‘ครม.’ 16 ม.ค.เคาะกรอบงบฯ 68 3.6 ล้านล้าน ขาดดุลฯ 7.13 แสนล้าน

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 มกราคม 2567 นี้ สำนักงบประมาณ จะเสนอกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในปฏิทินงบประมาณต่อไป

สำหรับการเสนอกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ครั้งนี้ สำนักงบประมาณ จะสรุปผลการหารือของ 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ คือ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ซึ่งได้ร่วมกันพิจารณาประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2568 เสร็จสิ้นแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เบื้องต้นจะมีกรอบวงเงินเป็นไปตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม.ไปแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้

วงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 มีวงเงินรวม 3.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากปีงบประมาณ 2567 ที่มีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท โดยยังเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลการคลัง 713,000 ล้านบาท ภายใต้การประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ 2.887 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.6%

ส่วนอัตราหนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 12,664,069 ล้านบาท คิดเป็นหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 63.73% โดยประมาณการเศรษฐกิจในปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วง 3.1 - 4.1% (ค่ากลาง 3.6%) และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1.5 - 2.5% โดยมูลค่า GDP ของไทย อยู่ที่ 20,049,451 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีอยู่ที่ 19,022,250 ล้านบาท

หลังจาก ครม. เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 แล้ว ขั้นตอนต่อไปสำนักงบประมาณ จะให้หน่วยงานต่าง ๆ เสนอคำของบประมาณรายจ่ายเข้ามาให้สำนักงบประมาณพิจารณา ซึ่งในการประชุมครม. ครั้งนี้ จะเสนอให้ครม.ขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 สัปดาห์ จากเดิมที่กำหนดให้ส่งคำขอภายในวันที่ 26 มกราคม 2567 เป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 แทน

“สำนักงบประมาณ จะขอให้ครม.ขยายระยะเวลาการส่งคำขอของทุกหน่วยงานไปอีก 1 สัปดาห์ เพราะอยากให้ทุกหน่วยงานได้จัดทำคำขอให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายเอาไว้เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีนโยบายย่อยต่าง ๆ กว่า 142 ประเด็น เพื่อให้การทำงบประมาณให้ตรงตามนโยบายของรัฐบาลมากที่สุด” นายเฉลิมพล ระบุ

นายเฉลิมพล ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุตอนหนึ่งว่า รัฐบาลจะตั้งงบประมาณเผื่อไว้สำหรับการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในกรณีที่ต้องใช้พัฒนาและดำเนินโครงการด้วย แต่ขอให้ตั้งอย่างสมเหตุสมผล ในปีงบประมาณ 2568 นั้น คงต้องดูก่อนว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อทำโครงการได้ข้อสรุปอย่างไรก่อน เช่น หากผลักดันการออกพรบ.กู้เงินได้ ก็ต้องพิจารณาเรื่องของการตั้งงบประมาณเพื่อใช้หนี้ด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...