กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก้าวสู่ปีที่ 82  ลุยเจรจา FTA แก้อุปสรรคการค้า

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านการค้าระหว่างประเทศ และแผนการทำงานครึ่งปีหลัง ของปี 2567 ในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ครบรอบ 82 ปี ว่า กรมได้ขานรับนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมเร่งการเจรจาเชิงรุก เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ๆ รวมทั้งผลักดันการใช้ประโยชน์ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย SMEs โดยเฉพาะรายเล็ก ให้สามารถปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับกฎกติกาใหม่ของโลก พร้อมทั้งนำผลของการเจรจาไปสื่อสารทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลก  

กรมได้เร่งรัดการเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของกรม “ขับเคลื่อนการเจรจาการค้าเชิงรุก เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ครอบคลุม 80% ของการค้าไทยกับโลก ภายในปี 2570” ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2567 ไทยได้ร่วมลงนาม FTA กับศรีลังกา ซึ่งนับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย และยังได้ผลักดันการเจรจาจัดทำ FTA ฉบับใหม่ ได้แก่ ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และการอัปเกรด FTA ที่มีอยู่เดิม ในกรอบอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ให้กับผู้ประกอบการไทย

นอกจากนี้ กรมยังได้เปิดเจรจา FTA กับตลาดใหม่ๆ อาทิ เกาหลีใต้ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 ไทยและเกาหลีใต้ ได้ร่วมลงนามเอกสารขอบเขต (TOR) สำหรับการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี ถือเป็นการนับหนึ่งในการเริ่มต้นการเจรจา FTA ระหว่างกัน รวมทั้งได้ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะเริ่มเจรจาจัดทำ FTA ไทย - บังกลาเทศ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และสร้างแต้มต่อให้ภาคเอกชนไทยเข้าสู่ตลาดบังกลาเทศและเอเชียใต้

นางสาวโชติมา  กล่าวว่า  สำหรับการทำงานในช่วงครึ่งปีหลัง กรมมีแผนเข้าร่วมการประชุมสำคัญ อาทิ การประชุมหารือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ณ กรุงเทพฯ การประชุมคณะกรรมการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA-TNC) ครั้งที่ 10 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม การประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย - EU รอบที่ 3 ณ ประเทศเบลเยียม การประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย - EFTA รอบที่ 10 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FTA อาเซียน - แคนาดา ครั้งที่ 8 ณ กรุงเทพฯ การประชุมเจรจายกระดับ FTA อาเซียน - จีน (ACFTA) รอบที่ 9 ณ กรุงเทพฯ และการประชุมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย - เกาหลี ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ กรมยังมีแผนใช้เวทีการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า และกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ มีแผนจะประชุม JTC กับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ภูฏาน มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และจีน

นางสาวโชติมา กล่าวว่า กรมยังประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และยังได้จับมือกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ศอ.บต. ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำผลสำเร็จจากการเจรจา FTA ไปชี้ช่องโอกาสและลู่ทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการทำตลาดต่างประเทศ

นอกจากการเจรจาจัดทำ FTA แล้ว กรมยังให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ในภาคการผลิต ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA แบบถาวร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือฯ โดยพิจารณาตามความคิดเห็นที่ได้รับ รวมถึงการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องและหลักเกณฑ์ในการใช้เงินกองทุน เพื่อประกอบการเสนอ ครม. ตามกระบวนการตรากฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ กรมยังมีศูนย์บริการข้อมูล FTA Center ณ ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี (FTA) อัตราภาษี พิกัดศุลกากร ข้อมูลผู้นำเข้า-ส่งออก และสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยให้บริการข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยที่สุด และยังสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซต์ http://ftacenter.dtn.go.th หรือ Call Center 0 2507 7555 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จาก FTA ถือเป็นหนึ่งกลไกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...