รัฐอัดงบฯ 4.1 หมื่นล้านอุดหนุน 'EV' ต่อเนื่อง 4 ปี 67 - 70 'เอกชน' ลงทุนต่อเนื่อง

มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก (EV 3) ที่เริ่มปี 2565 ส่งผลกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเต็มที่ทำให้ยอดจดทะเบียนรถใหม่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.2566 อยู่ที่ 67,056 คัน เพิ่มขึ้น 7.9 เท่า เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 

รวมทั้งผู้ประกอบลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมสรรพสามิต รวม 19 ราย โดยมีรถรับเงินอุดหนุนแล้ว 28,841 คัน และมีรถนำเข้าแต่ยังไม่ยื่นรับเงินอุดหนุน 61,436 คัน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงส่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 ธ.ค.2566 เห็นชอบมาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) วงเงิน 41,186 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เสนอ รวม 2 มาตรการ คือ

1.วงเงินเพื่อสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าตามมาตรการ EV3.5 ระหว่างปี 2567-2570 รวมระยะเวลา 4 ปี วงเงิน 34,060 ล้านบาท 

2.มาตรการอุดหนุน EV 3.0 เพิ่มเติมหลังจากที่ได้มีการขยายระยะเวลามาตรการนี้ให้ครอบคลุมระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค.2566 วงเงิน 7,125 ล้านบาท โดยกรมสรรพสามิตได้เสนอขอใช้งบประมาณจากงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนเพื่อจ่ายให้กับผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ปี 2567

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะเลขานุการบอร์ดอีวีแห่งชาติ เปิดเผยว่ามาตรการ EV 3.5 ที่ ครม.เห็นชอบครั้งนี้ เป็นมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงเวลา 4 ปี (2567-2570) โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2567 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่อง และผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

ทั้งนี้บีโอไอร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ประชุมชี้แจงรายละเอียดของมาตรการ EV3.5 รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบอร์ดบีโอไอเห็นชอบเมื่อเดือน พ.ย.2566 โดยจะมีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมกว่า 30 ราย

สำหรับมาตรการ EV3.5 เป็นมาตรการที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค 

รวมทั้งการออกมาตรการ EV3.5 จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยเพิ่มเติม ทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV และการดึงบริษัทรถยนต์รายใหม่เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศเพิ่มเติมด้วย 

มั่นใจรักษาท็อปเท็นผู้ผลิตรถโลก

นอกจากนี้ บีโอไอในฐานะเลขานุการของบอร์ด EV ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเดินหน้าผลักดันเต็มที่ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573 ตลอดจนรักษาความเป็นผู้นำด้านยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก และสนับสนุนเป้าหมายประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050

สำหรับมาตรการ EV 3.5 จะมีผลใช้บังคับในช่วงปี 2567-2570 โดยครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะ ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยสิทธิประโยชน์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้า รถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้

  1. รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kVh จะได้รับเงินอุดหนุนปีที่ 1 คันละ 100,000 บาท , ปีที่ 2 คันละ 75,000 บาท และปีที่ 3-4 คันละ 50,000 บาท สำหรับรถที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนปีที่ 1 คันละ 50,000 บาท ปีที่ 2 คันละ 35,000 บาท และปีที่ 3-4 คันละ 25,000 บาท
  2. รถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 100,000บาท ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
  3. รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 KWh จะได้รับเงินอุดหนุนคันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ 

นอกจากนี้ ภายใต้มาตรการ EV 3.5 จะลดอากรขาเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า สำเร็จรูป (CBU) ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก (2567-2568) และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท

เงื่อนนำเข้า1คัน ผลิตชดเชย2คัน

ทั้งนี้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนในประเทศให้ผู้รับการสนับสนุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ในปี 2570 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่ร่วมมาตรการ EV3 แล้ว หากประสงค์เข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ให้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขแต่ละมาตรการ EV3.5

โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 34,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 4 ปี

ทั้งนี้กรมสรรพสามิตคาดว่าจะมียานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการสนับสนุนตลอดระยะเวลา 4 ปี จำนวน 830,000 คัน โดยแบ่งเป็น

  • รถยนต์ไฟฟ้า 454,000 คัน
  • รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 346,000 คัน
  • รถกระบะไฟฟ้า 30,000 คัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV 3 จากเดิมที่ต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธ.ค.2566 ให้ขยายเวลาเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค.2566 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ม.ค.2567 เพื่อให้ผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงปลายปี 2566 และยื่นจดทะเบียนได้ทันภายในเดือน ม.ค.2567

ทั้งนี้ บีโอไอจะร่วมกับกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน จัดประชุมผู้ประกอบการรถยนต์และจักรยานยนต์เพื่อชี้แจงมาตรการ EV 3.5 รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในวันที่ 22 ธ.ค.2566

 

