Sell in May จะเกิดหรือไม่ Stay Invested อย่างไร เพื่อรับมือความผันผวนของตลาด

เข้าสู่เดือน พ.ค. ฤดูร้อนของฝั่งตะวันตก กับการกลับมาของกระแส ‘Sell in May and Go Away’ หรือ การขายสินทรัพย์เสี่ยงจำพวกหุ้นในเดือน พ.ค. โดยแนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ หากแต่ถูกพูดถึงจากนักลงทุนทั่วโลกทุกปี ตามความเชื่อที่ว่านักลงทุนมักขายทำกำไรในเดือนนี้ หลังรับรู้ทิศทางผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสหนึ่งแล้ว

ย้อนหลังไป 14 ปี ในช่วงปี 2553-2566 พบว่า เดือน พ.ค. มักเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวลงของตลาดหุ้น โดยสถิติในเดือนนี้ ดัชนีหุ้นโลก MSCI World ปิดลบเฉลี่ย -1.2% และพบว่ามีจำนวน 7 ครั้ง จากทั้งหมด 14 ครั้ง ที่เดือน พ.ค. ให้ผลตอบแทนติดลบ ดังนั้น จึงมีโอกาสที่เราอาจเห็นการเกิด Sell in May อีกครั้งในปีนี้

สำหรับในเดือน พ.ค. ปี 2567 นักลงทุนอาจต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น จากความไม่แน่นอนในตลาดที่ยังคงอยู่ ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่ค้างสูงนานกว่าคาด และระดับราคาของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้นสูงจนอยู่ในระดับตึงตัว

หาก Sell in May กลับมาเกิดขึ้นจริง แล้วนักลงทุนควรรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร? 

เมื่อประเมินสถานการณ์อย่างระมัดระวังตามปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ข้อ พบว่า แม้สงครามอาจยังไม่จบในระยะเวลาอันสั้น แต่ระดับความรุนแรงอาจไม่เลวร้ายอย่างที่หลายคนเป็นกังวล และมองว่า ราคาหุ้นที่แพงขึ้นมาแล้ว แต่หากเศรษฐกิจยังขยายตัวไปได้ หุ้นเหล่านั้นก็มีโอกาสสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้นในระยะยาวได้เช่นกัน ดังนั้น Sell in May ที่เกิดขึ้นก็อาจเป็นเพียงการขายทำกำไรในระยะสั้นและจะไม่ได้รุนแรงเหมือนที่กังวลกันก็เป็นได้ 

อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนของตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม และ ความกังวลใจต่อความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เรากลับมาพิจารณาว่า มีโอกาสการลงทุนอย่างไรอีกบ้างที่เป็นไปได้ บนข้อสมมุติที่ผมตั้งขึ้นไว้ว่า เราควรที่จะ Stay invested หรือเลือกที่จะลงทุน ไม่หลีกเลี่ยงถือเงินสดที่หาผลตอบแทนไม่ได้และสูญเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว 

หากนำสองเรื่อง คือ Sell in May หรือความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น และการ Stay invested มารวมกัน เราจึงควรหาสินทรัพย์ ที่ทำให้เรายังสามารถลงทุนได้ โดยลดความกังวลใจด้านความผันผวน ซึ่งในที่นี้ผมนำเสนอไอเดียของการลงทุนเป็น 2 อย่างด้วยกันคือ 

1. การลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ด้วยตราสารหนี้ระยะสั้น และ กองทุนที่มีการปกป้องเงินต้น ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกในการลงทุนเหล่านี้ในตลาดเป็นจำนวนมาก และบางกองทุนเปิดโอกาสให้สร้างผลตอบแทนคล้ายการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แต่ยังคงดูแลเงินต้นไว้ได้ด้วยที่อยากให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณา 

2. กลุ่มสินทรัพย์ทางเลือก ประเภท กองทุน Private Debt หรือตราสารหนี้นอกตลาดของบริษัทเอกชน ที่กำลังออกและเสนอขายในเดือน พ.ค.นี้ หลายผลิตภัณฑ์ โดยสินทรัพย์กลุ่มนี้จำกัดผู้ลงทุนไว้เฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ แต่มีความน่าสนใจคือ เป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนด้านราคาที่น้อย จึงถือเป็นการกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนพอร์ตผ่านการลงทุนสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนมักไม่อ่อนไหวไปกับตลาด ทั้งนี้ กองทุน Private Debt เป็นการระดมเงินทุนเพื่อลงทุนในสินเชื่อโดยตรงกับบริษัทที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว (เช่น สหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป) 

โดยมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่คัดเลือกบริษัทที่คาดว่ามีศักยภาพในการดำเนินงาน ที่กองทุนมีอำนาจต่อรองขอหลักประกันมาให้พอเพียงกับมูลค่าสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยง ขณะเดียวกันสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ในระดับที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้อยากขอให้ผู้อ่านพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนประเภทนี้เพิ่มเติม ที่อาจมีบางกองทุนอาจมีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนที่ค่อนข้างนานเป็นเวลาหลายเดือน และอาจมีบางกองทุนที่กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนไว้เป็นรายวันก็มีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ชดเชยความเสี่ยงด้านสภาพคล่องก็มีความน่าสนใจ จึงมองเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าจะพิจารณาถือลงทุนไว้เพื่อกระจายความเสี่ยงในสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

โดยรวมแล้ว แม้ Sell in May จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในเดือน พ.ค. นี้ แต่หากนักลงทุน Stay invested โดยเลือกสินทรัพย์ที่ลดความกังวลเรื่องความผันผวน ก็จะช่วยลดความผันผวนของผลตอบแทนจากการลงทุนโดยรวมได้ และช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนยังสามารถเดินทางไปถึงเป้าหมายการลงทุนที่วางไว้ได้ด้วยเช่นกัน

คำเตือน

· การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...