เข้าใจกลยุทธ์ Net Zero ผ่านเรดาร์นักลงทุน

สวัสดีปีใหม่ครับ

ปีเก่าผ่านไป ก้าวสู่ปีใหม่ 2567 แล้ว แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังคงทวีความรุนแรงอย่างไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านกายภาพ (Physical Risk) และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) ที่องค์กรต่างๆ ต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การจะทำความปรารถนาให้เป็นจริง ย่อมเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย 

หลายปีที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจจำนวนไม่น้อยได้แสดงความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติงาน (Own Operation) ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างไรก็ดี องค์กรที่ต้องอาศัยเงินทุนจากนักลงทุนภายนอกเพื่อสร้างการเติบโตจำเป็นต้องสนใจว่านักลงทุนนั้นมี “เรดาร์” ตรวจจับความเขียวของบริษัทอย่างไรบ้าง เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสรับฟังมุมมองนักวิเคราะห์และที่ปรึกษาการลงทุนระดับโลกถึงการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร ณ ปัจจุบันว่าจำเป็นต้องมี “เช็คลิสต์” อะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น การมีเพียงเป้าหมายระยะยาวเพื่อบรรลุ Net Zero ก่อนปี ค.ศ. 2050 เพียงอย่างเดียว ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เนื่องจากในมุมมองของนักลงทุนนั้น บริษัทต่างๆ ควรแสดงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเป้าหมายและแผนปฏิบัติงานระยะสั้น รวมทั้งแผนการจัดการความเสี่ยงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานที่ยัง “ไม่สะอาด” มากนักในแง่ของการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ บริษัทไม่สามารถมุ่งเน้นพัฒนาเพียงองค์กรตนเองเพื่อความยั่งยืนเท่านั้น แต่ควรสนใจความยั่งยืนของทั้ง Supply Chain เลยทีเดียว

ทั้งนี้ องค์กรต้องหันมาดูว่าเป้าหมายระยะสั้นของตนในอีก 2-3 ปีนี้คืออะไร และจะมีแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างไร นอกจากนี้ ต้องมีวิธีการตรวจวัดด้วยว่า แนวทางการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจของตนสามารถลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้จริงและเป็นสิ่งที่นักลงทุนหรือนักวิเคราะห์มองหาหรือไม่ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ควรนำมาเข้ากระบวนการพิจารณาอาจรวมถึง ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจจะต้องยอมรับว่า บริษัทจำนวนไม่น้อยยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าต้องการจะทำอะไรในระยะสั้น 

หนึ่งในแนวทางสากลที่เป็นที่สนใจเป็นอย่างยิ่งคือ Science Based Targets Initiatives (SBTi) ซึ่งหมายความถึง การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของความตกลงปารีส ซึ่งต้องการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเข็มทิศช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถกำหนดเป้าหมายระยะสั้นในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยสอดคล้องกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดด้านสภาพภูมิอากาศ การบูรณาการแนวทาง SBTi เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความพร้อมขององค์กรในการเปลี่ยนผ่าน อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดประโยชน์หลายประการ ทั้ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนให้เกิดความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อกฏระเบียบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีแก่นักลงทุน ตลอดจนส่งเสริมความสามารถด้านการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม คือ การหลีกเลี่ยงการกล่าวอ้างเกินจริง (Greenwashing) ซึ่งจำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์ให้ลึกและรอบด้านว่า บริษัทนั้นๆ มีความ “เขียว” ของแท้หรือไม่ ปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางการป้องกันการกล่าวอ้างเกินจริงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นไปได้ว่าเราอาจได้เห็นแนวทางหรือกฎหมายจากหน่วยงานกำกับดูแลในอนาคต โดยบริษัทที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงนั้นต้องสามารถวิเคราะห์และประเมินตนเองในมิติต่างๆ อย่างครอบคลุม พร้อมตั้งเป้าที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อให้สามารถทำตามที่ได้ประกาศไว้ พร้อมเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา 

Harvard Business Review (HBR) นิตยสารธุรกิจระดับโลกได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ตลาดหุ้นนั้นตอบสนองอย่างดีต่อการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยราคาหุ้นของบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลนี้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 1.21 นอกจากนี้ หลังจากประเทศไทยได้กำหนด Thailand Taxonomy หรือ มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น จงเริ่มเปิดเผยเสียแต่วันนี้ ก่อนที่จะมีคนอื่นมาพูดเรื่องของคุณแทนในวันข้างหน้า

นอกจากนี้ การเริ่มตั้งเป้าเพื่อหา “โอกาส” ใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจผ่านการจัดสรรเงินลงทุนท่ามกลางวิกฤติโลกเดือดก็สำคัญเช่นกัน เพื่อเพิ่มกระแสรายได้ของบริษัทตนเอง ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนหรือความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขนส่งเพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น ซึ่งการเปิดเผย “แต้มบุญ” ทั้งในมิติด้านความเสี่ยงและด้านโอกาสต่อสาธารณะนี้ ย่อมกลายเป็น “แต้มต่อ” ขององค์กรเองในท้ายที่สุด

ดังนั้น หากบริษัทและองค์กรต่างๆ สามารถวางเป้าหมายและดำเนินตามแผนงาน ปราศจากการกล่าวอ้างเกินจริง และเปิดเผยข้อมูลด้วยการใช้มาตรฐานระดับสากลที่ทุกฝ่ายยอมรับ ก็ย่อมดึงดูดบรรดานักลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2050 เพราะเวลานั้นเดินหน้าทุกนาทีแบบไม่รอใคร เราจึงต้องใส่ความพยายามมากขึ้น เพื่อให้การบรรลุเป้าหมายโลกสีเขียวไม่ไกลเกินฝันครับ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...