“พิธีรับปริญญา ที่เมกา”

เหตุเพราะว่า สงครามกาซ่า มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต มากกว่า 35,000 คนแล้ว และยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลง นักศึกษากลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์ จึงออกมาประท้วงอิสราเอล รวมทั้งครูบาอาจารย์ทั้งสองฝ่าย ก็ร่วมออกโรงด้วย

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักศึกษาของมหาวิทยาลัยทาชายฝั่งตะวันออก คือ Columbia, Yale และ NYU ได้บุกเข้ายึดพื้นที่ของมหาวิทยาลัย เพื่อกางเต็นท์ประท้วง

นับเป็นการจุดกระแสที่ทำให้เกิดการลุกลาม ไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆทั่วประเทศ เช่นที่ Duke, UC Berkeley, USC, Wisconsin-Madison, Texas at Austin เป็นต้น

ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นจุดปะทุสำคัญ นักศึกษากลุ่ม Pro-Palestine ออกมาเรียกร้องให้อเมริกา ยุติการสนับสนุนอิสราเอล และให้มหาวิทยาลัยถอนเงินลงทุน ในบริษัทต่างๆที่ทำธุรกิจกับอิสราเอล

ย้อนไปเมื่อเดือนตุลาคม 2566 กองกำลังฮามาสบุกเข้าโจมตีอิสราเอล โดยฝ่ายหลังไม่ทันได้ตั้งตัว ทำให้ทหารและประชาชนอิสราเอลมากกว่าพันคน เสียชีวิต จำได้ไหมครับว่าทำให้แรงงานไทยที่นั่น ถูกฆ่าตายถึง 39 คน และถูกจับเป็นตัวประกันอีก 25 คนด้วย

อิสราเอลจึงบุกกลับเข้าล้างแค้น และโจมตีอย่างไม่หยุดยั้ง ผลคือทหารและประชาชนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซ่า เสียชีวิตไปแล้วมากมาย ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งการประท้วงครั้งนี้

แต่ที่น่าห่วงก็คือ การประท้วงได้มีการปลุกกระแส “Antisemitism” ด้วย ซึ่งหมายถึงการปลุกเร้าให้มีการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว” ทำให้นักศึกษารวมทั้งอาจารย์ชาวยิว วิตกเรื่องความปลอดภัย

มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็นแห่งแรกๆ ที่นักศึกษาบุกเข้าตั้งเต็นท์ และยึดอาคารเรียน และผู้บริหารก็พยายามแก้ไขสถานการณ์ โดยอธิการบดีหญิงแถลงว่า จะไม่ขอกำลังตำรวจนิวยอร์ค (NYPD) เข้าช่วยเหลือ

แต่เมื่อสถานการณ์ลุกลามไปเรื่อยๆ เธอก็ถูกกดดันอย่างหนัก จากศิษย์เก่าหลายคน เช่น Robert Kraft เจ้าของทีมฟุตบอล New England Patriots เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยก็จะอยู่ลำบาก

เธอจึงต้องขอให้ NYPD เข้ายึดอาคารเรียนกลับคืน และจับนักศึกษาดำเนินคดี ในขณะที่กำลังจะมีพิธีมอบปริญญาบัตร ต้นเดือนพฤกษาคมนี้พอดี

สถานการณ์ทำให้มีความเสี่ยงสูงว่า มหาวิทยาลัยจะจัดพิธีมอบปริญญาบัตร ได้หรือไม่ ซึ่งในที่สุดมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก็ต้องประกาศงดพิธียิ่งใหญ่นี้ เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และให้รับปริญญาบัตรกันเองที่แต่ละคณะ ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัยอื่นๆอีกหลายแห่ง ก็ประกาศยกเลิกเช่นกัน

ผมพลอยได้รับผลกระทบตรงนี้ไปด้วย เพราะว่าลูกสาวเป็นหนึ่งในบัณฑิต MBA ของโคลัมเบีย ซึ่งแม้งานพิธีระดับมหาวิทยาลัยจะถูกยกเลิกไป ก็ต้องไปร่วมงานเพื่อเป็นกำลังใจกันอยู่ดี เลยขอนำประสบการณ์มาแชร์ครับ

