ธนาคารไทยเครดิต IPO แบงก์ในรอบ 10 ปี พอร์ตสินเชื่อกว่า 1.38 แสนล้าน

ตลาดหุ้น IPO ในปี 2567 เรียกได้ว่ากลับมาคึกคักกันตั้งแต่ต้นปี เมื่อเห็นชื่อ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น CREDIT กำลังเดินหน้าแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก จำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น โดยมี "นายวิญญู ไชยวรรณ" เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เสนอขาย หุ้น IPO ในรอบ 10 ปี ที่เข้ามาระดมทุน  

รู้จักธนาคารไทยเครดิต ธนาคารพาณิชย์เพื่อคนตัวเล็กในสังคม

ธนาคารไทยเครดิต เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์ (Micro and Nano Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร กลุ่มลูกค้าดังกล่าวมีจำนวนมากและถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงบริการเงินฝาก สินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และด้วยโมเดลธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถเข้าถึงเงินทุนจากเงินฝากของกลุ่มลูกค้าธนบดีธนกิจ และให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เท่าที่ควร อีกทั้งความเชี่ยวชาญของบุคลากร ซึ่งเป็นหัวใจในการให้บริการควบคู่การบริหารความเสี่ยงสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงอย่างรัดกุม พร้อมกับนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

ทำให้ในวันนี้ "ธนาคารไทยเครดิต" มีตำแหน่งทางการตลาดที่โดดเด่น และเป็นธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบด้วยความเชื่อมั่นในปรัชญา "Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ"

ธนาคารไทยเครดิต ช่องทางสาขาที่เป็นเอกลักษณ์

ปัจจุบัน ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 ธนาคารไทยเครดิต มีสาขาให้บริการทั้งหมด 527 สาขา แบ่งเป็นสาขาเงินฝากจำนวน 27 สาขา สาขาสินเชื่อ 267 สาขา และ Kiosk อีก 233 สาขา ซึ่งถือว่ามีสาขาให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยี เช่น ไมโครเพย์ มาใช้ เพื่อช่วยทำให้เรื่องธนาคารเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงได้สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีบัญชีดาวน์โหลดทั้งหมดที่ผ่านการยืนยันตัวตน KYC 428,927 บัญชี จำนวนผู้ใช้งาน (Active User) 30.4% จำนวนธุรกรรมเข้าออก 13,997 ล้านบาท

ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง

  • ปี 2563 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370.9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,372.9 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 8,493.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,935.0 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 11,052.4 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,352.5 ล้านบาท
  • งวด 9 เดือน ปี 2566 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 9,783.8 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,816.7 ล้านบาท ตามลำดับ 

จุดเด่นการเติบโตสูงเมื่อเทียบอุตสาหรรม

ณ งวด 9 เดือนของปี 2566 ธนาคารไทยเครดิต ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มี NIM (Net Interest Margin) สูงสุดในอุตสาหกรรม โดยสูงกว่า 8% ประกอบกับมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ต่ำสุดในอุตสาหกรรม อยู่ที่ประมาณ 36.2% มีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) สูงกว่า 20% ตอกย้ำ "ไทยเครดิต" เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ ยังมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ดีกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมด้วย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมระหว่างปี 2563 - 2565 (CAGR) ของเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ อยู่ที่ร้อยละ 33.0 ต่อปี ณ งวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ธนาคารฯ มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ จำนวน 138,435.1 ล้านบาท

พอร์ตสินเชื่อกว่า 1.38 แสนล้าน

ธนาคารไทยเครดิต มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ จำนวน 138,435.1 ล้านบาท ขณะที่มีโครงสร้างจำนวนสัญญาสินเชื่อรวม 371,699 สัญญา โดยโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อแบ่งออกเป็น ดังนี้

  • สินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี 67.7%
  • สินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์  15.3%
  • สินเชื่อบ้านแลกเงิน 15.2%
  • อื่นๆ 1.8%

นักลงทุนสถาบันระดับโลกเชื่อมั่นลงทุนสัดส่วนประมาณ 40% ของ IPO

อีกหนึ่งในความน่าสนใจคือ ธนาคารฯ ได้เปิดข้อมูลในแบบไฟลิ่ง มีผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมจำนวน 6 ราย ได้ตกลงที่จะซื้อหุ้นสามัญของธนาคารฯ และผู้ถือหุ้นเดิมที่เสนอขายเป็นจำนวนรวมประมาณไม่เกิน 140,352,490 หุ้น ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย คิดเป็นประมาณ 40% ของจำนวนหุ้น IPO ทั้งหมด โดย Cornerstone Investors ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระดับโลก เลือกมาลงทุนใน หุ้น CREDIT สะท้อนความเชื่อมั่นในการเติบโตอย่างมั่นคง อีกทั้งธนาคารไทยเครดิต เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งเดียวในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ (Underserved) ให้สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และมีคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ตอกย้ำการเป็นธนาคารที่พึ่งของชุมชนและการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถาบันการเงินระดับโลกที่เข้ามาลงทุน 

แผนการเสนอขาย IPO

ธนาคารไทยเครดิต เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น 28.00 - 29.00 บาท/หุ้น เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยร่วมจองซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 - 26 มกราคม 2567 และเตรียมเปิดให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ 31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2567 

เตรียมพบกับ ธนาคารไทยเครดิต ซึ่งคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหมวดธุรกิจ (Sector) กลุ่มธุรกิจการเงิน/ธนาคาร ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "CREDIT"

หมายเหตุ  

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวน หรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

อิสราเอลเดินหน้า'ปลิดชีพศัตรู'กำจัดแกนนำได้อีก l World in Brief

อิสราเอลสังหาร 2 ว่าที่ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลกล่าวเมื่อวันอังคา...

โพลใหม่ CNN ‘แฮร์ริส-ทรัมป์’ สูสี 49% ต่อ 47%

ความนิยมในตัวแทนจากพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน ที่ลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดียังคงใกล้เคียงกันมาก...

หนึ่งขวบปี: แนวรบตะวันออกกลาง เหตุการณ์ไม่เหมือนเดิม

ในฝั่งของสงครามรัสเซียยูเครน สงครามก็ดูรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่สองฝ่ายบุกเข้าไปในประเทศของอีกฝ่ายหนึ...

ธุรกิจ 'เวอร์ชวลแบงก์' ไม่ง่าย! 8 แบงก์ในฮ่องกง 'ขาดทุนยับ' ครึ่งปีแรก

ธุรกิจ “ธนาคารเสมือน” (Virtual Bank) หรือธนาคารที่ไม่มีสาขา ไม่ต้องมีพนักงาน ไม่มีเวลาปิด และไม่มีวั...