จาก ‘สมองไหลออก’ สู่ ‘สมองไหลกลับ’ ทำไม ‘เวียดนาม’ เกือบหลับแต่กลับมาได้?

ภาพของชาวเวียดนามพูดคุยกันด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันอย่างไร้ที่ติอาจเป็นภาพที่หลายคนคุ้นตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเวียดนามในหลายเมืองของสหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวเวียดนามเหล่านั้นอพยพย้ายถิ่นฐานหนีความยากลำบากจากสงครามเวียดนามที่ลากยาวถึง 15 ปี ตั้งแต่ค.ศ. 1960 ไปจนถึงวันที่ไซ่ง่อนแตกในปี 1975 โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเวียดนามใต้ที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม

ตั้งแต่ช่วงสงครามจนถึงเมื่อสิบปีก่อนหน้า ชาวเวียดนามยังอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศบ้านเกิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีสถานะทางสังคมที่ดีก็มีโอกาสออกไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศซึ่งส่วนหนึ่งก็ตัดสินใจไม่กลับบ้านเกิดและลงหลักปักฐานในต่างประเทศ​

นอกจากปัจจัยเรื่องสงครามระหว่างปี 1960 – 1975 แล้ว งานวิจัย “From Brain Drain and Brain Gain to Brain Circulation: Conceptualizing Re-Expatriation Intentions of Vietnamese Returnees” ยัง อธิบายการย้ายถิ่นฐานของชาวเวียดนามว่าในช่วงหนึ่งเวียดนามเผชิญ "สภาวะสมองไหล” เนื่องจากพวกเขาคิดว่าสามารถหารายได้และโอกาสในการทำงานที่ดีมากกว่าอยู่ในเวียดนาม 

ธนาคารโลก (World Bank) รายงานว่า ครัวเรือนในเวียดนามส่งลูกหลานออกไปเรียนในต่างประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 1998 อยู่ที่เพียง 7,770 คน แต่ในปี 2018 กลับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1.09 แสนคน  

จำนวนชาวเวียดนามที่ออกไปเรียนต่อต่างประเทศ

ที่สำคัญ ตั้งแต่ม.ค. - ก.พ. 2024 เวียดนามกลายไปเป็นประเทศที่ส่งนักเรียนไปเรียนที่ต่างประเทศมากที่สุดในอาเซียนคือประมาณ 1.37 แสนคน ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 5.9 หมื่นคน มาเลเซีย 4.8 หมื่นคนและไทย 2.8 หมื่นคน โดยประเทศที่ชาวเวียดนามไปเรียนมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐ และออสเตรเลีย

เวียดนามแห่เรียนต่างประเทศมากเป็น “อันดับ 1” ในอาเซียน ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 4 (กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา) -

ที่สำคัญ สัดส่วนนักศึกษาชาวเวียดนามในสหรัฐนั้นอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากในช่วงปี 2003 ที่สภาคองเกรสเปิดโครงการให้ทุนการศึกษา Vietnam Education Foundation (VEF) เพื่อรองรับนักศึกษาหัวกะทิชาวเวียดนาม ซึ่งใช้เงินไปทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 185 ล้านบาท)

ศิษย์เก่าของโครงการดังกล่าวก็นับเป็นนักเรียนที่เก่งอันดับต้นๆ ในห้องเรียน โดยออกมาเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพ Palexy บริษัทพัฒนาเทคโนโลยี Machine Leaning, Zalo แอปพลิเคชันแชตยูนิคอร์นสัญชาติเวียดนาม, และ VNG สื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมจากชาวเวียดนามมากกว่า Facebook เสียอีก

จาก ‘สมองไหลออก’ สู่ ‘สมองไหลกลับ’

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเวียดนามอาจกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคสมองไหลออกสู่ยุค “สมองไหลกลับ” เพราะสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมาว่า ประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนามกำลังก้าวข้ามจากการเป็น “แหล่งจ้างผลิตราคาถูก” ไปเป็น “ซิลิคอน วัลเลย์แห่งเอเชีย” เนื่องจากบรรดานักศึกษาที่ออกไปเรียนที่ต่างประเทศเริ่มกลับมาเห็นความหวังของประเทศ

โดยจำนวนประชากรที่โยกย้ายออกจากเวียดนามสุทธิลดน้อยลงจากเดิมในปี 2001 อยู่ที่ 162,571 คน ไปอยู่ที่เพียง 4,378 คนในปี 2011 และตัวเลขดังกล่าวแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่นั้นมา ซึ่งต่างจากยุคสมัยที่ผู้คนอพยพออกไปประเทศโลกที่หนึ่งเพื่อแสวงหาโอกาสของชีวิต 

