เลือกซื้อประกันอย่างไร

การทำประกันคือการถ่ายโอนความเสี่ยงให้กับผู้อื่น โดยเราอาจจะมีทรัพย์สินหรือภาระทางการเงินบางอย่างซึ่งมีมูลค่าสูง หากเกิดอะไรขึ้นกับทรัพย์สินชิ้นนั้น เราอาจจะต้องลำบากในการหาเงินมาใช้คืน เช่น กู้เงินธนาคารซื้อบ้านหลังใหญ่ และกำลังผ่อน หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นกับบ้าน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม พายุพัดจนพังเสียหาย หรือเกิดมีโกดังเก็บประทัดมาอยู่ใกล้ๆแล้วระเบิดขึ้นมา บ้านที่เป็นทรัพย์สินของเราก็เสียหาย ในขณะที่หนี้ที่กู้ยืมมาซื้อบ้านก็ยังคงอยู่ เราก็ต้องก้มหน้าหาเงินมาจ่ายคืนหนี้ธนาคาร แถมยังต้องหาเงินไปปลูกบ้านหลังใหม่อีกด้วย เป็นอันไม่ต้องได้ลืมตาอ้าปากกัน

หากเรามีการทำประกันเอาไว้ บริษัทประกันก็จะเป็นผู้รับความเสี่ยงไป โดยจะจ่ายสินไหมทดแทนมาให้ ซึ่งก็ทำให้เราสามารถนำไปใช้คืนธนาคารได้บางส่วนหรือทั้งหมด และเราก็มุ่งหาเงินใหม่เพื่อสร้างหรือซ่อมแซมบ้าน หรือเพื่อซื้อบ้านหลังใหม่ไว้อยู่อาศัย

การประกันจึงไม่ได้ป้องกันไม่ให้ความเสียหายเกิดขึ้น แต่เป็นการบรรเทาความเสียหาย หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นค่ะ ซึ่งนอกจากทรัพย์สินแล้ว ยังมีการประกันชีวิตและสุภาพ เนื่องจากตัวเราเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของเรา

ผู้ที่สอบถามเรื่องประกันส่วนใหญ่จะสอบถามเรื่องประกันสุขภาพ ซึ่งแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆตามวัตถุประสงค์ได้สองกลุ่ม คือ ประกันชีวิต กับประกันสุขภาพ

คนไทยไม่ค่อยได้สนใจเรื่องประกันสุขภาพมากนัก เนื่องจากเมื่ออายุน้อย หากทำงานเอกชนและนายจ้างอยู่ในระบบประกันสังคม    ก็จะมีกองทุนประกันสังคมดูแลเรื่องสุขภาพให้ โดยทั่วไปหากเป็นกรณีที่รุนแรง ก็ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม จากที่ประกันสังคมจ่ายให้  สำหรับข้าราชการ หรือพนักงานราชการ ก็มีระบบดูแลให้

ผู้ที่เดือดร้อนคือ กลุ่มทำงานอิสระ หรือทำธุรกิจเอง ซึ่งแนะนำว่า หากท่านเข้าข่ายต้องจัดให้มีประกันสังคม ท่านควรจะจัด เพราะนอกจากพนักงานจะได้ประโยชน์แล้ว ท่านเองยังได้ประโยชน์ด้วยค่ะ เหมาะสำหรับผู้ต้องการเงินชดเชยเป็นก้อน อาจจะเพื่อส่งต่อให้กับทายาท หรืออาจจะออมเอาไว้ให้เติบโตเพื่อใช้เมื่อครบอายุสัญญา

ประกันชีวิตโดยทั่วไปจะได้เงินก้อนเมื่อ เสียชีวิต ทุพลภาพ หรือครบอายุสัญญา (กรณีเป็นการประกันแบบออมทรัพย์) มีทั้งที่จ่ายเบี้ยเป็นรายปี เหมือนเสียค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายทั่วไป คือมีความคุ้มครองให้ ตราบใดที่จ่ายเบี้ย เมื่อหยุดจ่ายเบี้ยก็หยุดคุ้มครอง แต่เบี้ยประกันก็จะไม่สูงมากค่ะ อันนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการให้ผู้อยู่เบื้องหลัง ได้เงินก้อนไปเยียวยาบ้าง เมื่อผู้ทำประกันจากไป จะได้ไม่เดือดร้อนจนเกินไป ประกันแบบนี้เรียกว่า แบบชั่วระยะเวลา

ส่วนประกันชีวิตอีกแบบหนึ่ง ที่สถาบันการเงินนิยมขายกัน คือประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ หรือแบบสะสมทรัพย์ เงินที่จ่ายจะจ่ายสองกรณีคือ เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือเมื่อครบกำหนดตามสัญญา  อันนี้ถ้าผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่จนครบสัญญาก็จะได้เงินก้อนมาเพื่อทำอย่างอื่น เช่น ใช้เป็นเงินค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ เป็นต้น

