ITD จ่อปิดดีลจีน 400 ล้านดอลลาร์ ซื้อหุ้นโปแตช 49% รอดเกณฑ์ต่างด้าว

รัฐบาลเร่งรัดให้กระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากโครงการมีความล่าช้าโดยถ้ามีปัญหาเงินทุนให้หาผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความพร้อม 

ล่าสุดบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งถือหุ้นในบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด สัดส่วน 90% และมีกระทรวงการคลังได้ถือหุ้น 10% ของทุนจดทะเบียน โดย ITD ได้เจรจากับบริษัทจีนเพื่อขายหุ้นเหมืองแร่โปแตช

ทั้งนี้ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด รับประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี โดยเป็นประทานบัตรการทำเหมืองประเภทที่ 3 การทำเหมืองใต้ดิน ประเภทแร่โปแตช เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2565 จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) 4 แปลง ของแหล่งแร่อุดรใต้ รวมเนื้อที่ 25,446 ไร่ ระยะเวลาประทานบัตร 25 ปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า บริษัท เอสดีไอซี ไมนิง อินเวสต์เมนต์ จำกัด (SDIC Mining Investment Co.) กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาที่มีความคืบหน้าไปมากในการเข้าซื้อหุ้น 49% ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองโปแตซในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก ITD

รายงานระบุว่า ข้อตกลงนี้คาดว่าจะมีมูลค่าอย่างน้อย 400 ล้านดอลลาร์ และอาจประกาศข่าวการบรรลุดีลเร็วที่สุดภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการสรุปข้อตกลงที่ชัดเจน และยังมีความเป็นไปได้เช่นกันที่การเจรจาจะไม่บรรลุผล

ด้านบริษัทอิตาเลียนไทย บริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตซ และบริษัท SDIC ยังไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธรายงานข่าวนี้แต่อย่างใด

ในขณะที่ราคาหุ้น ITD ปรับตัวขึ้นทันทีถึง 11% ซึ่งเป็นการปรับตัวบวกขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 สัปดาห์

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กเคยรายงานเมื่อเดือน ก.พ.ปีนี้ว่า บริษัทอิตาเลียนไทยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขายหุ้น 90% ในบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตซ โดยกำลังเจรจากับผู้สนใจซื้อหลายรายซึ่งรวมถึงนักลงทุนจากประเทศจีน และในเดือน เม.ย.2567 รองประธานบริหารของอิตาเลียนไทยยืนยันว่ากำลังเจรจาขายหุ้นเหมืองโปแตซ และจะเร่งขายสินทรัพย์เพื่อนำเงินไปชำระหนี้

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของอิตาเลียนไทยระบุว่า อิตาเลียนไทยเข้าซื้อกิจการเอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ป ในปี 2549 โดยได้รับสิทธิ์การสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่โปแตชคุณภาพสูงในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีศักยภาพการผลิตปีละ 2 ล้านตัน

ในขณะที่ SDIC Mining เป็นบริษัทที่ลงทุนด้านเหมืองแร่ที่ไม่ใช่ถ่านหินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นบริษัทลูกของบริษัท สเตท ดีเวลลอปเมนท์ แอนด์ อินเวสต์เมนท์ คอร์ป (SDIC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้งเพื่อการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในจีน

ทั้งนี้ มูลค่าตลาดของ ITD ดิ่งลงหนักจากมูลค่ากว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ลงมาเหลือเพียงกว่า 100 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทเพิ่งรายงานรายได้ไตรมาสแรกลดลงถึง 60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ราว 122 ล้านบาท

“จีน”รอดเกณฑ์ต่างด้าวถือหุ้น

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า การซื้อหุ้นจาก ITD สัดส่วนดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยยังถือหุ้นเกิน 50% ตาม พ.ร.บ.การทำเหมืองแร่ ซึ่งไม่ได้มีประเด็นห้ามบริษัทต่างชาติทำธุรกิจเหมืองแร่ ซึ่งที่ผ่านมา ITD  เคยมารายงานประเด็นดังกล่าวแล้ว

ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่กำกับดูแลโดยกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดว่ากิจการที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กิจการเหมืองแร่ต้องเป็นนิติบุคคลไทย ซึ่งถ้าจะเป็นต่างด้าวจะทำธุรกิจจะต้องไปอยู่ในบัญชีที่ 2 คือต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตร (ครม.) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ลงนามอนุมัติ

“ถ้าคนไทยยังถือหุ้นเกิน 50% ยังถือว่าเป็นบริษัทคนไทย เพราะ พ.ร.บ.แร่ ไม่ได้ห้ามผู้ลงทุนไทยหรือต่างชาติ โดยกรณีดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นทั้ง พ.ร.บ.แร่ และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว รวมทั้งขั้นตอนการสำรวจยิ่งไม่มีข้อห้ามใดๆ ต่างชาติก็สำรวจได้” นายอดิทัต กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้นของบริษัทจีนจะทำให้ ITD มีเงินที่จะลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ เพราะก่อนหน้านี้มีความกังวลว่า ITD ขาดสภาพคล่อง จะไปต่อได้หรือไม่ ดังนั้น การเจรจาครั้งนี้ถือว่าเหมืองแร่แหล่งนี้มีศักยภาพจึงตัดสินใจมาร่วมลงทุน และแสดงว่าโครงการนี้มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาและประสบความสำเร็จ

ไทยมีแร่โปแตชสำรองระดับโลก

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ไทยมีสำรองแร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี โดยประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยปีละ4 ล้านตัน มูลค่า 60,000 ล้านบาท เป็นปุ๋ยโปแตชเซียม 700,000 ตัน คิดเป็น 9,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันไทยมีศักยภาพในการผลิตโปแตสเซียมสูงมาก

รวมทั้ง ปัจจุบันมีผู้ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช 3 ราย ซึ่งทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้แก่

1.บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ได้รับประทานบัตรโครงการทำเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ บนพื้นที่สัมปทานทั้งหมด 9,707 ไร่ โดยประทานบัตรมีอายุ 25 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 6 ก.พ. 2558-5 ก.พ. 2583 กระทรวงการคลังผู้ถือหุ้น 20%มูลค่าการลงทุน 63,800 ล้านบาทกำลังการผลิตปีละ 1.23 ล้านตัน

2.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พื้นที่ 9,005 ไร่ ประทานบัตรอายุ 25 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 7 ก.ค.2558-6 ก.ค.2583กำลังการผลิตปีละ134,000 ตัน มูลค่าการลงทุน 3,000 ล้านบาท

3.บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ผู้รับประทานบัตรในโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จำนวน 4 แปลง ของแหล่งแร่อุดรใต้ รวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา โดยมีอายุประทานบัตร 25 ปี ลงวันที่ 23 ก.ย.2565 ถึง 22 ก.ย.2590 กระทรวงการคลังได้ถือหุ้น 10% มีแผนการผลิตปีละ 2 ล้านตัน มูลค่าการลงทุน 36,000 ล้านบาท

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...