านคนตลอดปี 2567 หนุนสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวไปให้ถึง 3.5 ล้านล้านบาทนั้น กลยุทธ์ “แอร์ไลน์ โฟกัส” (Airline Focus) นับว่ามีความสำคัญในยุคหลังโควิดระบาด เพราะ “สายการบิน” คือธุรกิจต้นน้ำขนส่งนักเดินทางจากทุกมุมโลก!

หากโฟกัสการทำตลาดและโปรโมชันร่วมกับสายการบินได้อย่างเข้าเป้าในห้วงการฟื้นตัวเต็มร้อย ย่อมหมายถึงโอกาสเข้าถึงเม็ดเงิน “การท่องเที่ยว” ซึ่งกำลังรับบทเป็น “เดอะแบก” ของเศรษฐกิจไทยในปีนี้!

ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ต้องการงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับทำ “โปรโมชันร่วม” (Joint Promotion) กับสายการบินและพันธมิตรต่างๆ มากกว่านี้ เพื่อเพิ่ม “ความถี่เที่ยวบิน” ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากมีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนเพิ่ม มั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

“ในช่วงไฮซีซันปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 เราเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีของสายการบิน ทั้งที่ได้รับการอนุมัติให้บินเข้าไทยแล้ว รวมถึงที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมบินเข้าไทยเพิ่ม ททท.จะเข้าไปสนับสนุนให้สายการบินตัดสินใจทำการบินเข้ามาก่อนผ่านการกำหนดตัวชี้วัดร่วมกัน โดยการทำโปรโมชันร่วมกับสายการบินนั้น งบสนับสนุนก้อนแรกสำคัญมาก เมื่อสายการบินเปิดเส้นทางนั้นๆ และตั้งหลักได้ เขาไม่มีทางปล่อยให้ตัวเองขาดทุนอยู่แล้ว หากเดินหน้าไปต่อเองได้ ก็ไม่ต้องเข้าไปสนับสนุนแล้ว

ชูกลยุทธ์ Airline Focus ดึงนักท่องเที่ยวระยะไกล

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมางบประมาณจะมีน้อย แต่ ททท.ก็เดินหน้าทำงานร่วมกับพันธมิตรเอกชน ประสานความร่วมมือต่างๆ เฉพาะตลาด “นักท่องเที่ยวระยะไกล” ได้แก่ ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา เน้นกลยุทธ์ Airline Focus ผลักดันสายการบินขยายเส้นทางสู่จุดหมายปลายทางเมืองหลักและเมืองรองของประเทศไทย

ในปี 2567 ททท.ตั้งเป้าหมายการทำตลาดจำนวนนักท่องเที่ยวระยะไกลไว้ที่สัดส่วน 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด สร้างรายได้ 40% ของรายได้ตลาดต่างประเทศ หลังจากโควิด-19 ระบาดทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนตลาดระยะไกลและระยะใกล้อย่างชัดเจน โดยปี 2564 เมื่อโควิดคลายตัว ประเทศกลุ่มยุโรปฉีดวัคซีนก่อน สามารถออกเดินทางได้ก่อน จึงเห็นสัดส่วนตลาดระยะไกลเข้ามาเที่ยวไทยปรับขึ้นเป็น 77% เทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิดซึ่งอยู่ที่ 23%

ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท.

ส่องตัวเลขเป้าหมายท่องเที่ยวไทยปี 67 ทั้ง 2 แบบ ของ ททท. - รัฐบาล

ขณะนี้ ททท.มีเป้าหมายการทำงานปี 2567 อยู่ 2 เป้าหมาย” ด้วยกัน โดยเป้าหมายแรกผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ ททท. ว่าจะต้องสร้างรายได้รวมจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทย 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นต่างชาติ 1.92 ล้านล้านบาท จากจำนวน 35 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 1.08 ล้านล้านบาท จากจำนวน 200 ล้านคน-ครั้ง

ขณะที่เป้าหมายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบโจทย์ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพิ่มรายได้รวมจากการท่องเที่ยวให้ถึง 3.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.30 ล้านล้านบาท จำนวน 39 ล้านคน นักท่องเที่ยวไทย 1.20 ล้านล้านบาท จำนวน 210 ล้านคน-ครั้ง
 

