กฎบังคับใช้นามสกุลสามีไม่เปลี่ยน อีก 500 ปี ญี่ปุ่นมีนามสกุล 'ซาโต' ทั้งประเทศ

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นอ้างอิงผลการศึกษาใหม่ล่าสุดพบว่า คนญี่ปุ่น ทุกคนอาจมีนามสกุลเดียวกันในวันใดวันหนึ่ง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงกฎหมายแต่งงานที่เข้มงวด แต่อัตราการแต่งงานที่ลดลงของประเทศอาจขัดขวางแนวโน้มดังกล่าวได้ และจำนวนประชากรญี่ปุุ่นที่ลดลงอย่างรวดเร็วอาจทำให้เรื่องดังกล่าวไม่เกิดขึ้นเลย

ความเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎเกี่ยวกับนามสกุลนำโดยกลุ่มสนับสนุนสตรี และกลุ่มคนที่พยายามรักษาความหลากหลายของนามสกุลญี่ปุุ่น

ญี่ปุ่นยังคงกำหนดให้คู่รักที่สมรสอย่างถูกต้องกฎหมายต้องใช้นามสกุลร่วมกัน ซึ่งโดยปกติแล้วภรรยาในญี่ปุ่นจะใช้นามสกุลสามี และกลุ่มคนรักเพศเดียวกันยังไม่สามารถสมรสได้อย่างถูกกฎหมายในญี่ปุ่น

“ฮิโรชิ โยชิดะ” นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโทโฮคุในเขตเซนได จังหวัดมิยางิ ที่เป็นผู้นำในการศึกษานี้ เผยว่า

ถ้ากฎการสมรสแบบเดิมยังคงดำเนินต่อ คนญี่ปุ่นอาจมีนามสกุล “ซาโต” เหมือนกันทุกคนภายในปีพ.ศ. 3074

ตามข้อมูลของเมียวจิ ยูราอิ บริษัทติดตามนามสกุลมากกว่า 300,000 นามสกุลในญี่ปุ่น พบว่า ปัจจุบัน “ซาโต” เป็นนามสกุลที่มีคนใช้มากที่สุด รองลงมาเป็นซูซูกิ และทาคาฮาชิ โดยประชากรญี่ปุ่นราว 1.8 ล้านคน จาก 125 ล้านคนใช้นามสกุลซาโต

ทั้งนี้ การศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้นามสกุลดังกล่าว โยชิดะ ผู้ที่มีนามสกุลเป็นที่นิยมอันดับที่ 11 ได้รับการสนับสนุนจาก “Think Name Project” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้คู่รักสามารถใช้นามสกุลของตนเองได้

ก่อนมีนามสกุลซ้ำ อัตราแต่งงานต้องเพิ่มขึ้นก่อน

อาจารย์โยชิดะ ผู้เปิดเผยผลการศึกษาเมื่อวันจันทร์ (1 เม.ย.) ยอมรับว่า การคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปได้ ถ้าประเทศสามารถก้าวผ่านวิฤติอัตราการแต่งงานลดลงเป็นประวัติการณ์ไปได้

ตามข้อมูลทางการ ระบุว่า จำนวนการสมรสในญี่ปุ่นในปี 2566 ลดลงเกือบ 6% จากปีก่อนหน้า จึงทำให้ยอดการสมรสต่ำกว่า 500,000 เป็นครั้งแรกในรอบ 90 ปี ขณะที่ อัตราการหย่าร้าง เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อปีก่อน โยชิดะเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า

“ถ้าอัตราการแต่งงานตกต่ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ มีความเป็นไปได้ที่การคาดการณ์เกี่ยวกับการใช้นามสกุลจะแตกต่างไป”

โยชิดะชี้ด้วยว่า จำนวนประชากรอาจหดตัวลงอย่างมากในช่วงสหัสวรรษหน้า เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง

ตามข้อมูลตัวเลขของรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อปีก่อน ระบุว่า สัดส่วน ผู้สูงอายุญี่ปุ่น ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 29.1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และเป็นสัดส่วนผู้สูงอายุที่มากที่สุดในโลก

ขณะที่จำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เศรษฐกิจบูมในช่วงทศวรรษ 80 โดยมี อัตราการเจริญพันธุ์ อยู่ที่ 1.3 ซึ่งต่ำกว่าระดับที่สามารถรักษาความมั่นคงของจำนวนประชากร โดยไม่นับรวมจำนวนการย้ายถิ่นฐาน

ส่วนอัตราการเสียชีวิตก็มากกว่าอัตราการเกิดมานานกว่า 10 ปีแล้ว ทำให้ผู้นำหลายคนในเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลก เผชิญกับปัญหาเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกส่วนมาก ชื่อของผู้คนมีความหลากหลายน้อยกว่าชาติตะวันตก ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลของรัฐบาลจีนในปี 2563 ระบุว่าประชาชนจีน 30% ใช้นามสกุล หวัง, หลี่, จาง, หลิว หรือ เฉิน และประชากรส่วนใหญ่ราว 86% ใช้นามสกุลเพียง 100 นามสกุล

การสูญสิ้นของนามสกุลเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่า “กระบวนการแกลตัน-วัตสัน” (Galton-Watson proces) ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่คาดว่า

การสืบทอดสกุลผ่านทางบิดาจะสูญสิ้นหรือหายไปตามกาลเวลาของคนรุ่นใหม่แต่ละคน เนื่องจากผู้หญิงต้องใช้นามสกุลผู้ชาย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...