แก้โจทย์ ‘ขยะ’ บน ‘เกาะเสม็ด’ สำเร็จได้อย่างไร

อีกทั้งเกาะเสม็ดยังได้รับอานิสงส์จากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน การจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่

แต่ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรในพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยและของเสียเพิ่มมากขึ้น การวางแผนจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ EEC อย่างเป็นระบบ รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลและเกาะต่างๆ อย่างเกาะเสม็ด จึงเป็นโจทย์สำคัญไม่น้อยไปกว่าการมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนและการท่องเที่ยว

 

ปัญหาสำคัญในการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่เกาะเสม็ด อาจไม่ต่างจากปัญหาในพื้นที่อื่นๆ คือ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่มีการคัดแยกขยะที่ต้นทาง

ส่งผลให้ขยะบางส่วนที่น่าจะสามารถรีไซเคิลหรืออัปไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่าไม่สามารถทำได้ เพราะปนเปื้อนกับขยะประเภทอื่นโดยเฉพาะขยะอาหาร ทำให้สูญเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทางในเขตท่องเที่ยวของ EEC เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และมูลนิธิเสนาะ อูนากูล จึงมีเป้าหมายส่งเสริมให้ทั้งคนในพื้นที่เกาะเสม็ดและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวมีการคัดแยกขยะที่ต้นทางเพิ่มขึ้น โดยนำแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral economics) มาใช้วิเคราะห์ปัญหาและพัฒนามาตรการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทางเพิ่มขึ้น

จากการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เกาะเสม็ด ทั้งตัวแทนชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก พบว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทำให้ครัวเรือนยังไม่มีการคัดแยกขยะเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการขาดอุปกรณ์รองรับขยะที่ได้รับการคัดแยก ข้อจำกัดด้านพื้นที่ภายในที่พักอาศัย ราคารับซื้อขยะรีไซเคิลที่ไม่จูงใจ 

ขณะที่อุปสรรคของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก คือ ความกังวลด้านภาพลักษณ์ของธุรกิจในมุมมองของนักท่องเที่ยว การขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับแนวทางการใช้ประโยชน์ขยะที่ได้รับการคัดแยกแล้ว เหตุปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทั้งครัวเรือนและผู้ประกอบการธุรกิจที่พักในพื้นที่เกาะเสม็ด จึงยังไม่ได้คัดแยกขยะเป็นวงกว้าง มีเพียงบางรายที่มีการคัดแยกขยะเป็นประจำ

งานศึกษานี้นำแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ในการออกแบบมาตรการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง และใช้เครื่องมือการทดลองภาคสนาม โดยใช้วิธีการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial : RCT)

ในการทดสอบว่ามาตรการใดที่ส่งผลให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการธุรกิจที่พักที่เข้าร่วมการทดลองภายใต้การศึกษานี้คัดแยกขยะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

ภายใต้งานศึกษานี้มีครัวเรือน 140 ครัวเรือน และผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก 60 แห่ง เข้าร่วมการทดลองเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเดือนแรกเป็นช่วงการเก็บบันทึกข้อมูลน้ำหนักขยะ ที่กลุ่มตัวอย่างได้ “คัดแยกขยะที่ต้นทาง” ก่อนที่จะได้รับมาตรการแทรกแซงในเดือนที่ 2-3

โดยสำหรับกลุ่มตัวอย่างระดับครัวเรือนจะได้รับอุปกรณ์ที่ใช้คัดแยกขยะรีไซเคิลในรูปแบบของถุงปุ๋ย และการให้ข้อมูลการแปลงปริมาณขยะที่ได้รับการคัดแยกเป็นเงินสมทบทุนในการจัดหาอุปกรณ์สําหรับจิตอาสา

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก มาตรการแทรกแซงที่ใช้ในการทดสอบ ได้แก่ การมอบใบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมและคัดแยกขยะจนจบโครงการ และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ขยะรีไซเคิลหรือเส้นทางการจัดการขยะ (Waste journey)

ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มครัวเรือนและกลุ่มผู้ประกอบการฯ ที่ไม่ได้รับมาตรการแทรกแซงใดๆ เลย เพื่อใช้ทดสอบประสิทธิผลของมาตรการแทรกแซงในการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทางด้วย

ผลจากการทดลองพบว่า มาตรการที่สามารถช่วยให้เกิดการคัดแยกขยะรีไซเคิลและขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นในระดับครัวเรือน คือ การให้อุปกรณ์ที่ใช้คัดแยกขยะรีไซเคิล และการให้อุปกรณ์ควบคู่กับการให้ข้อมูลฯ ขณะที่ผลทดลองของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก พบว่า การมอบเกียรติบัตรฯ เป็นมาตรการที่ช่วยส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำผลที่ได้จากการทดลองไปขยายผลต่อในพื้นที่อื่น สำหรับการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทางสำหรับกลุ่มครัวเรือน ทาง อปท.อาจร่วมมือกับภาคเอกชนจัดหาอุปกรณ์สำหรับใช้คัดแยกขยะภายในที่พักอาศัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับครัวเรือน

และในขณะเดียวกันทาง อปท.ควรพิจารณาจัดเก็บขยะที่ครัวเรือนช่วยคัดแยกที่ต้นทาง โดยแยกประเภทและมีแนวทางการใช้ประโยชน์จากขยะดังกล่าวที่ชัดเจน และสื่อสาร/ประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับทราบอย่างทั่วถึง

ส่วนการส่งเสริมผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้มีการคัดแยกขยะที่ต้นทางเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาสร้างแรงจูงใจโดยการมอบเกียรติบัตรเพื่อเชิดชูเกียรติ เนื่องจากผู้ประกอบการฯ ให้ความสำคัญกับด้านภาพลักษณ์ของธุรกิจในมุมมองของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะปัจจุบันมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำมากขึ้น 

ภาพฝันในอนาคตที่อยากเห็นคือ การมีแหล่งท่องเที่ยวที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อมบริเวณแหล่งท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืนและสวยงาม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในสังคม

บทความนี้อ้างอิงงานวิจัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิเสนาะ อูนากูล

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

คำเดียวสั้นๆ "แฟนสาวจาค็อบ" พูดต่อหน้า "รถถัง" หลังชวดแชมป์โลก

เผยคำพูด แฟนสาวของ จาค็อบ สมิธ ที่พูดต่อหน้า รถถัง จิตรเมืองนนท์ หลังฟาดปากกันในศึกมวยไทย รุ่นฟลายเว...

กรมวิชาการเกษตร ระดมแผนเตรียมพร้อม ส่งลำไยเจาะตลาดจีน

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเร่งขับเคลื่อนนโยบายผัก ผลไ...

ผลบอล "บาเยิร์น มิวนิก" ไม่พลาด บุกเชือด "ซังต์ เพาลี" รั้งจ่าฝูงบุนเดสลีกา

"เสือใต้" บาเยิร์น มิวนิก ทำได้ตามเป้า บุกมาเอาชนะ ซังต์ เพาลี เก็บ 3 คะแนนสำคัญ รั้งจ่าฝูง บุนเดสลี...

ส่องขุมทรัพย์ที่ดิน 'รถไฟ' 9.6 หมื่นล้าน จ่อประมูลสร้างรายได้เชิงพาณิชย์

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีทรัพย์สินที่ดินทั่วประเทศจำนวนมาก และยังเป็น...