กระทรวงเกษตร โชว์ฟอรัมอาหารโลก ที่เบอร์ลิน หนุนตั้งกองทุนพัฒนาเกษตรเอเชีย

Key Point

.กระทรวงเกษตรฯเข้าร่วมงาน Global Forum for Food and Agriculture ครั้งที่ 16

.ผลักดันตั้งกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม 

.ศึกษาตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไทย

 

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุม Global Forum for Food and Agriculture ครั้งที่ 16 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 17 – 22 มกราคม 2567 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับโจทย์ เพื่อนำกลับมาเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จอยู่หลายประเด็น ได้แก่

การปฏิรูประบบเกษตรและอาหารของไทยอย่างเป็นรูปธรรม การจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมในไทย รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยกับประเทศคู่ภาคี และการเสริมสร้างการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จของความร่วมมือระดับพหุภาคีหรือทวิภาคี ซึ่งได้ปิดฉากลงอย่างสวยงาม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับรัฐมนตรีด้านการเกษตรของประเทศอื่น ๆ กว่า 80 ประเทศ ร่วมเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการปฏิรูประบบเกษตรและอาหาร เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เป้าหมายที่ 2 ว่าด้วยการยุติความหิวโหย” และการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการ (1) ส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืน (2) การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน (3) การลดอาหารเหลือทิ้ง และ (4) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเปาะบาง

โดยพิจารณาจากความต้องการของ “ประชาชนทุกคน” เป็นหลัก ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่แล้ว

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการหารือกับนาง Gerardine Mukeshimana รองประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม โดยนาง Gerardine Mukeshimana ได้ขอบคุณฝ่ายไทยที่ให้การสนับสนุนการเป็น “ประเทศเจ้าภาพ (host country)” ในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ซึ่งยังคงมีขั้นตอนการดำเนินงานอีกหลายขั้นตอนก่อนที่จะสามารถจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคดังกล่าวในประเทศไทยได้

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งให้ทราบว่า ฝ่ายไทยเห็นความสำคัญของกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมอย่างมาก ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเสริมสร้างศักยภาพของเกษตรกร ซึ่งการจัดตั้งสำนักงานดังกล่าว จะทำให้ไทยเป็นประเทศเจ้าภาพของ 3 หน่วยงานระดับโลกที่มาจากกรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี นอกเหนือจากสำนักงานภูมิภาคขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และสำนักงานภูมิภาคของโครงการอาหารโลก (WFP)

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อเร่งรัดการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคดังกล่าวให้แล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงที

สำหรับในมิติทวิภาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะหารือกับผู้นำของประเทศคู่ภาคีต่าง ๆ อาทิ นาย Piet Adema รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ธรรมชาติและคุณภาพอาหารแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ นาง Claudia Müller รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และนาย Harvick Hansnul Qalb รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการค้าสินค้าข้าว 2 ล้านตัน และความร่วมมือการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมระบบเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืน และการเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวแก่เกษตรกรให้มีความยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรและความมั่นคงทางอาหารของโลกต่อไป

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีโอกาสศึกษาตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไทย ณ ร้านค้า Vinh-Loi กรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นร้านค้าผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องอุปโภคไทยรายใหญ่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า สินค้าผักผลไม้สดและแช่แข็งได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจากผู้บริโภค

ท้องถิ่น เนื่องจากรสชาติและมีความเชื่อมั่นในคุณภาพที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกะเพรา โหระพา มะพร้าวน้ำหอม มะม่วงน้ำดอกไม้ เงาะ ลำไย และมังคุด นอกจากนี้ ตลาดเยอรมนียังมีความต้องการสินค้าไทยอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นส้มโอสายพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง มะพร้าว ลิ้นจี่ ทุเรียน และผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันการขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไทยให้ในสหภาพยุโรปมากขึ้น ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังในการซื้อสูง พร้อมทั้งสนับสนุนการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย

สำหรับการเดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเกษตรโลก ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า) ในครั้งนี้ นอกจากได้แสดงถึงศักยภาพและบทบาทของไทยด้านการเกษตรบนเวทีโลกแล้ว ภารกิจในการเยี่ยมชมหารือช่องทางในการประยุกต์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรรูปแบบใหม่เข้ากับรูปแบบการทำเกษตรของไทยเพื่อผลักดันสู่การทำการเกษตรแม่นยำ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รวมทั้งการศึกษาตลาดสินค้าเกษตรและอาหารไทย ณ ร้านค้าท้องถิ่น ล้วนแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเพื่อบรรลุนโยบาย “เกษตรนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางไว้

 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา ปชน.ตั้ง 10 'ดาวเด่น' นั่งรองหัวหน้า - ชิง 12 รองเลขาฯ สส.ล็อบบี้กันวุ่น

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2567 มีรายงานจากพรรคประชาชน (ปชน.) ว่า ในวันที่ 21-22 ก.ย. นี้ พรรคประชาชนจัดสัม...

ตะคริวตอนนอนอันตรายหรือไม่? วิธีบรรเทาและเมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์?

ตะคริว อาการกล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งตัวอย่างฉับพลัน มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณท...

เขากลับมาแล้ว "ผู้เล่นแมนยูฯ" จัดซุ้มต้อนรับ "น้องใหม่แต่หน้าเก่า" หลังโผล่สนามซ้อม

บรรดานักเตะของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พากันจัดซุ้มต้อนรับ แข้งใหม่แต่หน้าเก่า หลังโผล่สนามซ้อมแบบสุดเซ...

"คฑาวุธ-อรุษ" 2 ผู้รักษาประตูฟุตซอลไทย เปิดใจหลังแพ้ "บราซิล" 1-9 ศึกชิงแชมป์โลก

2 ผู้รักษาประตูฟุตซอลทีมชาติไทย ระบุ ฟุตซอลไทย ได้ประสบการณ์เพียบจากเกมแพ้ บราซิล ในศึกชิงแชมป์โลก 2...