สำหรับผู้สูงวัยที่เป็นห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ เช่นค่าหมอ ค่าห้องที่ต้องจ่ายกรณีเป็นคนไข้ใน (IPD) หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายตอนเป็นคนไข้นอก (OPD) ต้องทำประกันสุขภาพค่ะ ซึ่งโดยทั่วไป บริษัทประกันจะให้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตก่อน อาจเป็นแบบสะสมทรัพย์ หรือแบบชั่วระยะเวลาก็ได้ แล้วก็ซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งพอรวมเบี้ยประกันแล้ว มักจะเป็นจำนวนเงินค่อนข้างสูง ผู้สูงวัยทั่วไปจึงอาจจะไม่สนใจ

ถามว่า จะทำประกันสุขภาพ โดยไม่มีประกันชีวิตได้ไหม  ตอบว่าได้ค่ะ แต่มีบริษัทประกันไม่กี่แห่งที่มีกรมธรรม์ประเภทนี้ และเบี้ยประกันจะเป็นแบบจ่ายทิ้ง อัตราเบี้ยประกันก็ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะหากท่านเป็นผู้สูงวัย หรือมีประวัติการเจ็บป่วยอย่างโชกโชน อายุ 50 กว่าปีก็อาจจะจ่ายเบี้ยปีละ 50,000 - 60,000 บาทขึ้นไป

 

การจ่ายเบี้ยสูงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และประวัติการเจ็บป่วยของผู้เอาประกัน และของบุคคลในครอบครัวด้วย  จึงทำให้ผู้เอาประกันส่วนหนึ่งแถลงประวัติไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งตามกฎหมาย การแถลงเท็จ จะทำให้กรมธรรม์นั้นเป็นโมฆะได้ หรือแถลงตามความเป็นจริงแล้ว บริษัทประกันไม่รับประกันก็มี

 

ข่าวดีสำหรับผู้สูงวัยที่ประกาศเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้อนุมัติให้ออกกรมธรรม์ประกันชีวิตและสุขภาพ โดยผู้เอาประกันไม่ต้องแถลงเรื่องสุขภาพ ทั้งนี้จะคุ้มครองเฉพาะ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และค่ารักษาพยาบาลจาก 9 โรคร้ายแรง ซึ่งดิฉันมองว่าเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกับผู้สูงวัยที่มีรายได้น้อย อย่างน้อยหากเป็นโรคร้ายแรง จะยังพอมีเงินมาใช้ในการรักษาบ้าง  ไม่ใช่ว่าพอตรวจพบโรคร้ายแรง ก็รู้สึกหมดหวัง รู้สึกว่ามีทางเดียวที่จะเดินไป คือ ไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า

 

เบี้ยประกันสุขภาพที่ต่ำที่สุดสำหรับผู้สูงวัย คือเบี้ยประกันกลุ่มค่ะ เพราะจะใช้วิธีถัวเฉลี่ยความเสี่ยงกับคนเยาว์วัยในกลุ่ม ฉะนั้น เบี้ยที่เฉลี่ยแล้วจึงลดลงไปค่อนข้างมาก  หากองค์กรของท่านมีการประกันชีวิตอยู่แล้ว ท่านน่าจะสอบถามดูว่าหากเพิ่มการประกันสุขภาพแบบคนไข้นอกด้วย เบี้ยประกันจะเพิ่มอีกเป็นจำนวนเท่าใด  ท่านอาจจะแปลกใจมากที่ได้อัตราเบี้ยประกันที่ต่ำกว่าไปทำเองเดี่ยวๆ

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อายุสูงสุดที่จะทำประกันสุขภาพได้คือ 75 ปีเท่านั้น อายุเกินกว่านี้ ท่านต้องดูแลตนเองค่ะ

 

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบางแห่ง ก็มีกองทุนที่ให้ผลประโยชน์กับผู้ถือหน่วยที่มียอดการลงทุนไม่ต่ำกว่าจำนวนหนึ่ง โดยสามารถทำประกันสุขภาพได้ฟรี (แถมให้) และเช่นเดียวกับการประกันกลุ่ม คือ ต้องมีอายุไม่เกิน 75 ปี

 

ประกันแบบไหนจะเหมาะกับใคร สามารถหารือกับนักวางแผนการเงินได้ค่ะ ถ้าพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์ และท่านสามารถจ่ายเบี้ยประกันได้โดยไม่เดือดร้อน ก็อาจจะแบ่งเบาภาระของท่านได้ ในยามที่เกิดเจ็บป่วยขึ้น แต่หากไม่เจ็บป่วย ก็อย่าไปคิดว่าจ่ายเบี้ยสูญเปล่า เพราะหากเจ็บป่วย อาจต้องจ่ายเพิ่มจากที่เรียกร้องจากบริษัทประกันได้ และไม่ป่วยก็ทำให้สุขภาพแข็งแรง ไม่บั่นทอนสุขภาพค่ะ

 

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงค่ะ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...