จาก 'ป๊อกกี้' คนเหล้า-วิสกี้ สู่ไอเดีย ‘คาเฟ่’ โมเดลธุรกิจใหม่ ‘ไทย กูลิโกะ’

“กูลิโกะ” ในประเทศญี่ปุ่นเพิ่งผ่านการเป็นองค์กร “ร้อยปี” เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนไทยก้าวย่างการทำธุรกิจยาวนาน 54 ปีแล้ว โดยมีแบรนด์ “กูลิโกะ เพรทซ์” สินค้านำร่องเสิร์ฟคนไทยก่อน หลังจากนั้นเป็นคิวของ “กูลิโกะ ป๊อกกี้”

ประเทศไทยถือเป็นฐานทัพธุรกิจที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยเป็นประเทศแรก ที่ญี่ปุ่นมาขยายธุรกิจตั้งสำนักงาน “นอกแดนอาทิตย์อุทัย” ปัจจุบัน ไทยมีทั้งโรงงานผลิตสินค้า ศูนย์วิจัยและพัฒนาหรือ R&D Center เสริมแกร่งสร้างการเติบโต

ความท้าทายขององค์กร ธุรกิจที่อยู่ในตลาดมายาวนาน คือ การหาโอกาสขยายอาณาจักรให้แข็งแกร่ง ทำเงิน สร้างรายได้โตอย่างต่อเนื่อง เพราะฐานตลาดที่มีขนาดใหญ่ ทำให้การโตจะไม่หวือหวาหรือก้าวกระโดดเหมือนยุคแรกๆ

ปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2567 “ไทย กูลิโกะ” มีการขยายธุรกิจ และแตกไลน์โมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อต่อจิ๊กซอว์ให้บริษัท เช่น การนำเข้านมอัลมอนด์เบอร์ 1 จากญี่ปุ่นแบรนด์ “กูลิโกะ อัลมอนด์ โคกะ” เสิร์ฟผู้บริโภคชาวไทย และถือเป็นการเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ กลุ่มธุรกิจสุขภาพและธุรกิจอาหาร ล่าสุด เป็นการชิมลาง “ป๊อกกี้ คาเฟ่”(Pocky Cafe) และเตรียมโรดโชว์ไปทั่วประเทศ สร้างการรับรู้

 

จาก “ป๊อกกี้” คนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สู่โมเดลธุรกิจ “คาเฟ่

เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ และ ดวงกมล ชุลิกาวิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ป๊อกกี้ เพรทซ์ และพีจอย ร่วมเล่าถึงที่มาที่ไปของ “ป๊อกกี้ คาเฟ่” เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีถึงวัฒนธรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเลือดซามูไร และหนึ่งในนั้นคือ วิสกี้ และมีนักดื่มที่นำแท่งขนม “กูลิโกะ ป๊อกกี้” ไปใช้คนเครื่องดื่มแก้วโปรด จนกลายเป็นคอนเซปต์ “ป๊อกกี้ ออน เดอะ ร็อก”

จากนั้นปี 1980 หรือ พ.ศ.2523 ทางบริษัทจึงมีการพยายามต่อยอดจุดเด่นดังกล่าง เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ผ่านแคมเปญ “ป๊อกกี้ ออน เดอะ ร็อก” และขยายไปยังภูมิภาคๆต่างๆทั่วโลก ทว่าการโปรโมทหรือส่งเสริมการตลาดอาจไม่ใช่เชิงรุกนัก

ขณะที่ไทย เห็นโอกาส จึงมีเนรมิต “ป๊อกกี้ คาเฟ่” ครั้งแรกเมื่อวันป็อกกี้ เดย์ เพื่อฉลองครบ 50 ปีในไทย จากป๊อกกี้ เดย์ทั่วโลกหรือแคมเปญ Global Pocky Day จัดขึ้นปี 2016 หรือ พ.ศ.2559 ไปสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ไปใช้ตกแต่งในเครื่องดื่ม กระตุ้นให้เกิดการลอง

“การเพิ่มโอกาสการรับประทานป๊อกกี้ หนึ่งในนั้นคือผ่านป๊อกกี้ คาเฟ่ ที่เราพยายามทำเมื่อปีก่อน เปิดครั้งแรกในวันป๊อกกี้เดย์ ผลตอบรับคือมีผู้บริโภคตามหา อยากให้ไปเปิดที่อื่น ซึ่งป๊อกกี้ คาเฟ่ จะเป็นกลยุท์ในการใช้เพิ่มความอร่อยทุกเมนู นำป๊อกกี้ไปรังสรค์เครื่องดื่มและเมนูอื่นๆตามมา”

นอกจากนี้ บริษัทวางแผนโรดโชว์ “ป๊อกกี้ คาเฟ่” อย่างน้อย 20-30 แห่งทั่วไทย ประเดิมย่านใจกลางธุรกิจ(CBD)ที่พาร์ค สีลม เพื่อเปิดให้ผู้บริโภคได้ชิมและหยั่งกระแส เพื่อดูโอกาสในการต่อยอดจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการนำสินค้าไปร่วมมือ(Collaboration)กับพันธมิตร และการซีเนอร์ยีกับ “นมอัลมอนด์โคกะ” รังสรรค์เมนูเครื่องดื่มต่างๆ โดยในส่วนนี้ บริษัทยังมีการสร้าง “หน่วยธุรกิจใหม่” เพื่อทำตลาดเชิงรุกด้วย

