บันไดการเงิน 4 ขั้นเพื่อจุดหมายเกษียณสบาย

จุดหมายที่สำคัญของผู้วางแผนเกษียณทุกคนคือ การสร้างเงินทุนไว้สำหรับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ แต่รูปแบบชีวิตหลังเกษียณที่ต้องการหรือพื้นฐานของรายได้ ณ วันที่เริ่มวางแผนเกษียณของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน การใช้คำแนะนำวางแผนเกษียณแบบทั่วไปอาจมีความผิดพลาดและต้องมาแก้ไขระหว่างทางจนผลลัพธ์ไม่ตรงกับวิถีชีวิตที่ตนเองต้องการได้ ดังนั้น ก่อนวางแผนเกษียณอาจต้องเข้าใจแนวคิดทางการเงินที่ช่วยปกป้องสิ่งที่จะผลกระทบต่อแผนเกษียณ ประกอบด้วย 1. รู้สถานะการเงินในปัจจุบัน 2. เริ่มบริหารความเสี่ยง 3. เข้าใจการลงทุนและ 4. การปรับปรุงแผนเกษียณให้เป็นไปได้ เพื่อเป็นแนวทางกำหนดแผนเกษียณให้แม่นยำ สมเหตุสมผล และเหมาะสมกับวิถีชีวิตที่ตนเองต้องการหลังเกษียณ

การรู้สถานะการเงินปัจจุบันจะพิจารณา “ความสามารถในการอยู่รอด” คำนวณมาจากรายรับรวมส่วนบุคคลกับรายจ่ายรวมในแต่ละปีว่าเป็นบวกหรือไม่ ถ้าเป็นบวกหรือรายรับมากกว่ารายจ่ายก็จะมีโอกาสนำเงินคงเหลือไปต่อยอดแผนการเงินที่จำเป็นอื่นๆ โดยเริ่มจากการเตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน มีไว้สำหรับกรณีที่สูญเสียรายได้โดยที่ไม่คาดฝันและลดผลกระทบแผนการเงินที่วางไว้ชั่วคราว

โดยเบื้องต้นควรมีสำรองไว้ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่ ความมั่นคงของรายได้ (มั่นคงมาก สำรองน้อย), ทรัพย์สินที่คล้ายเงินสด (ขายได้เร็ว สำรองน้อย) และ 3 ภาระอื่นๆ ภายในครอบครัว (เป็นเสาหลักครอบครัว ต้องสำรองเยอะ) เป็นต้น

ขั้นต่อมาคือ เริ่มบริหารความเสี่ยงทางการเงินจากเหตุไม่คาดฝัน โดยค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่มักเกิดขึ้นจนทำให้แผนการเงินมีปัญหาได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและความไม่แน่นอนของผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งในด้านค่าใช้จ่ายสุขภาพจะนิยมใช้วิธีการโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันภัยต่างๆ ช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ โดยเฉพาะกลุ่มโรคร้ายแรงที่มีค่ารักษาสูงระดับหลักล้านบาทขึ้นไปต่อโรค

และความเสี่ยงทางการเงินอีกประการคือ ความไม่แน่นอนของผลตอบแทนจากการลงทุนอาจใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีการจ่ายผลตอบแทนสม่ำเสมอโดยไม่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ หรือตลาดหุ้น เช่น ประกันบำนาญ โดยอาจตัดสินใจทำประกันบำนาญที่มีจ่ายบำนาญระยะยาวที่สุดเพื่อเป็นหลักประกันกรณีอายุยืนยาว และเลือกระดับเงินคืนที่ช่วยเป็นค่าใช้จ่ายปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ เป็นต้น จากนั้นก็มุ่งเน้นกับการออมและลงทุนเพื่อสร้างเงินทุนหลังเกษียณ ซึ่งกลยุทธ์อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวันที่เริ่มลงทุนจนถึงวันเกษียณ 

จากสถิติของ JP Morgan ปัจจุบันพบว่าวิธีกระจายสินทรัพย์ลงทุนระหว่างตลาดหุ้นทั่วโลก 60% กับตราสารหนี้ 40% มีผลตอบแทนขั้นต่ำเป็นบวกเสมอเมื่อผ่านไปเพียง 5 ปี ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่กำลังจะเกษียณภายใน 5 ปีและไม่ต้องการให้เงินลงทุนลดลง ส่วนผู้ที่มีระยะเวลาวางแผนเกษียณมากกว่านั้น อาจเพิ่มสัดส่วนหุ้นมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างเงินทุนให้ถึงเป้าหมายเกษียณโดยคัดเลือกกลุ่มหุ้นที่มีโอกาสเติบโตระยะยาวจากเมกะเทรนด์โลก เช่น กลุ่มเทคโนโลยีหรือเฮลธ์แคร์ ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา 2 กลุ่มนี้สามารถสร้างผลตอบแทนโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นทั่วไป จากอานิสงค์การพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดหรือสังคมผู้สูงอายุ

ขั้นสุดท้ายคือ การคำนวณหาความเป็นไปได้ของแผนเกษียณภายใต้เงื่อนไขสถานะการเงินในช่วงที่ผ่านมาและปรับปรุงให้เหมาะสมตามกำลังหากยังไม่เป็นไปตามสถานะการเงินที่เป็นอยู่ ตัวอย่างเช่น นางสาว เอ อายุ 30 ปี มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 50,000 บาท หากต้องการวางแผนเกษียณโดยตั้งเป้าหมายว่าเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี มีเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณเดือนละ 80,000 บาทไปจนถึงอายุ 90 ปี แบ่งเงินออมเพื่อลงทุนประมาณ 10% ของรายได้ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% โดยปัจจุบันมีเพียงประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนโยบายลงทุนในหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40% มูลค่าปัจจุบัน 500,000 บาทคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40% อยู่ที่ 6% ต่อปี

จากการคำนวณด้วยอัตราผลตอบแทนหลังเกษียณปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 1% ต่อปี จะต้องเตรียมเงิน ณ วันเกษียณอยู่ที่ 28.5 ล้านบาท ขณะที่เงื่อนไขของการลงทุนทั้งหมดจะมีโอกาสสร้างเงินทุนได้เท่ากับ 23.8 ล้านบาท ซึ่งนางสาวเอสามารถปรับปรุงแผนเกษียณได้ด้วย 3 วิธี คือ 1. เกษียณอายุช้าลง จากตัวอย่างนี้ถ้าเปลี่ยนใจเกษียณอายุ 57 ปี เงินทุนจะพอดีกับเป้าหมายค่าใช้จ่าย 2. ปรับเงินใช้หลังเกษียณให้น้อยลงเหลือ 65,000 บาทต่อเดือน หรือ 3. ปรับแผนการลงทุน ซึ่งอาจต้องเพิ่มสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 7.7% หรือสุดท้ายอาจจำเป็นต้องเริ่มต้นออมและลงทุนเพิ่มเติมอีกเดือนละ 4,000 บาท

จะเห็นว่าแท้จริงแล้วการวางแผนเกษียณอาจเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ซึ่งประกอบไปด้วยจินตนาการโดยตั้งเป้าหมายว่าจะออกแบบไลฟ์สไตล์ตนเองในวันเกษียณอย่างไร ขณะเดียวกันยังต้องอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดที่เหมาะสมและเป็นไปได้จริงผ่านพิรามิดทางการเงินและสถิติผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนระยะยาวในอดีต เพื่อให้แผนการเงินตรงตามที่ตนเองต้องการและมีความเป็นไปได้จริง

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...