20 ปี Money Pro

จริงๆแล้วคำว่า Financial Literacy มีความหมายมากกว่า ความรู้ทางการเงินอย่างเดียว เหมือนกับการรู้หนังสือ ที่เราใช้ว่า Literacy ภาษาไทยเราใช้แทนด้วยคำว่า “รู้หนังสือ” หรือ “อ่านออกเขียนได้” ซึ่งหมายถึงรู้และเข้าใจ เพื่อที่จะเอาไปใช้ในชีวิตด้วย

ความรู้ทางการเงินก็เหมือนกันค่ะ ถ้าจะให้จัดว่ารู้หรือไม่รู้ ต้องแบ่งกันด้วยความสามารถในการนำไปประยุกต์ใช้ และทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันทั้งนั้น จึงหวังว่าต่อจากนี้ไป ประเทศไทยจะเอาจริงเอาจังกับการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนและเยาวชน และอยากฝากไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่า วิชาการเงินส่วนบุคคล ควรเป็นหลักสูตรภาคบังคับในโรงเรียนได้แล้วค่ะ

นอกจากนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมายังเป็นสัปดาห์ครบรอบ 20 ปีของการเกิดขึ้นของคอลัมน์นี้  ชื่อ Money Pro มาจากกองบรรณาธิการในสมัยนั้น ซึ่งต้องการให้มีเรื่องการเงินที่คนทั่วๆไปเข้าถึง อ่านง่าย หลายๆท่านในกองบรรณาธิการ ได้กลายเป็นลูกค้าซื้อกองทุนรวมครั้งแรกกับบริษัทจัดการลงทุนที่ดิฉันทำงานอยู่  หลายท่านต้องอ่านบทความของดิฉันเพื่อทำการแก้ไขให้บทความราบรื่นขึ้น อ่านไปอ่านมา ก็จัดการการเงิน เก็บออมเงิน บริหารเงิน จนมีความมั่นคง และมั่งคั่งทางการเงินจนทุกวันนี้

เมื่อ 20-30 ปีก่อน ความรู้ทางการเงินยังไม่แพร่หลาย ศัพท์ทางการเงินก็นิยมใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ และคนในแวดวงการเงินยังมีศัพท์แสงของตัวเองเยอะมาก คนทั่วไปจึงรู้สึกว่า การเงินเป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าใจ และพลอยไม่สนใจไปด้วย การเกิดคอลัมน์ที่คนอ่านเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายจึงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนในปัจจุบันนี้ ดิฉันดีใจว่า มีผู้สนใจการเงินมากขึ้น เกิดมีคอลัมน์ มีรายการวิทยุ มีรายการโทรทัศน์ มีพอดคาสต์ มีช่องยูทูป เกี่ยวกับการเงินเพื่อให้ความรู้กับทุกๆคน เยอะมากทีเดียว

แต่เดิมดิฉันเขียนสัปดาห์เว้นสัปดาห์ แต่แล้วท่านอื่นที่เขียนสลับเกิดไม่สามารถเขียนต่อได้ ดิฉันจึงเขียนทุกๆสัปดาห์อยู่ช่วงหนึ่ง สรุปรวมตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ดิฉันเขียนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 600 บทความ ได้นำบทความเฉพาะที่ไม่ได้เกี่ยวกับสถานการณ์ขณะใดขณะหนึ่ง รวบรวมเป็นเล่มได้ 7 เล่ม

การเป็นนักเขียนมีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ ข้อเสียคือ ทำให้เรากังวล ว่าจะเขียนอะไร โดยเฉพาะการลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน หัวข้อต้องสด ต้องอยู่ในความสนใจของผู้อ่าน ซึ่งก่อนเขียน เราต้องใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ๆพอสมควร และดิฉันไม่สามารถเขียนตุนเอาไว้ล่วงหน้าได้นานนัก ดังนั้นปีแรกๆ ดิฉันแทบไม่ได้ไปงานเลี้ยงในคืนวันศุกร์ เพราะต้องส่งบทความก่อนเที่ยงวันเสาร์ นอกจากนี้ หากดิฉันจะต้องเดินทางไปต่างประเทศนานและคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาส่งบทความ ดิฉันมักจะใช้วิธีแนะนำหนังสือดีๆ ซึ่งสามารถเขียนไว้ล่วงหน้าได้ ไม่น่าเกลียดแต่ประการใด

