‘ท๊อป จิรายุส’ เผยสื่อนอก จ่อบุกอาเซียน ดัน Bitkub เป็น Growth Engine ใหม่เศรษฐกิจไทย

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานวันนี้ (26 เม.ย.67) บทสัมภาษณ์ของนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัดว่า เตรียมเสนอขายหุ้นต่อให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในปี 2025 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยผลักดันการขยายกิจการไปยังประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้าง “แชมป์ระดับภูมิภาค” เพื่อแข่งขันกับบริษัทอย่างคอยน์เบส (Coinbase) และไบแนนซ์ (Binance) 

โดยบิทคับจะนำเงินที่ได้จากการไอพีโอแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี ออนไลน์ซึ่งกำหนดไว้ในปลายปีหน้าเพื่อดึงดูดส่วนแบ่งการตลาดในภูมิภาคที่ยังไม่มีผู้เล่นมากนัก ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนากรอบการทำงานสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งในกัมพูชา เวียดนาม และลาว 

"อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เป็นการแข่งขันที่ดุเดือดเพราะมีผู้ชนะที่ชัดเจนอยู่แล้ว เราจะมุ่งไปยังประเทศใหม่ๆ และเริ่มต้นทำงานกับหน่วยงานกำกับดูแลในท้องถิ่นตั้งแต่วันแรกเพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความไว้วางใจ” นายจิรายุส กล่าว

นอกจากนี้ บิทคับมีปริมาณการซื้อขายประจำวันอยู่ที่ 44.5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,646.5 ล้านบาท) ซึ่งนำหน้า อินโดแด็กซ์ (Indodax) และ โทโคคริปโท (Tokocrypto) ของอินโดนีเซีย รวมทั้งคอยน์ดอทพีเอ็ช (Coins.ph) ของฟิลิปปินส์อย่างมาก แต่ในตลาดใหม่ บริษัทบิทคับวางแผนที่จะเติบโตนอกเหนือจากเรื่องปริมาณการซื้อขายและตัวอย่างการใช้งาน (Use Cases) ที่คำนึงถึงตลาดการโอนเงินข้ามประเทศสำหรับผู้อพยพ และชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน

“เราต้องการมุ่งเน้นไปที่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อที่เราจะก้าวกระโดดไปสู่อนาคตด้วยเทคโนโลยีล่าสุด” เขากล่าวกับนิกเคอิในการสัมภาษณ์ พร้อมเสริมว่า “สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคงใช้ธุรกรรมด้วยเงินสด พวกเขาไม่มีระบบดั้งเดิม ดังนั้นจึงมีต้นทุนโอกาสที่ต่ำกว่ามากในการเปลี่ยนระบบ”

เขากล่าวต่อว่า การระดมทุนในประเทศไทยเป็น “ความสำคัญอันดับแรก” สำหรับบิทคับ และอยู่ในช่วงพิจารณาการระดมทุนคู่ขนานในฮ่องกงหรือสหรัฐอเมริกาในอนาคต

"ช่วงพีคเรามีเงินฝากของลูกค้าเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ หากเกิดอะไรขึ้นกับบิทคับ ไทยอาจเผชิญความเสี่ยงเชิงเศรษฐกิจได้"

พร้อมยอมรับว่าการไอพีโอจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความน่าเชื่อถือควบคู่ไปกับการระดมทุน "เรากำลังกลายเป็นบริษัทมหาชน ดังนั้นทุกคนจำเป็นต้องร่วมเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานนี้ด้วยกัน"

เมื่อกลางปี 2023 นักวิเคราะห์ประเมินว่า ส่วนแบ่งการตลาดของบิทคับในประเทศไทยอยู่ที่ 75% แม้จะมีไบแนนซ์ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลก เข้ามาในเดือนพ.ย. ทว่าท๊อปยังคงยืนยันว่า บิทคับครองส่วนแบ่งใน "ปริมาณการซื้อขายที่แท้จริง" หรือการซื้อขายที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ 95%

"ลูกค้ามักต้องการผลิตภัณฑ์ที่ถูกกว่า ดีกว่า เร็วกว่า แต่ในด้านการเงิน เรายังมีปัจจัยที่สี่คือ ความไว้วางใจ" จิรายุส กล่าว พร้อมเสริมว่า "เราเลือกกลยุทธ์ที่ถูกต้องตั้งแต่วันแรก เราไม่ได้ขยายตัวเร็วเท่าไรนัก แต่หลายคนที่เข้ามาในตลาดพร้อมกันแล้วเผชิญข้อผิดพลาด ก็ออกไปจากตลาดจำนวนมากแล้ว"

