โลกเปลี่ยนเร็ว รีเทลเร่งปรับ มุ่งขยับสู่กรีนสโตร์

เป็นคำถามของหลายผู้ประกอบการจะปรับกลยุทธ์และชิงชัยในสมรภูมิธุรกิจอย่างอย่างไร! ... ท่ามกลางโลกที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งปัจจัยภายนอกเปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่ยุติ ปัจจัยเรื่องโลกร้อน ที่กระทบต่อทั้งพืชผลทางการเกษตรให้ผลผลิตลดน้อยลง มีผลต่อต้นทุนธุรกิจในระยะยาว

รวมถึงมีปัจจัยในประเทศจากภาพรวมกำลังซื้อและเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม ทำให้หลายธุรกิจให้น้ำหนักในเรื่องความยั่งยืน เป็นหนึ่งแกนหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ขององค์กร หรืออีกด้านปรับมาวางกลยุทธ์ ร่วมยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ มุ่งเป็นสิ่งใหม่และมีแข่งน้อยราย ตามแนวทางน่านน้ำสีน้ำเงิน (Blue ocean strategy) แทนการแข่งขันเฉพาะราคาแบบดุเดือดในปัจจุบัน! ที่แข่งไป กำไรยิ่งน้อยลง

 

หากมาประเมินในภาคธุรกิจรีเทล ที่มีขนาดธุรกิจใหญ่ในประเทศไทย จะเห็นว่าได้ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ทั้งการวางนโยบายการลงทุนขยายสาขา และการเลือกใช้สินค้าที่มุ่งในเรื่องกรีนโปรดักท์ ร่วมลดต้นทุนการดำเนินงานในระยะยาว และมุ่งลดการใช้พลังงาน 

อีกทั้งมีการประเมินจาก ศูนย์วิจัยคอนเซปต์แห่งอนาคต บารามีซี่ แล็บ กับการวางโรดแมปไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายของทุกธุรกิจ จำเป็นต้องผนึกกำลังร่วมมือทุกภาคส่วน และเดินหน้าให้สำเร็จ รวมถึงต้องมีการลงทุนใหม่ ปรับกระบวนการผลิต และภาครัฐต้องมุ่งส่งเสริม โดยผลจากการปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน อาจเห็นผลได้เด่นชัด ในช่วง 20 ปีเป็นต้นไป เป็นจุดพลิกสร้างผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

 

 

ศูนย์การค้าเซ็นทรัลสู่โลว์คาร์บอนมอลล์

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้มีการแผนเปิด "ศูนย์การค้า เซ็นทรัล เวสต์วิลล์" โดยเป็นต้นแบบความยั่งยืนแห่งอนาคต ทั้งการออกแบบ  “Semi-Outdoor and Low Carbon Mall” ที่มีพื้นที่เปิดโล่ง30-40% ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่า ศูนย์การค้าแห่งอื่นๆ การจัดทำดีไซน์ Façade พร้อมเปิดรับลมและแสงเข้ามาในพื้นที่ ทำให้อากาศไม่ร้อนและได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติ ทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าศูนย์การค้าทั่วไป

อีกทั้งได้มุ่งนำเสนอพื้นที่สีเขียวมากขึ้น จึงกลายเป็นศูนย์การค้าสีเขียว ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Eco-Friendly Mall และเป็นศูนย์การค้าต้นแบบที่โลว์คาร์บอน อย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกของไทย พร้อมจัดทำ EV Charges ให้บริการรวม 23 จุด สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด โดยศูนย์การค้า เซ็นทรัล เวสต์วิลล์"จะเป็นต้นแบบการสร้าง รีเทล ในอนาคตต่อไป

ตามนโยบายของเซ็นทรัลพัฒนา ได้ประกาศไว้ในช่วงที่ผ่านมา มุ่งเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สู่ความยั่งยืน หรือ The Ecosystem for All ภายใต้หลัก ESG สู่เป้าหมาย Net Zero 2050 โดยบริษัทคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะลดการใช้พลังงานลง 30%  ซึ่งตามแผนธุรกิจในช่วงเวลา 5 ปี (2566-2570) ได้วางงบกว่า 10,000 ล้านบาท ลงทุนด้านความยั่งยืน (Sustainability) ผ่านการดำเนินนโยบายอย่างครบ ทั้งการมุ่งใช้โซลาร์เซลล์ ติดตั้งด้านบน เพื่อร่วมลดการใช้ไฟฟ้า ไปจนถึง การผนึกพาร์ทเนอร์ และร่วมมือชุมชน ในการขยายยุทธศาสตร์ความยั่งยืนรวมกัน รวมถึงมีการติดตั้ง สถานีจ่ายไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าด้วย

โลตัส สู่กรีนสโตร์ - ขยายสถานีชาร์จรถไฟฟ้า

ห้างค้าปลีกโลตัส ได้ดำเนินนโยบาย “กรีนสโตร์” มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว โดยสาขาแรกคือ พระรามหนึ่ง นับไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกในไทยที่ดำเนินการในเรื่องนี้ ก่อนขยายไปสาขาอื่นๆ เน้นดีไซน์อาคารประหยัดพลังงานและการใช้โซลลาร์เซลล์ มาดำเนินการติดตั้งร่วมลดใช้พลังงาน การใช้ระบบบำบัดน้ำ และระบบระบายอากาศ

พร้อมกันนี้ ยังมุ่งเรื่องพลังงานสะอาด ทั้งการเปิดให้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในสาขาของโลตัส ทั้งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ และพร้อมขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่สนใจ เพื่อเติมเต็มโลตัสในการเป็นจุดหมายปลายทางการใช้ชีวิตแบบอัจฉริยะของทุกคนในชุมชน และขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