แอร์ไลน์แห่เปิดเส้นทาง 'ยุโรป' ช่วงซัมเมอร์

ศิริปกรณ์ เล่าเพิ่มเติมว่า ในปี 2567 จะมีสายการบินเปิดเส้นทางบินใหม่สู่ “ตลาดระยะไกล” เพิ่มเติม ทั้งในช่วงตารางบินฤดูร้อน (เม.ย.-ต.ค.2567) และตารางบินฤดูหนาว (พ.ย.2567-มี.ค.2568) อาทิ สายการบิน “ไอเบอร์โรเจ็ต” (iberojet) จากสเปน ยืนยันจะทำการบินเส้นทาง มาดริด-กรุงเทพฯ เริ่ม 30 พ.ค. ความถี่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ด้วยเครื่องบินลำตัวกว้างขนาด 432 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน ได้ดีมานด์นักท่องเที่ยวพูดภาษาสเปน ไม่ใช่แค่ชาวสเปนที่จะเดินทางเข้าไทยช่วงปิดภาคเรียน ก.ค.-ส.ค. ตรงกับโลว์ซีซันเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงตลาดอเมริกาใต้ที่สามารถต่อเที่ยวบินมาไทยเพียงครั้งเดียว

สายการบิน “คอนดอร์” (condor) จากเยอรมนี ที่เน้นทำตลาดเจาะคนรุ่นใหม่ ทั้งวัยมิลเลนเนียล เศรษฐีรุ่นใหม่ ผู้บริหารรุ่นใหม่ และกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวครั้งแรก เตรียมเปิด 2 เส้นทาง เริ่ม ก.ย. ได้แก่ แฟรงก์เฟิร์ต-กรุงเทพฯ ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และ แฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต ความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขนาด 310 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน

ฝั่งอังกฤษ สายการบิน “บริติชแอร์เวย์ส” (British Airways) จะเปิดเส้นทาง ลอนดอน (แกตวิก) - กรุงเทพฯ ความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขนาด 332 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน ในช่วงเดือน ต.ค. 2567-มี.ค. 2568 เพราะยังมีลูกค้าสะสมไมล์พร้อมเดินทางจำนวนมาก หากผลตอบรับดี มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในอนาคต อีกสายการบิน “ทุยแอร์เวย์ส” (TUI Airways) เมื่อก่อนทำการบินแค่เส้นทางแมนเชสเตอร์ - ภูเก็ต ตอนนี้จะเพิ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) เส้นทางลอนดอน (แกตวิก) - ภูเก็ต โดยจะเพิ่มความถี่เป็น 12 เที่ยวบินต่อเดือน จากเดิมไม่เกิน 6 เที่ยวบินต่อเดือน

ด้านสายการบิน “แอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ส” (El Al Israel Airlines) แม้ได้รับผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-อิหร่าน แต่ปัจจุบันยังคงทำการบินต่อเนื่อง เส้นทางเทลอาวีฟ – กรุงเทพฯ ความถี่ 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และเส้นทางเทลอาวีฟ - ภูเก็ต 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ มีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) 90% โดยหล่อเลี้ยงเส้นทางบินเอาไว้ ไม่ให้นักท่องเที่ยวตกค้าง

สายการบิน “สกัตแอร์ไลน์ส” (SCAT Airlines) จัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เส้นทาง อัลมาตี - สุราษฎร์ธานี บินตรงจากคาซัคสถานซึ่งประชากรมีรายได้เฉลี่ยสูงสุดในเอเชีย เริ่ม 30 พ.ค. ความถี่ 1 เที่ยวบินต่อ 11-12 คืน ขนาด 213 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน

ด้าน “การบินไทย” เตรียมเปิดเส้นทาง มิลาน-กรุงเทพฯ ความถี่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขนาด 298 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน เริ่ม 1 ก.ค. และเส้นทาง ออสโล-กรุงเทพฯ เป็นการกลับมาบินครั้งแรกตั้งแต่ปี 2563 ความถี่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขนาด 348 ที่นั่งต่อเที่ยวบิน เริ่ม 1 ก.ค. เช่นกัน