จิรายุส เล่าให้ฟังว่า หุ้นของบิทคับจะกลายเป็นหุ้นตัวแทนสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย  (Proxy Stock for Thailand's Digital Economy) ซึ่งแตกต่างจากอุตสาหกรรมเกษตรกรรม และการผลิตซึ่งเป็นสินค้าหลักของประเทศ

"ประเทศไทยติดอยู่กับ กับดักรายได้ปานกลาง เนื่องจากการพึ่งพาการค้าขายสินค้าแบบเดิม เรา [บิทคับ] จึงมีหน้าที่สร้างรายได้ประเภทใหม่ให้กับประเทศ โดยเป็นตัวแทนของบริการดิจิทัล และการค้าสีเขียว" เขากล่าว

ขณะที่ฝั่งกองทุนร่วมทุนของบิทคับจะยังคงลงทุนในสตาร์ตอัปของไทยต่อไป ขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนจะขยายกิจการไปต่างประเทศ "ผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้วจะต้องเป็นผู้เสียสละเป็นผู้ให้ โดยการลงทุนในสตาร์ตอัปใหม่ๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัปขึ้นมาในอนาคต"

ด้านบทวิเคราะห์ของนิกเคอิ เผยว่า ประเทศไทยมียูนิคอร์นซึ่งเป็นสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าประเมินขั้นต่ำ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพียงแค่ 3 บริษัทเท่านั้น ซึ่งตามหลังสิงคโปร์ และอินโดนีเซียอย่างมาก โดยบิทคับเคยมีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท (1 พันล้านดอลลาร์) ในช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการเจรจาการเข้าซื้อกิจการโดยธนาคารไทยพาณิชย์  (SCB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของไทย  แต่ดีลนี้ล่มในปี 2022 เมื่อราคามูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลร่วงลง เผยให้เห็นปัญหาด้านสภาพคล่อง และธรรมาภิบาลทั่วทั้งอุตสาหกรรม และนำไปสู่การตรวจสอบโดยหน่วยงานกำกับดูแล

เขาเสริมว่า ดีลนี้มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบิทคับสำหรับการขยายตัวในภูมิภาค แต่ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานหรือแผนการไอพีโอของเรา

ทั้งนี้ บิทคับรายงานรายได้ล่าสุดที่ 2.8 พันล้านบาทในปี 2022 ลดลง 48% จากปีก่อนหน้า ท่ามกลางภาวะ "Crypto Winter" แต่บริษัทมีกำไรสุทธิ 342 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อซิปเม็กซ์ (Zipmex) คู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดทำให้บิทคับมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น

"เราบริหารบริษัทด้วยกำไรจากเงินสดมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว เราไม่เหมือนกับสตาร์ตอัปอื่นๆ เราไม่อยากบริหารบริษัทด้วยการขาดทุน"

เขายังวิจารณ์แนวคิด "รวดเร็วเข้าไว้ พังค่อยว่ากัน" ที่มีอยู่ในวงการสตาร์ตอัป ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำให้ผู้นำระดับโลกอย่างไบแนนซ์และเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) มีปัญหากับหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก

"ตอนนี้มีช่องโหว่ทางกฎระเบียบเปิดโอกาสให้ผู้เล่นที่ไม่ดีเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์" เขากล่าว "หน่วยงานกำกับดูแลทั้งหมดจำเป็นต้องพูดภาษาเดียวกัน และกำหนดมาตรฐานมาควบคุม"

ตลาดคริปโทฯ พัฒนาขึ้นตั้งแต่ไบแนนซ์บรรลุข้อตกลงยอมความกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐซึ่งยังอนุมัติกองทุนซื้อขายหลักทรัพย์ที่เทรดตามราคาบิตคอยน์ หรือ Bitcoin Spot Exchange-traded Funds ในช่วงต้นปีนี้ ส่งสัญญาณไฟเขียวให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุน จึงดันราคาของบิตคอยน์เพิ่มขึ้น 126% จากปีก่อนหน้า

เมื่อถามว่า แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์อย่างบิตคอยน์กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากระบบการแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์ซึ่งการทําธุรกรรมเกิดขึ้นโดยตรงระหว่างผู้ค้าหรือไม่ เขากล่าวว่า การแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์กำลัง "เติบโตเร็วขึ้นในขณะนี้เมื่อเทียบกับการแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์ เรากําลังพูดถึงเงินก้อนโตที่มาจากนักลงทุนสถาบันที่เข้ามาในตลาด"

เขาเสริมว่า "เรากําลังพูดถึงเงินก้อนโตในตอนนี้ ไม่ใช่แค่เงินจากรายย่อยแต่ก่อนแล้ว”

อ้างอิง: Nikkei Asia 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...