สหรัฐ-กทม. เผยความสำเร็จป้องกัน-รักษา 'เอดส์-HIV' เนื่องในวันเอดส์โลก

โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และรศ.ดร. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานวันเอดส์โลกที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี กรุงเทพมหานครในวันนี้ เพื่อแสดงความสำเร็จในความร่วมมืออันใกล้ชิดด้านสาธารณสุขระหว่างโครงการแผนฉุกเฉินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพื่อบรรเทาปัญหาเอดส์ (U.S. President's Emergency Plan for AIDS Relief: PEPFAR) และกรุงเทพมหานครในการลดปัญหาด้านเอชไอวีและเอดส์ เมื่อวันศุกร์ (1 ธ.ค.)

เอกอัครราชทูตโกเดคได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของวันเอดส์โลกในระดับนานาชาติ และผลสัมฤทธิ์ของโครงการ PEPFAR ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐฯ (CDC) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ในการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งสามารถลดการเสียชีวิตได้มากกว่า 25 ล้านคนทั่วโลก และช่วยให้ทารก 5.5 ล้านคนเกิดมาโดยไม่ติดเชื้อเอชไอวี

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยมตลอด 190 ปีระหว่างสหรัฐ และรัฐบาลไทย โดยเฉพาะความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อยุติการแพร่ระบาดของเอซไอวี 

ด้านรองผู้ว่าฯ ทวิดา เผยว่า การเดินทางของศูนย์ฯ 28 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคลินิกรักปลอดภัยจนมาเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขครบวงจร เป็นแรงบันดาลใจอันดีเยี่ยม และบริการเริ่มยาต้านไวรัสภายในวันที่ตรวจพบเชื้อก็เป็นอีกก้าวสำคัญของศูนย์ 

จนถึงปีนี้ คลินิกรักปลอดภัยของศูนย์ฯ 28 ได้ให้บริการให้ยาต้านไวรัสป้องกันเชื้อเอซไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ (PIEP) กับผู้รับบริการ 449 คน และคลินิกยาต้านไวรัสและวัณโรคให้บริการกับผู้รับบริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัส 5,748 คน โดยในปีนี้ปีเดียวมีผู้เข้าใช้บริการถึง 22,992 ครั้ง 

"การเดินทางที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไม่ใช่ความสำเร็จของกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระดับโลกในการแก้ปัญหาการระบาดของเอชไอวีด้วย" รองผู้ว่าฯกทม.กล่าว

ขณะที่สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า งานวันเอดส์โลกสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จ และแสดงให้เห็นว่ากรุงเทพมหานคร, PEPFAR และภาคีเครือข่าย จะร่วมกันยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อสู้กับเอดส์และโรคระบาดระดับโลก

ในช่วงท้ายของงาน เอกอัครราชทูตสหรัฐและรองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้เยี่ยมชมศูนย์ฯ 28 และพบกับเจ้าหน้าที่คลินิก อาทิ พยาบาล แพทย์ บุคลากรสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ตลอดจนผู้แทนของสำนักอนามัยกรุงเทพมหานครและองค์กรชุมชน อีกทั้งยังได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ เกี่ยวกับโครงการที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการทูต ในการดำเนินการด้านสาธารณสุขร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...