MUJI หั่นราคา 20% ดึงลูกค้าซื้อซ้ำ! มุ่งสู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์สามัญประจำบ้าน

มูจิ (MUJI) แบรนด์มินิมอลไลฟ์สไตล์สัญชาติญี่ปุ่น ปักหมุดดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 ในรูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์ เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2556 ได้ก่อตั้ง บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด พันธมิตรทางธุรกิจให้ MUJI ในประเทศไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น 

ปัจจุบันธุรกิจของ MUJI ในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสินค้าจำหน่ายมากกว่า 5,000 รายการ มีเครือข่ายสาขา 35 แห่งทั่วประเทศ ควบคู่การมุ่งพัฒนาสินค้าใหม่ให้เหมาะกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ 

 

 

"การเติบโตของ MUJI ขับเคลื่อนภายใต้กลยุทธ์ด้านราคามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562  ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา MUJI  มีการปรับราคาสินค้าในทุกๆ หมวดหมู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทมีฐานลูกค้าในประเทศไทย ที่ซื้อสินค้า MUJI ซ้ำเป็นประจำและเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้ยอดขายมีการเติบโตสูงขึ้นเป็นอย่างมาก"

อกิฮิโร่ คาโมการิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า MUJI มุ่งก้าวสู่การเป็นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์สามัญประจำบ้านในใจคนไทยทั่วทุกภูมิภาค และเป็นคอมมูนิตี้ที่มีส่วนร่วมในการเชื่อมโยง และตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้คนในแต่ละพื้นที่ ให้สามารถเข้ามาชอปปิง แฮงค์เอ้าต์ พบปะ พูดคุย และรับประทานอาหารภายในร้าน MUJI ได้เป็นประจำ 

เป็นที่มาของการนำกลยุทธ์ทางด้านราคามาใช้เพื่อเป็น 'ประตูบานแรก' ให้คนไทยเข้าถึง เปิดรับ และมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์ในการใช้สินค้าและบริการที่หลากหลายในราคาที่คุ้มค่า ตามแบบฉบับของ MUJI ได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบายมากขึ้น

บริษัทฯ เริ่มดำเนินกลยุทธ์ด้านราคามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เพื่อนำพาแบรนด์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ต้องการซื้อสินค้า MUJI สำหรับใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างกว้างขวาง ภายใต้ราคาที่เข้าถึงง่าย!

ปัจจุบัน มูจิ ประเทศไทย มีสินค้าจัดจำหน่ายกว่า 5,000 รายการ มีสินค้าสำหรับชีวิตประจำวันที่มีราคาต่ำกว่า 300 บาท กว่า 2,500 รายการ หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของสินค้าทั้งหมด

ล่าสุด บริษัทสานต่อกลยุทธ์ทางด้านราคาอีกครั้งผ่านการนำเสนอสินค้าไลฟ์สไตล์ที่สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันเพิ่มเติมกว่า 126 รายการ ในราคาที่ปรับลดลงเฉลี่ยกว่า 20% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมเป็นต้นไป ในราคาเริ่มต้นเพียง 29 บาท ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ตามอินไซต์ด้านพฤติกรรมและความต้องการในการใช้งานของกลุ่มเป้าหมาย

โดยมีสินค้าไฮไลต์โดดเด่นใน 4 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 

1. กลุ่มรองเท้าและกระเป๋า (รุ่นยอดนิยม) ประกอบไปด้วย รองเท้าผ้าใบ กระเป๋าเป้สะพายหลัง กระเป๋าเดินทาง

2. กลุ่มของใช้ในบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ประกอบไปด้วย ผ้าปูโต๊ะ อุปกรณ์ตากผ้า โซฟาบีนแบค หมอนโพลีเอสเตอร์ ผ้านวม เบาะรองนั่ง เฟอร์นิเจอร์ที่ตั้งถาด ชั้นไม้สำหรับวางหนังสือ ชั้นไม้สำหรับวางรองเท้า อุปกรณ์เครื่องครัวไม้ยางพารา

3. กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า

4. กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (MUJI Food) ประกอบไปด้วย น้ำโซดา (Sparkling Water) และ Curry (แกงกะหรี่สำเร็จรูป)

นอกเหนือจากกลยุทธ์ด้านราคา MUJI ยังมุ่งเดินหน้ากลยุทธ์ Localization ในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ มีการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ที่มีจำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะในสาขาของร้านค้า MUJI ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนครบทุกหมวดหมู่ ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และของใช้ในบ้าน

โดยคำนึงถึงดีไซน์และฟังก์ชั่นที่เหมาะสมกับบริบทแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะนิสัยของผู้คน สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และวิถีชีวิตของคนไทยอีกด้วย ซึ่งในปี 2567 จะมีการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ เหล่านี้มากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจงของคนไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลาย ควบคู่กับการยกระดับร้านค้าให้เป็นไลฟ์สไตล์สโตร์ที่สามารถเข้ามาใช้ชีวิตประจำวัน ได้อย่างครบครันในทุกมิติ

รวมทั้งเร่งขยายสาขาใหม่ไปยังทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อให้เข้าถึงคนไทยในทุกๆ พื้นที่อย่างครอบคลุม ซึ่งมีการขยายสาขาไปแล้วทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการขยายสาขาไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด อาทิ เซ็นทรัล ขอนแก่น ในช่วงเดือนมิถุนายน และเซ็นทรัล อุดรธานี ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้

อริญา พันธุมโกมล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท มูจิ รีเทล ประเทศไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า กว่า 3 ปี ที่ผ่านมา MUJI มุ่งสื่อสารสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด เพื่อให้ลูกค้ารับรู้และเข้าใจความมุ่งมั่นของแบรนด์ในการเป็นแบรนด์สินค้าในชีวิตประจำวันในราคาที่เข้าถึงได้ในมาตรฐานของสินค้าแบบญี่ปุ่น ผ่านสื่อป้ายโฆษณานอกบ้านทั้งในรูปแบบของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และป้ายโฆษณาในรูปแบบดิจิทัลในจุดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละจังหวัดได้เป็นจำนวนมาก

หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านรายการวิทยุท้องถิ่น รวมทั้งรถกระจายเสียง การใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นที่รู้จักและมีอิทธิพลต่อการสร้างการรับรู้และการตัดสินใจซื้อของคนในแต่ละพื้นที่ พบว่า ได้การตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ทั่วประเทศไทย ด้วยทราฟฟิกการเข้าใช้บริการที่มากขึ้นกว่า 20%

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...