จากดราม่า ‘ตั๋วบินแพง’ สู่ทางออก ปรับเพดานราคาแบบยืดหยุ่น ลุ้นข้อสรุป Q2/67

นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT) กล่าวในหัวข้อ “Synergising for Success : A Viewpoint from Governmental Bodies to Drive Thailand’s Tourism” บนเวทีงาน #AAVinvesterday2024 จัดโดย บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 ว่า “ทาง กพท. ไม่ได้นิ่งนอนใจกับประเด็นตั๋วเครื่องบินในประเทศราคาแพงแต่อย่างใด”

การทบทวนปรับเพดานราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางในประเทศ ต้องดูให้ครบถ้วน เพราะแต่ละสายการบินมีบริการ (Service) ที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ หรือ สายการบินฟูลเซอร์วิส (Full-Service Airline) เพดานราคาก็จะอยู่ที่อัตราหนึ่ง แต่ถ้าเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-Cost Airline) เพดานราคาก็จะอยู่ที่อีกอัตรา ซึ่งต้องชวนทุกสายการบินมาคุยกัน

 

ถกแอร์ไลน์ ปรับเพดานราคาตั๋วบินในประเทศ 'แบบยืดหยุ่น'

ตอนนี้ กพท. กับสายการบินต่างๆ ได้เริ่มหารือเกี่ยวกับการกำหนดเพดานราคาตั๋วเครื่องบินในประเทศให้มี “ความยืดหยุ่น” เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ มากขึ้น เช่น ราคาน้ำมันเครื่องบิน และรายละเอียดอื่นๆ โดยเฉพาะความแตกต่างด้านการขายของ "สายการบินฟูลเซอร์วิส" กับ "สายการบินต้นทุนต่ำ" จึงต้องขอนั่งคุยรายละเอียดกันภายในให้จบก่อน โดยอยากได้ข้อสรุปภายในปีนี้ จริงๆ อยากให้เสร็จประมาณไตรมาส 2-3 ของปีนี้เลย

“จริงๆ เราเริ่มคิดไกลไปกว่านั้นแล้วว่า จากเพดานราคาตั๋วเครื่องบิน ถ้าเกิดราคาน้ำมันมีขึ้นมีลง หรือบางเส้นทางมีผู้โดยสารน้อยมากๆ แต่ไปกำหนดเพดานราคา ก็อาจทำให้สายการบินไม่อยากทำการบิน ต้องมานั่งคิดถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย โดยอาจจะไม่ได้ปรับแค่เพดานราคา อาจจะมีการปรับ ‘แนวทางอื่นๆ’ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ซึ่งต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่ง” 

แน่นอนว่า “ความยืดหยุ่น” ที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้าง “ความเป็นธรรม” ให้แก่ทั้งผู้โดยสารและสายการบิน

เปิดเหตุผล ทำไม ‘ตั๋วแพง’ ช่วงท่องเที่ยวฟื้น?!

สำหรับที่มาของตั๋วบินในประเทศ “ราคาแพง” ช่วงนี้ เป็นเพราะดีมานด์ผู้โดยสารชาวต่างชาติฟื้นตัวกลับมาแล้ว แต่ซัพพลายเครื่องบินที่ให้บริการยังวิ่งตามไม่ทัน 

ประกอบกับในช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ราคาตั๋วเครื่องบินสูงขึ้นตามดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งยังตรงกับเทศกาลตรุษจีน มีชาวจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยจำนวนมาก และบินจากกรุงเทพฯ เข้าเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ภูเก็ต มากขึ้น

กพท.จึงได้หารือกับสายการบินและสนามบิน เพื่อแก้ปัญหาด้วยมาตรการระยะสั้น “เพิ่มเที่ยวบินในประเทศ” มากขึ้น โดยเฉพาะตารางการบินช่วงเช้ากับช่วงเย็น-ค่ำ ในช่วง “เทศกาลสงกรานต์” ซึ่งมีดีมานด์การเดินทางภายในประเทศสูง