จีดีพีเวียดนามขยายตัวต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ยังรายงานว่า ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอย่างฮาร์วาดและเคมบริดจ์เริ่มกลับมาที่เวียดนามและก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมาก เช่น Tap Tap คอมมิวนิตี้เกมที่ได้รับรางวัล Uber Vietnam และ สตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์อย่าง Abivin เป็นต้น 

ประเด็นสำคัญที่ทำให้บรรดาหัวกะทิเหล่านั้นเริ่มมีความหวังกับประเทศมากขึ้นก็หนีไม่พ้นปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างแรกคือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมาอยู่ที่ 4.088 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022  

รายได้ประชากรต่อหัว (GDP per Capita) ของเวียดนาม

รวมทั้ง ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามยังเติบโตต่อเนื่องจากเดิมในปี 1970 อยู่ที่เพียง 70,000 ดอลลาร์มาอยู่ที่ 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2022 โดยนักลงทุนต่างชาติมักเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน

ในช่วงปีที่ผ่านมา Intel บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐก็ทุ่มเงินมากกว่า 5 หมื่นบาทสร้างโรงงานในโฮจิมินห์ซิตี้ รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จำนวนมากต่างต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศแห่งนี้  ไม่ว่าจะเป็น Nvidia หรือ Apple 

ประกอบกับตัวเลขรายได้ประชากรต่อหัว (GDP Per Capita) ก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันจากเดิมปี 1985 อยู่ที่ 235.7 ดอลลาร์ (ประมาณ 8,720.9 บาท) มาอยู่ที่ 4,163.5 ดอลลาร์ (ประมาณ 154,049.5 บาท) ในปี 2022 แม้จะยังต่ำกว่าประเทศไทยในปีเดียวกันซึ่งอยู่ที่ 6,910 ดอลลาร์ (ประมาณ 255,670 บาท)

โดยตัวเลขรายได้ต่อหัวของประชากรนั้นโตล้อไปกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดโดยในปี 2022 อยู่ที่ 4.088 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งในปีเดียวกันขนาดจีดีพีของไทยอยู่ที่ 4.9542 แสนล้านดอลลาร์

เหรียญมีสองด้าน: ปัญหาโครงสร้างในเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม เหรียญล้วนมีสองด้านเพราะขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามกำลังเติบโตได้ดีและเนื้อหอมมากที่สุดในอาเซียนแต่เวียดนามก็ยังเผชิญกับความท้าทายเฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็น

  1. การทุจริตในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยการออกหุ้นกู้ผิดกฎหมาย
  2. การขาดแคลนไฟฟ้าจนเกิดไฟดับบ่อยครั้งในประเทศ 
  3. ตลาดหุ้นเวียดนามที่ยังเป็นตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) ในกลุ่มเดียวกับประเทศระดับการพัฒนาต่ำเช่นศรีลังกา เพราะมีสัดส่วนนักลงทุนสถาบันน้อยมากโดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อยจึงทำให้ตลาดหุ้นผันผวนได้อย่างรุนแรงตามสถานการณ์ภายนอก 
  4. ทรัพย์ยากรมนุษย์ของเวียดนามแม้จะอยู่ในวัยแรงงานแต่ยังเป็นแรงงานทักษะต่ำคล้ายประเทศไทย 

อีกทั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจว่า แท้จริงแล้วชาวเวียดนามที่เติบโตในประเทศยังต้องการออกไปแสวงหาโอกาสในกลุ่มประเทศแถบตะวันตกอยู่เพราะต้นทุนชีวิตพวกเขายังคงมีจำกัด ประกอบกับรัฐบาลเวียดนามไม่สามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับพวกเขาได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าแรงยังคงต่ำมาก

ทว่ากลุ่มคนที่เริ่มกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้นคือลูกหลานของชาวเวียดนามที่อพยพออกไปในช่วงสงครามเวียดนามเพราะคนกลุ่มนี้สามารถยกระดับสถานะทางสังคมได้แล้วจึงกลับเข้ามาในประเทศเพราะเห็นโอกาสทางธุรกิจมากมาย

"ตอนนี้เวียดนามเผชิญสภาวะที่ว่าคนในอยากออกคนนอกอยากเข้า คนที่โตในเวียดนามยังคงอยากออกไปหาอนาคตที่ดี ส่วนคนที่กลับมาคือลูกหลานชาวเวียดนามที่อพยพออกไปในช่วงสงคราม"

อ้างอิง

History.com 

Researchgate.com 

Vietnamembassy-USA

UNESCO 

World Bank

World Bank 2

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...