“ภาพรวมการจัดสรรเวลาตารางการบินฤดูร้อน (Summer Slots) เที่ยวบินระหว่างประเทศเข้าไทยจากทุกตลาดทั้งระยะใกล้และไกลในปี 2567 พบว่ามีจำนวนเที่ยวบินแบบประจำระหว่างประเทศรวม 139,324 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 28% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ซึ่งมี 109,455 เที่ยวบิน และแซงปี 2562 ก่อนโควิดระบาดไปแล้ว โดย ททท.มองเห็นโอกาสใหญ่จากตลาดเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่เราจะเข้าไปคว้าไว้”

 

'ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์' เล็งเปิด 4 เส้นทางสู่ยุโรป ประเดิมบิน 'ปราก' และ 'บูดาเปสต์'

ด้านสายการบินอื่นๆ ที่มีแผนเปิดเส้นทางใหม่สู่ตลาดระยะไกล เช่น สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” มีแผนจะเปิดให้บริการ 4 เส้นทางสู่ยุโรปปลายปีนี้ เช่น เส้นทาง ปราก-กรุงเทพฯ และ บูดาเปสต์-กรุงเทพฯ เริ่มบินช่วงตารางบินฤดูหนาว 2567/2568

นอกจากนี้สายการบิน “จอยอัป” (JoinUP) ซึ่งมี Join up เป็นโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ที่สุดของยูเครน มีแผนจัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ได้แก่ เส้นทาง วิลนีอุส (ลิทัวเนีย) - ภูเก็ต และเส้นทาง วอร์ซอ (โปแลนด์) - ภูเก็ต

 

ฟีดแบ็กงาน 'แอร์-เมซิ่ง ไทยแลนด์' 4 แอร์ไลน์สนใจเปิดรูทบินเพิ่ม

ศิริปกรณ์ เล่าว่า หลังจาก ททท.จัดงาน “แอร์-เมซิ่ง ไทยแลนด์ : ดิ อะเมซิ่ง แอร์ไลน์ แฟมทริป” เมื่อวันที่ 2-5 เม.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนนำเสนอศักยภาพของสนามบินในเมืองท่องเที่ยวของไทย มีตัวแทนจากสายการบินเข้าร่วมประมาณ 20 สายการบิน กระจายสำรวจ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-อู่ตะเภา และเส้นทางกรุงเทพฯ-กระบี่-สุราษฎร์ธานี พบว่าในไฮซีซันปลายปีนี้มี 4 สายการบินที่สนใจจะเปิดเส้นทางบินใหม่แบบประจำและเพิ่มเที่ยวบิน รวมมากกว่า 200,000 ที่นั่ง ประกอบด้วย

1.เอทิฮัด สายการบินแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อยู่ระหว่างเจรจาเปิดเส้นทางใหม่ อาบูดาบี - กระบี่ จากปัจจุบันให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง คือ อาบูดาบี – กรุงเทพฯ วันละ 2 เที่ยวบิน และ อาบูดาบี – ภูเก็ต วันละ 1 เที่ยวบิน 

2.เอเดลไวส์ (Edelweiss) บริษัทลูกของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า จากทำการบินเส้นทาง ซูริก (สวิตเซอร์แลนด์) – ภูเก็ต อยู่แล้ว สนใจเปิดเส้นทางใหม่สู่กระบี่เพิ่ม  

3.แอร์ อัสตานา สายการบินแห่งชาติของคาซัคสถาน จากปัจจุบันทำการบิน 2 เส้นทาง ได้แก่ อัลมาตี-กรุงเทพฯ และ อัลมาตี-ภูเก็ต สนใจเปิดเส้นทางใหม่สู่กระบี่ แต่ล่าสุดมีแนวโน้มบินลงสนามบินอู่ตะเภามากกว่า

และ 4.สปริงแอร์ไลน์ส ของจีน สนใจเพิ่มความถี่เส้นทางบินจากจีน เข้าเชียงใหม่ มากขึ้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...