อ่านเพิ่มเติม: 6 แอร์ไลน์ ตอบรับมาตรการแก้ปัญหาตั๋วแพง เพิ่มเที่ยวบิน - ลดราคา 20%

 

แนะจองเร็ว-ล่วงหน้านาน ได้ตั๋วบินถูก

นายศรัณย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความท้าทายของเราคือ คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าการจองตั๋วเครื่องบินนั้น จะแตกต่างจากโหมดการเดินทางอื่นๆ ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องนี้” 

เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังค่อนข้างชินกับการตั้งราคาแบบคงที่ หรือ “Fix Pricing” คือไปซื้อตั๋วเมื่อไร ก็ได้ราคานั้นเหมือนๆ กัน แต่กับโหมดการบินแล้วไม่ใช่ เพราะสายการบินใช้หลักการตั้งราคาแบบ “Dynamic Pricing” หรือ การตั้งราคาแบบยืดหยุ่นตามระดับความต้องการของสินค้า จะมีทั้งตั๋วราคาถูกและราคาแพง ถ้าซื้อก่อน ก็จะได้ตั๋วถูกไปก่อน แต่ถ้ามาช้า ตั๋วถูกหมดไปแล้ว ก็ต้องซื้อตั๋วแพง ระบบนี้เป็นไปตามหลักซัพพลายกับดีมานด์ 

“ทาง กพท.มองว่าการตั้งราคาแบบ Dynamic Pricing เป็นไปตามหลักธรรมชาติที่สุดแล้ว ไม่อยากให้ถอยหลังกลับไปตั้งราคาแบบ Fix Pricing อีก เราจึงพยายามสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เกี่ยวกับระบบการจองตั๋วเครื่องบินแบบ Dynamic Pricing ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันสายการบินฟื้นธุรกิจ สร้างซัพพลายกลับมาให้ได้ไว”

โดยในมุมธุรกิจสายการบิน เมื่อขายตั๋วแต่ละเที่ยวบิน แน่นอนว่าเงินทั้งหมดที่ได้มา ต้องเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับเที่ยวบินนั้นๆ ด้วย ส่งผลให้ “ค่าเฉลี่ยราคาตั๋วบินต่อที่นั่ง” สูงกว่า “ค่าเฉลี่ยต้นทุนต่อที่นั่ง”

 

จองตั๋วบินผ่าน ‘OTA’ แม้ไม่มีกำหนดเพดานราคา แต่เลือกใช้ประโยชน์ ชิงตั๋วถูกได้

ทั้งนี้ กพท. ได้ติดตามสถานการณ์ราคาตั๋วเครื่องบิน ทั้งการจองโดยตรงกับ “สายการบิน” กับการจองผ่านแพลตฟอร์มของ “บริษัทท่องเที่ยวออนไลน์” หรือ OTA (Online Travel Agents) ซึ่งช่องทาง OTA ใช้กลไกการขายในลักษณะเปิด ไม่ได้มีการกำหนดเพดานราคาสูงสุดเอาไว้

ถ้าหากจองตั๋วเครื่องบินผ่าน OTA ระยะกระชั้นชิดมากๆ ราคาตั๋วเครื่องบินจะค่อนข้างสูงมาก ในขณะเดียวกันถ้าจองตั๋วเครื่องบินผ่าน OTA ล่วงหน้าเป็นเวลานาน จะพบว่า OTA ขายราคาตั๋วเครื่องบินต่ำกว่าที่สายการบินขายนิดเดียว

“สำหรับช่องทาง OTA ถ้าเลือกใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้ ด้วยการจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้านานๆ ราคาจะถูกกว่าสายการบิน แต่ถ้าไปซื้อใกล้ๆ ก่อนบิน ราคาจะแพงกว่าจองกับสายการบิน แสดงว่ามันมีประโยชน์ ถ้าเราใช้เป็น ส่วนคนที่จำเป็นต้องเดินทางกะทันหัน แนะนำให้มาเช็กราคากับสายการบิน เพราะสายการบินเขาตั้งราคาขายตั๋วบินไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...