'ไทย' ชะลอแผนปล่อยเงินกู้เมียนมา หลังสงคราม‘เมียนมา’ส่อลากยาว

เมียนมาเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดไทยมีพรมแดนที่ติดต่อกันทั้งทางบกและทางทะเลกว่า 2,400 กิโลเมตร มีมูลค่าการค้าชายแดนรวมกันสองประทเศมากถึง 4,400 ล้านดอลลาร์ ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา (เม.ย.2566-มี.ค.2567)

แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์การเมืองในเมียนมาจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการสู้รบกันระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาและฝ่ายต่อต้านทำให้เศรษฐกิจภายในเมียนมาได้รับผลกระทบ หากแต่ย้อนไปก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีเมียนมาเคยได้รับการจับตามองว่าจะเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ในทางเศรษฐกิจของอาเซียน มีการลงทุนทางตรง (FDI) เข้าไปในเมียนมาจำนวนมาก 

ที่ผ่านมาประเทศไทย ในฐานะเพื่อนบ้านได้มีการหารือกับรัฐบาลเมียนมาอย่างต่อเนื่อง และให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านการเงินและวิชาการอย่างไรก็ตามในปัจจุบันโครงการเหล่านั้นมีความล่าช้าออกไปจากความไม่สงบที่เกิดขึ้น

พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการให้ความช่วยเหลือที่ไทยให้กับเมียนมาต้องชะลอออกไปและต้องทบทวนใหม่ 

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการต่างๆ ที่มีเคยศึกษาโครงการหรืออยู่ระหว่างศึกษาโครงการเพื่อขออนุมัติที่ปรึกษาโครงการนั้น ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการได้ เนื่องจากเหตุผลในเรื่องของความปลอดภัยของที่ปรึกษาโครงการที่ลงไปติดตามความคืบหน้าโครงการต่างๆ

นอกจากนี้ โครงการที่เคยมีการอนุมัติโครงการไปแล้วก็ต้องมีการทบทวนวงเงินและระยะเวลาในการดำเนินโครงการใหม่ เนื่องจากต้นทุนต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาที่ผ่านไปจากที่เคยมีการอนุมัติไว้ ซึ่งขณะนี้คงต้องรอให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลายลงและกลับเป็นปกติก่อน จึงจะสามารถกลับมาหารือเกี่ยวกับโครงการที่เคยมีความร่วมมืออยู่อีกครั้ง

“ไทยกับเมียนมาเราเป็นเพื่อนบ้านกันยังไงในเรื่องของความช่วยเหลือที่จะทำให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันก็ต้องมีอยู่แล้ว แต่ว่าในขณะนี้โครงการต่างๆ ต้องชะลอไปก่อน เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ต้องรอให้สถานการณ์กลับมาปกติก่อน”

ปล่อยกู้เพื่อนเมียนมาแลัว 2.4 พันล้าน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สพพ.ได้ให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมา 7 โครงการ วงเงินรวม 2,425.92 ล้านบาท โดยเป็นความช่วยเหลือทางการเงิน 2,358.92 ล้านบาท และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ 67 ล้านบาท

สำหรับโครงการที่ให้ความช่วยเหลือแล้วอยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ 

- โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้ง (เขต North Okkalapa และเขต North Dagon) ซึ่งโครงการนี้มีวงเงินที่ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลเมียนมา ประมาณ 1,458.2 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการยังดำเนินการอยู่แต่ล่าช้ากว่าแผน

- โครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี (การปรับปรุงระบบน้ำประปาและพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ) โครงการนี้ฝ่ายไทยได้อนุมัติเงินกู้ให้ประมาณ 777.7 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน สถานะโครงการปัจจุบันไม่ได้มีการลงนามในสัญญาเนื่องจากเมียนมาส่งหนังสือมาขอยกเลิกสัญญาเงินกู้

- โครงการการจ้างออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างสายส่ง 66 kV จากสถานีไฟฟ้าย่อยเมียวดีถึงสถานีไฟฟ้าย่อยสุคาลิ และการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยสุคาลิ 66/11 kV การปรับปรุงสถานีไฟฟ้าย่อยเมียวดี 230 kV ในจังหวัดเมียวดี วงเงิน 20 ล้านบาท 

สำหรับสถานะโครงการ ณ เดือน ก.พ.2567 ผู้ให้บริการอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำ รายงานขั้นกลาง (Interim Report) รวมทั้งต้องพิจารณาสถานการณ์ ความไม่สงบในเมียนมาเพื่อเข้าพื้นที่โครงการต่อไป

โครงการศึกษาการปรับปรุงถนนสองช่องทางเชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายสู่ชายแดนไทย-เมียนมา (บ้านพุน้ำร้อน - ทวาย) ปัจจุบันโครงการยังไม่มีความคืบหน้าโดยก่อนหน้านี้รัฐบาลเมียนมาเคยขอสนับสนุนเงินกู้ซอฟท์โลนจากรัฐบาลไทยในการสนับสนุนการสร้างถนนเชื่อมโยงจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมายังบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจบุรี

อย่างไรก็ตาม โครงการที่ สพพ. เคยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมาและดำเนินการเสร็จแล้ว ได้แก่ 

โครงการถนนเชื่อมโยงเส้นทางไทย-พม่า จากเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี ระยะทาง 17.35 กิโลเมตร วงเงินก่อนสร้าง 122.9 ล้านบาท โดยก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน พ.ค.2549 ส่วนโครงการก่อสร้างถนนจากด่านเจดีย์สามองค์พญาตองซู–ทันพยูไซยัด (ช่วงท้ายหมู่บ้านพญาตองซู-บ้านช่องสง) และอาคารด่านชายแดน ได้มีการศึกษาแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน มิ.ย.2557

ทั้งนี้ สพพ. ถือเป็นกลไกที่สำคัญของรัฐบาลในการส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลไทย ด้านการต่างประเทศและการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคและอนุภูมิภาคให้เกิดการขยายตัวด้านการค้า การลงทุน กระจายโอกาสความเจริญเติบโต และลดความเหลื่อมล้ำทาง เศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคการให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ก็จะส่งผลดีต่อทางเศรษฐกิจและการค้ากลับมายังประเทศไทยด้วย

ตลอดการดำเนินงาน 19 ปีที่ผ่านมาของ สพพ.มีการให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ 7 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 96 โครงการ วงเงินช่วยเหลือรวม 22,3326.98 ล้านบาท แบ่งเป็นการช่วยเหลือทางการเงิน 52 โครงการ วงเงินรวม 22,295.69 ล้านบาท และการอบรมถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ วงเงินรวม 31.29 ล้านบาท

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...