พร้อมมีการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาสาขาและศูนย์กระจายสินค้า โดยมีแผนงานติดตั้ง 1,042 สาขา มีกำลังผลิตรวม 135mw ภายในปี 2567 และมีการใช้รถไฟฟ้า (EV) ในการขนส่งสินค้า ซึ่งตามแนวทางขับเคลื่อนความยั่งยืนของโลตัส ประกอบด้วย 4 มิติหลักทั้ง เพื่อนพนักงาน (People) ผลิตภัณฑ์ (Products) ชุมชน (Places) และสิ่งแวดล้อม (Planet) โดยบริษัทได้วางแผนจะ มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ปี 2593 ซึ่งในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา โลตัสสามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 18 % เป็นผลมาจากการขยายการใช้พลังงานหมุนเวียน และมาตรการประหยัดพลังงาน

ท็อปส์ หันใช้อีโคแพ็คเกจจิ้ง ย่อยสลายได้รายแรก

ท็อปส์ ค้าปลีกกลุ่มฟู้ด จากเซ็นทรัลรีเทล ได้มีการจัดทำ กรีนสโตร์เช่นกัน โดยมีสาขาแรกกับ ท็อปส์  (Tops Green) ในตลาด ‘จริงใจมาร์เก็ต เชียงใหม่’  วางรูปแบบให้เป็น สโตร์สีเขียวที่สนับสนุนคนในพื้นที่และเกษตร ทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในพื้นที่นำสินค้ามาจำหน่ายรวม 1,200 รายการ รวม 13 ชุมชน พร้อมเน้นสินค้าออร์แกนิค รวมถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์และวัสดุรีไซเคิล

อีกทั้งมีการทำโครงการ “สถานีเติมผลิตภัณฑ์ หรือ รีฟิล สเตชั่น” แห่งแรกที่ ท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต ที่เปิดลูกค้าสามารถนำบรรจุภัณฑ์เดิมที่ทำความสะอาดแล้ว มาเติมผลิตภัณฑ์น้ำยาปรับผ้านุ่มจากตู้ รีฟิลสเตชั่น โดยการเติมผลิตภัณฑ์จากตู้รีฟิลสเตชั่น ช่วยลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 30 %

ล่าสุดได้เขย่าตลาดรีเทล กับการจัดทำ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก สำหรับเนื้อสัตว์ ถือเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าแรกในไทย ใช้ผลิตภัณฑ์จากเยื่อพืชธรรมชาติ 100% และสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ภายใน 45 วัน เข้ามาทดแทนการใช้พลาสติก

บรรจุภัณฑ์ผลิตจากเยื่อไม้ไผ่ 1 ชิ้น ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 64 กรัม โดยปัจจุบันท็อปส์ หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่ทั้งกลุ่มสินค้าเนื้อหมูและไก่รวม14 รายการ ผ่านทั้งท็อปส์ และท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์ อีกทั้งสนใจขยายไปในสินค้าอื่นๆ ทั้งเนื้อวัวและเนื้อแกะ รวมถึงขยายสู่ท็อปส์ เดลี่ โดยประเมินว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 3 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปีนี้

สำหรับบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน ทำจากของเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ชานอ้อย และผักตบชวา ส่วนฝากล่องทำมาจากพลาสติกใส PET รีไซเคิลได้ 100% จึงปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยท็อปส์ มีแผนปรับใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกับผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ อีกในอนาคต โดยเบื้องต้น ตั้งเป้าช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกสำหรับเชอร์รี่สดรวมถึงผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสัตว์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 45 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ในปีนี้

"สเตฟาน คูม" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฟู้ด เซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า กลยุทธ์ของบริษัทได้วางแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงมีการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ทดแทนการใช้พลาสติก ทั้งหมดสอดรับการแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ตามยุทธศาสตร์ของเซ็นทรัล รีเทล

วัตสัน มุ่งกรีนสโตร์-สินค้าความงามรักษ์โลก

วัตสัน ร้านสุขภาพและความงาม เปิดโฉมสาขา กรีนสโตร์แห่งแรกในไทย สาขาใจกลางเมือง กับ "สยามสแคร์" นำเสนอคอนเซ็ปต์ร้านตามแนวทางความยั่งยืน และการดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ และวัสดุรีไซเคิล รวมถึงนำเสนอกรีนโปรดักส์ ไทย อีกทั้งมีการนำรถบรรทุกและรถปิคอัพไฟฟ้า มาใช้สำหรับการจัดส่งสินค้า พร้อมมีแผนเพิ่มสัดส่วนการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนมากขึ้น

"พสิษฐ์ มั่นคงขันติวงศ์" กรรมการผู้จัดการ วัตสัน ประเทศไทย ระบุถึง แผนของวัตสัน ในปี 2567 พร้อมเปิดสาขาใหม่รวม 50 สาขา เพื่อสร้างสาขาให้เข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศได้ง่ายที่สุด ซึ่งภาพรวมในปัจจุบัน วัตสันมีสาขาทั่วประเทศ จำนวนกว่า 700 สาขา ครอบคลุมในทำเล 77 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา วัตสัน ได้มุ่งขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสุขภาพและความงาม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยกตัวอย่างกับ ครีมกันแดด ที่เป็นมิตรต่อปะการัง โดยภาพรวมจึงมีสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 1,800 รายการ และมีการผลิตภัณฑ์ที่สามารถรีฟิลได้ เพื่อร่วมลดใช้บรรจุภัณฑ์ การใช้กระดาษที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งหมด เป็นการขยับครั้งสำคัญของรีเทลไทย สู่การมุ่งไปสู่ยุทธศาสตร์ความยั่งยืน สอดรับกับธุรกิจต่างๆ ในโลก 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...