“ป๊อกกี้ คาเฟ่ ยังเป็นอีกกลยุทธ์ในการเข้าใกล้คอนซูเมอร์มากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจเราอย่างแท้จริง มีโอกาสได้ชิม เชื่อมั่นในสินค้า และซื้อสินค้าราคาพิเศษ ที่สำคัญทำให้เห็นว่าป๊อกกี้ไม่ต้องทานเป็นขนม แต่นำมาคู่เครื่องดื่ม จัดเซ็ท รังสรรค์เมนูรับประทานในโอกาสต่างๆด้วย”

 

ปี 2567 วางเป้าโตก้าวกระโดด

ไทย กูลิโกะ เป็นหนึ่งในตลาดสำคัญ นอกจากอยู่มานาน ยังทำรายได้หลักหลายพันล้านบาท จากสินค้าหลักๆ 3 หมวดหมู่ ประกอบด้วย ขนม ไอศกรีม และนมอัลมอนด์ โดยปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตอัตรา 2 หลักและ “ก้าวกระโดด”

กลยุทธ์สำคัญคือการผลักดันขนมกูลิโกะ ป๊อกกี้ ปีนี้มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ “เซ็กเมนต์พรีเมียม” ภายใต้ “ป๊อกกี้ ครัช” เจาะกลุ่มเป้าหมาย พร้อมดึง “ซี-นุนิว” มาเป็นกุลิโกะ เฟรนด์(Glico Friend) สร้างการรับรู้แบรนด์และสินค้า

ปี 2567 จะมีการออกสินค้าใหม่เพื่อสร้างความว้าว! ในช่วงปลายปีกับ รสชาติชีสเค้ก และรสชาติท้องถิ่นไทยเพื่อเขย่าตลาด

“ปีนี้เราอยากเติบโตก้าวกระโดดในทุกหมวดสินค้า ด้วยการมีนวัตกรรม สินค้าใหม่ๆออกสู่ตลาดมากขึ้น มีช่องทางใหม่ๆในการนำเสนอสินค้า จากอดีตเรายังทำไม่มากพอ อย่างการสื่อสารตลาด โฆษณาผ่านสื่อออฟไลน์ ออนไลน์ เป็นปกติ แต่เราจะต้องเข้าใกล้ผู้บริโภคให้มากกว่านี้”

เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ - ดวงกมล ชุลิกาวิทย์

 

สินค้าท้องถิ่นไทย สงวนไว้ทำตลาดในประเทศ

อีกกลยุทธ์ที่มาแรงของ “ไทย กูลิโกะ” คือการรังสรรค์ป๊อกกี้ รสชาติท้องถิ่น(Local Flavour)เอาใจคนไทยโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น รสมะม่วง และรสช็อกโกบานาน่า (เช่นเดียวกับพอร์ตโฟลิโอของบริษัทอย่าง เพรทซ์ มีรสลาบ รสต้มยำกุ้ง) ซึ่งผลลัพธ์นอกจากคนไทยชอบ “นักท่องเที่ยว” ยังนิยมซื้อเป็นของฝาก ของที่ระลึกเมื่อมาเที่ยวประเทศไทยด้วย ปีนี้บริษัทจะพัฒนารสชาติท้องถิ่นออกมาเสริมแกร่งพอร์ตฯสินค้าด้วย

“โลคัล เฟลเวอร์ บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ไทย กินแล้วได้รสชาติไทยแท้ๆ ซึ่งเราระดมสมองกันถึงการสร้างสรรค์รสชติที่ถูกต้อง แพ็คเกจจิงที่ดี ทั้งมะม่วงและลิงอยู่บนกล้อง ส่งผลให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีนมีการซื้อเป็นของฝากจำนวนมาก สินค้าโลคัลเหล่านี้เราจำหน่ายแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แม้ว่าทุกประเทศอยากนำไปทำตลาดก็ตาม”

สำหรับภาพรวมตลาดขนมหวานในหมวดบิสกิต(บิสกิต แคร็กเกอร์ เวเฟอร์)ปี 2566 มูลค่าราว 15,700 ล้านบาท เติบโต 6% โดยกลุ่มใหญ่สุดคือ แคร็กเกอร์ และป๊อกกี้เป็นเบอร์ 1 ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 10%

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘อีลอน มัสก์’ หนุน ‘ทรัมป์’ พนักงานบริจาคให้‘แฮร์ริส’

ข้อมูลจากโอเพนซีเคร็ตส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรไม่แบ่งฝักฝ่าย ผู้ติดตามข้อมูลการบริจาคเงินหาเสียงและการล...

สหภาพแรงงาน Teamsters ไม่หนุน'ทรัมป์-แฮร์ริส'

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า สหภาพแรงงานทีมสเตอร์สมีสมาชิกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขับรถบร...

ครึ่งแรกปี67จีนครองแชมป์ซื้อคอนโดเมียนมาซิวเบอร์สองแซงรัสเซีย2ปีซ้อน

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เป...

อสังหาฯ แบกสต็อกอ่วม 1.57 ล้านล้าน เอ็นพีแอลพุ่ง ‘ทุกตลาดติดลบหนัก’

นายกสมาคมอาหารชุด หวังเร่งแก้นอมินีต่างชาติในตลาดบ้านมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จัดเก็บภาษี หวังแบงก์ชาติล...