EU เตรียมคุมเข้มสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ทดลองกับสัตว์

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU) มีแนวโน้มที่จะยกระดับการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมา ในปี 2556 EU ได้มีการใช้บังคับกฎระเบียบควบคุมสินค้าเครื่องสำอาง (EU Cosmetics Regulation) โดยกำหนดให้สินค้าเครื่องสำอางหรือส่วนผสมของเครื่องสำอางจะต้องผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อประเมินความปลอดภัยของสินค้า โดยห้ามใช้สารเคมีในการทดสอบในสัตว์และห้ามจำหน่ายเครื่องสำอางหรือส่วนผสมที่ได้ทดสอบกับสัตว์ในตลาด EU เป็นต้น โดยจะขยายขอบเขตไปทบทวนกฎระเบียบ ว่าด้วยการจำกัดการผลิต การจำหน่าย และการใช้สารเคมี เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย (Registration, Evaluation, Authorisation, and Restriction of Chemicals: REACH) ที่ยังคงมีการใช้สัตว์ในการทดสอบประเมินความเสี่ยงของสารเคมีที่มีผลต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ EU อยู่ระหว่างจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อกำหนดแนวทางทดสอบความปลอดภัยของสารเคมีโดยไม่มี/ลดการทดลองกับสัตว์ อีกทั้งจะสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีอื่นทดแทนการใช้สัตว์ทดลองต่อไป

ปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย สินค้าเคมีภัณฑ์นำไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าหลายชนิด จากข้อมูลสถิติการส่งออกสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ของไทย ในปี 2565 พบว่า ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ มูลค่า 2.91 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.44 จากมูลค่าการส่งออกในปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 ช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม – มิถุนายน) มีการส่งออกมูลค่าประมาณ 1.26 แสนล้านบาท เป็นการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก EU มูลค่าประมาณ 4.80 พันล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์เป็นสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพสูงและมีโอกาสในการขยายตลาดต่อไป ทั้งนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหลายหน่วยงานขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมประมง กรมปศุสัตว สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร กรมการอุตสาหกรรมทหาร รวมถึงกรมการค้าต่างประเทศ

แม้ว่าไทยจะส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์ไป EU อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า EU มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับเรื่องการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ โดยในอนาคต สินค้าที่จะส่งออกไปยัง EU จะต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวประกอบการส่งออกด้วย เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาด EU ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศจะติดตามความเคลื่อนไหวการปรับแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวของ EU อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาปรับปรุงการผลิตและคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...