ตรวจงาน “สี จิ้นผิง” ทัวร์ 3 ชาติยุโรป ‘จีน’ ได้-เสีย อะไรบ้าง?

จากทริปเยือนยุโรปของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์กมองว่า การเยือนฝรั่งเศส 2 วัน ของสี เพื่อพบปะกับ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่ง ฝรั่งเศส ดูไม่มีอะไรพิเศษมากไปกว่าการได้ถ่ายภาพร่วมกันและรับประทานอาหารท้องถิ่น แต่การที่สีไปเยือนยุโรปฝั่งตะวันออก พิสูจน์ให้เห็นว่า เกิดประสิทธิผลมากกว่า เพราะปธน.สีได้เซอร์เบียเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนวิสัยทัศน์ในด้านระเบียบโลก และจีนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นระหว่างฮังการีและสหภาพยุโรป (อียู) 

แม้สีหลีกเลี่ยงพูดถึง “สงครามเย็นรอบใหม่” แต่ดูเหมือนว่าการทูตของเขากลับฟื้นสงครามเย็นระหว่างยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันตกขึ้นมา ซึ่งดูได้จากผลงานในทริปเยือนยุโรปของปธน.สี จิ้นผิงครั้งนี้

โน้มน้าวได้แต่ “ไม่เปลี่ยนจุดยืน”

แม้ปธน.มาครงสามารถโนมน้าวผู้นำจีนให้ใช้อำนาจของตนผลักดัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่ง รัสเซีย ยุติสงครามในยูเครน แต่จุดยืนของสียังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

“จีนเข้าใจถึงผลสะท้อนกลับของวิกฤติยูเครนต่อผู้คนในยุโรป” สีเผยผ่านบทความพิเศษของหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Figaro ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจของสีมากที่สุดแล้ว นับตั้งแต่เกิดสงคราม

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน” ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่เข้าร่วมประชุมไตรภาคีร่วมกับสีและมาครง ณ กรุงปารีส ได้ย้ำว่า ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นต่อยูเครนและยุโรปจาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน นั้น ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของอียูและจีนด้วย 

ต่อมาสีก็ตอบโต้แรงกดดันเกี่ยวกับสงครามยูเครนจากอียู โดยกล่าวเตือนว่า จีนคัดค้านการใช้ความขัดแย้งเป็นเครื่องมือวิพากษ์วิจารณ์ และหมิ่นประสามประเทศที่สาม (ซึ่งหมายถึง “จีน”)

บลูมเบิร์กระบุด้วยว่า หากสีหวังจะสร้างกำแพงกั้น(ความสัมพันธ์)ระหว่างอียูและสหรัฐ คงไม่สำเร็จมากนัก เพราะหลังฟอน แดร์ ไลเอิน ประชุมกับสี เธอบอกว่า อียูพร้อมใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีต่อต้านสิ่งที่เธอเรียกว่า แนวทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน ที่เป็นข้อกังวลในสหรัฐเช่นกัน แต่สีปฏิเสธคำกล่าวอ้างทั้งหมดอย่างแข็งขัน

ฮังการีที่รัก?

ในทริปเยือน ฮังการี ปธน.สีได้ประกาศการลงทุนล็อตใหม่ และยกย่อง “วิกเตอร์ ออร์บาน” นายกรัฐมนตรีฮังการีว่าเป็นบุคคลต้นแบบของความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อียู ในแบบที่ควรจะเป็น และสียังให้คำมั่นว่าจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยกระจายสินค้าจากโรงงานจีนทั่วถึงทั้งกลุ่มการค้าด้วย

ก่อนหน้านี้ “บีวายดี” ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน ได้เลือกฮังการีเป็นที่ตั้งโรงงานแห่งแรกในยุโรป ซึ่งฮังการีเองก็เป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ ขณะเดียวกันรัฐบาลฮังการีที่ขาดแคลนเงินสด ก็กำลังจัดหาเงินลงทุน และแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่อยู่พอดี

ตามข้อมูลของ “ปีเตอร์ ซิจจาร์โต” รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า ในบรรดาข้อตกลงต่าง ๆ ที่จีนและฮังการีลงนามนั้น รวมงบประมาณสำหรับการปรับปรุงเครือข่ายระบบรางเก่าแก่ของประเทศด้วย และเป็นงบฯเพื่อการก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างสนามบินบูดาเปสต์ และในตัวเมืองของเมืองหลวงที่ล่าช้ามานาน

นอกจากนี้ ฮังการีจะพยายามร่วมมือกับหัวเว่ยอย่างใกล้ชิด เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ดิจิทัล

เข้าหายุโรปตะวันออก (อีกครั้ง)

ในการเยือนฮังการี สีได้ยกย่องนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระของออร์บาน และขอให้บูดาเปสต์เป็นผู้นำด้านการสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคยุโรปกับจีน ซึ่งนี่ไม่ใช่ความพยายามแบ่งแยกภูมิภาคครั้งแรกของจีน เพราะในปี 2555 รัฐบาลปักกิ่งเคยจัดตั้งกลไกเพื่อเสริมแกร่งความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปตอนกลางและประเทศในยุโรปตะวันออก16 ประเทศมาแล้ว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...