บวท. ลุยหารือร่วมหน่วยงานการบินจีน ดัน ‘อู่ตะเภา’ รับนักท่องเที่ยว

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้วิทยุการบินฯ เตรียมความพร้อมในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการเปิดใช้งานท่าอากาศยานอู่ตะเภาอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพทางการบิน ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว และการคมนาคมขนส่งทางอากาศ

โดย บวท.ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานท่าอากาศยานอู่ตะเภา เดินทางไปร่วมประชุมและศึกษาดูงานหน่วยงานด้านการบิน ณ เมืองเจิ้งโจว และเมืองลั่วหยาง สาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นโอกาสดีที่ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการบิน เช่น หน่วยงานให้บริการการเดินอากาศของจีน ได้แก่ ATMB (Air Traffic Management Bureau) หน่วยงานที่บริหารท่าอากาศยาน และผู้ประกอบการสายการบินจีน  คือ สายการบิน China West Air สายการบิน Lucky Airline และสายการบิน China Urumqi  เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บูรณาการความร่วมมือ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน 

โดยสายการบิน China Urumqi  ได้ให้ความสนใจเปิดเส้นทางการบิน เจิ้งโจว – อู่ตะเภา และได้ทำการบินแบบ Schedule Flight โดยทำการบินทุกวันเสาร์ สัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2567 ทั้งนี้ ได้มีการเริ่มทำการบินสู่สนามบินอู่ตะเภาครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา จากผลของการขับเคลื่อนโครงการอู่ตะเภาเฟสศูนย์ ซึ่งมาจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง วิทยุการบินฯ กับท่าอากาศยาน อู่ตะเภา ส่งผลให้เกิดเครือข่ายการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างประเทศไทย – จีน อีกด้วย

นอกจากนี้ ส่วนสำคัญยังมาจากปัจจัยการเปิดตลาดการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยมุ่งเน้นให้สนามบินอู่ตะเภา เป็นอีกจุดมุ่งหมายหนึ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญ เป็นการลดความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สนามบินอู่ตะเภามีความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินได้อย่างเต็มศักยภาพ มีเป้าหมายเพิ่มผู้โดยสาร 3 ล้านคน ในปี 2570 อีกทั้งมีแผนพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินอู่ตะเภา ก่อนเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2571

ทั้งนี้ วิทยุการบินฯ ได้เข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ โดยทำการออกแบบห้วงอากาศและวิธีปฏิบัติการบิน จัดทำเส้นทางบินแบบคู่ขนาน (Parallel Route) ระหว่าง จีน – ไทย  สอดรับการเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะช่วยยกระดับความปลอดภัยในการทำการบิน ทำให้สามารถบริหารจัดการจราจรทางอากาศได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน 

นอกจากนี้ ได้จัดเตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการการเดินอากาศ ทั้งด้านบุคลากร ระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ บริการระบบการสื่อสาร ระบบช่วยการเดินอากาศ และระบบติดตามอากาศยาน ให้ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน และอำนวยความสะดวกให้กับทุกเที่ยวบิน ที่เข้ามาใช้บริการ ณ สนามบินอู่ตะเภา ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศ สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมให้ประเทศชาติ ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...