เอื้อรายใหม่รายเก่าเพิ่มเซ็กเมนต์ใหม่

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่

โดยในส่วนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ช่วงระหว่างปี2567-2570 ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มาตรการนี้ออกมาก่อนสิ้นปี 2566 ที่ EV 3.0 จะสิ้นสุดลง ทำให้มาตรการส่งเสริมมีความต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของผู้บริโภค และกลุ่มผู้ประกอบการที่สามมารถวางแผนธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งเชื่อว่าเมื่อมีความแน่นอนของมาตรการจะดึงความสนใจการลงทุนของผู้ผลิตรายใหม่ รวมถึงมีส่วนช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าจากผู้ประกอบการรายเดิมที่เข้าร่วม EV 3.0 อยู่แล้ว ที่ใช้สิทธิกับรถรุ่นอื่นที่ยังไม่ได้ทำตลาดในขณะนี้ได้ โดยนำเข้ามาภายใต้สิทธิ EV 3.5

ซึ่งประเด็นนี้ ก่อนหน้านี้ นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์เอ็มจี แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกัน จะช่วยให้บริษัทพิจารณานำรถรุ่นอื่นที่เป็นเซ็กเมนต์ที่แตกต่างกับอีวีที่เอ็มจีจำหน่ายในปัจจุบันเข้ามาเสริมตลาดได้

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนเงื่อนไขของมาตรการใหม่ที่มีสิทธิประโยชน์ลดลงเชื่อว่าจะไม่มีผลมากนัก เพราะลดในส่วนเงินอุดหนุนโดยตรง ขณะที่เงื่อนไขอื่นยังอยู่ โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ซึ่งมีผลต่อโครงสร้างราคาพอควร

จุดคุ้มทุนการผลิต 1 แสนคัน/ปี

ขณะที่เงื่อนไขการผลิตคืนที่เข้มข้นขึ้นจากเดิมที่กำหนดให้ผลิต 1 เท่า (หากเริ่มผลิตปี 2567) และ 1.5 เท่า (หากเริ่มผลิตปี 2568) ของจำนวนรถที่ใช้สิทธิ์ เป็น 2 เท่า (2569) และ 3 เท่า (2570) จะไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ประกอบการ เพราะการลงทุนตั้งโรงงานทุกรายต้องการผลิตรถจำนวนมากเพื่อให้มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ (economies of scale) และถึงจุดคุ้มทุนเร็ว

“โดยปกติการตั้งโรงงานก็จะต้องมีการผลิตจำนวนมาก เพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุน อย่างเช่นที่ผ่านมา การผลิตของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ก็มองไว้ที่ปีละ 1 แสนคัน”

และการผลิตคืนของหลายโรงงานรวมกันจะไม่มีผลต่อภาวะล้นตลาด เพราะเงื่อนไขการผลิตคืนของภาครัฐนั้น สามารถทำตลาดได้ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและการส่งออก

รวมทั้งประเด็นที่มองไปยังกลุ่มผู้ประกอบการสัญชาติจีน เชื่อว่าจะตรงเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจจีน หรือ รัฐบาลจีน ที่เห็นว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัว การมองหาตลาดต่างประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญและทุกรายมาลงทุนต่างมองตลาดประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวาเหมือนไทย

ส่วนสิ่งที่ไทยจะได้จากมาตรการ EV 3.5 คือ เทคโนโลยี และตลาดที่ขยับขึ้น เพราะเงื่อนไขที่เข้มขึ้น โดยเฉพาะความจุแบตเตอรีจากเดิมที่กำหนดเพดานที่ 30 kWh เพิ่มเป็น 50 kWh ทำให้รถที่จะร่วมโครงการและได้สิทธิพิเศษสูงสุด จะสะดวกในการใช้งานในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น และรองรับการเดินทางไกลขึ้น

ส่วนภาพรมของตลาดอีวีจะขยายตัวแค่ไหนขึ้นกับรุ่นรถที่จะมาทำตลาด และโครงสร้างราคาที่ตรงความต้องการผู้บริโภค แต่เชื่อว่าตลาดยังขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงส่วน ปีนี้คาดว่าตลาดรวมอีวีจะอยู่ระดับ 8 หมื่นคัน

“อีวีในปีนี้มี 8 หมื่นคัน ส่วนปี 2565 ที่เริ่มมีมาตรการอีวี 3.0 มีตลาด 1 หมื่นคัน ดังนั้นปี 2567 ที่หลายบริษัทเริ่มผลิตคืนจะผลิตอีวีในประเทศ 9 หมื่นคัน” นายสุรพงษ์กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไทย’ ร่วงลงสองอันดับ! ใน IMD World Talent Ranking ปี 2024 ส่วนสิงคโปร์นำโด่ง

จากการจัดอันดับ “ประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถประจำปี 2024” (The 2024 IMD Worl...

Apple วางขาย iPhone 16 พร้อมนวัตกรรมความยั่งยืน ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 85%

Apple ได้สร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง ด้วยการวางขาย iPhone 16 ที่เน้นความยั่งยืน โด...

ผล 1 ปีกับความคืบหน้า ESG Symposium ส่งไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สู้โลกเดือด

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เห็นผลเป็นรูปธรรม ตาม 4 ข้อเสนอจากงาน ESG Symposium 2023 ทั้งสร้าง "สระบุรี...

‘ลาซาด้า’ เดินเกมทำกำไร ชู '3 กลยุทธ์' สร้างยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ

วาริสฐา เกียรติภิญโญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้ายังเดินหน้าลงทุนใน...