ผู้ปกครองจำนวนมาก เข้าแถวแบบงูเลี้อยเพื่อเดินเข้าปะรำพิธี คล้ายกับแถวเข้าเมืองที่สนามบินใหญ่ๆ แต่แถวยาวมาก และยังห้ามนำกระเป๋าขนาดใหญ่เกิน 5x7 นิ้วติดตัวไปด้วย ดังนั้นที่ตั้งใจว่าจะซื้อช่อดอกไม้ไปมอบให้ลูกสาว ก็กลัวว่าจะเป็นปัญหา อย่าดีกว่า

การงดจัดพิธียิ่งใหญ่ ทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่จากแคมปัส มาเป็นที่สนามกีฬา ด้วยการตั้งเต็นท์ขนาดใหญ่มากกลางสนามฟุตบอล และนำสุขาเคลื่อนที่มาตั้งเรียงราย

บัณฑิต MBA ในชุดครุยปริญญา ขึ้นไปบนเวทีทีละคนๆ แต่ไม่ได้ขึ้นไปรับปริญญานะครับ แค่ขึ้นไปจับมือกับคณบดี เท่านั้นเอง ยังดีที่มีการประกาศชื่อทุกคนเพื่อเป็นเกียรติ และเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก

ที่ไม่ได้ขึ้นไปรับใบปริญญา ก็เพราะเดี๋ยวนี้ อะไรๆก็ดิจิทัลหมดแล้วครับ ผมเองเพิ่งกลับจากอ๊อกซ์ฟอร์ดที่อังกฤษ เขาก็จะส่งวุฒิบัตรให้แก่ผู้บริหารที่ผมพาไปเรียนที่นั่น แบบดิจิทัลเท่านั้น

วันรุ่งขึ้น ผมแวะไปดู Stern School of Business ของ New York University ก็เห็นสร้างรั้วปิดกั้นด้านหน้าของตึก และไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเดินเข้าไปเลย เป็นผลจากการที่นักศึกษาประท้วงสงครามเช่นกัน

โลกมาถึงยุคดิจิทัลแล้ว แต่มนุษย์ยังคงรบราฆ่าฟันกันเหมือนเดิม และคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานแสนนาน ตราบเท่าที่มนุษย์ยังเป็นเช่นนี้

มาอยู่นิวยอร์ค และได้เห็นผลกระทบจากกลิ่นอายสงครามเช่นนี้ ทำให้อดนึกถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ John Lennon ไม่ได้ เขาถูกลอบยิงเสียชีวิต บนทางเข้าอพาร์ทเม้นท์ริม Central Park ในนิวยอร์ค เมื่อปี 2523 

ผมเดินผ่านอพาร์ตเม้นท์ของเขา พอตรงเข้าไปใน Central Park ก็ได้ยินเสียงเพลง “Imagine” ดังขึ้นเป็นระยะๆ จากศิลปินอิสระที่สลับกันมาร้องเพลงนี้ “Imagine all the people living life in peace……” หรือ “Imagine there’s no countries…..” หรือ “You may say I’m a dreamer….”

ผมขออนุญาต ร่วมฝันด้วยครับ เพราะถ้าฝันของเขาเป็นจริง เราคงไม่มีผู้คนในโลก ที่ต้องเสียชีวิตมากมาย ด้วยเหตุสงคราม และถ้าโลกไม่มีการแบ่งประเทศ อย่างที่เขาฝันไว้ เส้นแบ่งประเทศก็จะไม่มี เราก็จะไม่ต้องขอวีซ่าหรือเข้าคิวรอตรวจคนเข้าเมือง ที่ยาวนานอย่างทุกวันนี้

ฝันอันยิ่งใหญ่และงดงามของจอห์น เลนนอน นั้น แม้ผมจะอยากร่วมฝันด้วยสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็อดไม่ได้ ที่จะนึกถึงอีกเพลงหนึ่ง ซึ่งยิ่งใหญ่เช่นกัน นั่นคือเพลง “Imposssible Dream” เหตุที่นึกถึง ก็เพราะรู้สึกว่าฝันของจอห์น เลนนอน คงจะเป็นฝันที่เป็นไปไม่ได้…หรือเปล่านะ?

อ้อ…อีกคำถามหนึ่งในใจผมก็คือ “แล้วฝันที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ของคนไทย”… คืออะไรกันนะ?

ใครรู้ช่วยบอกด้วยครับ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...