แต่พอมาถึงยุคที่คนไม่ค่อยอ่านหนังสือกันแล้ว การเขียนแนะนำหนังสือก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป  ดิฉันจึงมีการเขียนหัวข้อที่มาจากประสบการณ์แทน ซึ่งก็ทำให้เอาตัวรอดไปได้ และพบว่าคนจะชอบอ่านประสบการณ์และข้อคิดมากพอสมควรทีเดียว มีกดไลค์กดแชร์มากกว่าเรื่องที่เขียนจากข้อมูลสถิติ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ที่นำมาใช้เป็นบทเรียนในบทความ

ส่วนข้อดีของการเขียนคอลัมน์คือ เราสามารถบันทึกความรู้สึกนึกคิดของเราในช่วงเวลาต่างๆไว้ได้ เมื่อกลับมาอ่าน หลายครั้งที่รู้สึกดี และนอกจากนั้น ตั้งแต่เริ่มเขียนบทความลงในคอลัมน์ Money Pro นี้ ไปไหนมาไหนก็มีคนทักทาย บางครั้งชวนสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อที่เราเขียน ทำให้ได้มุมมองและข้อคิดเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นอีก

ผู้อ่านหลายท่านเป็นบุคคลมีชื่อเสียง เป็นผู้นำองค์กร เป็นระดับปรมาจารย์ ท่านก็อ่านบทความของดิฉัน และหลายท่านกรุณาให้คำชมเชย ซึ่งคำชมเชยจากท่านเหล่านี้ทำให้หัวใจพองฟูค่ะ  ผู้ใหญ่บางท่านบอกดิฉันว่า บางตอนเขียนได้ถูกใจ ท่านส่งไปเวียนให้พนักงานอ่านทั้งบริษัทเลย  เมื่อคราวที่ได้พบกับอดีตผู้บังคับบัญชาซึ่งทุกคนเกรงกลัว และท่านตำแหน่งใหญ่มากตอนที่ดิฉันเริ่มเข้าทำงานเป็นพนักงานตัวเล็กๆ ท่านแจ้งว่าเป็นแฟนคอลัมน์ ติดตามอ่านเป็นประจำและกล่าวชมเชย จนดิฉันปลื้มใจ แทบจะอิ่มคำชมไปทั้งวัน

ข้อคิดเห็นที่สะท้อนกลับมาแล้วปลื้มใจอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่นำแนวทางไปใช้ ไปทำ และประสบความสำเร็จ มีความมั่นคงในชีวิตค่ะ พอมีโลกโซเชียล แฟนๆคอลัมน์กลุ่มนี้ส่งข้อความส่วนตัวมาขอบคุณและเล่าเรื่องของตัวเองมาให้รับทราบบ้าง ขอยกตัวอย่างบางรายนะคะ

“อ่านติดตามบทความ และทำตามที่แนะนำตลอดตนตอนนี้เกษียณได้ก่อนกำหนด 5 ปีค่ะ”

“หนูซื้อหนังสือเงินไม่ใช่ทุกอย่างแต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงินอ่านตั้งแต่จบปริญญาตรี ตอนนี้กลับมาอยู่บ้านต่างจังหวัด 10 ปีผ่านไป ชีวิตหนูมั่นคงแล้ว ขอบคุณมากค่ะ”

“น้องช่วยเปิดโลกทัศน์ให้พี่ได้รู้จักการลงทุนหลากหลายและแบ่งสัดส่วนตามอายุ พี่ก็ค่อยๆทำตาม ก็นับว่าดีค่ะ พี่เป็นข้าราชการ เงินเดือนน้อย ก็ใช้แต่รายได้พิเศษมาซื้อหุ้น ขาดทุนก็ไม่กระเทือนวิถีชีวิต อย่างไรก็ตาม การลงทุน การอ่านหนังสือ ช่วยเรื่องโลกทัศน์ และ mindset ของเรา หุ้นตกก็ไม่ต้องวิตกอะไร ตกได้เดี๋ยวก็ขึ้นได้ (หากลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี) การลงทุนช่วยให้เราใช้เงินได้สบายขึ้นกว่าการใช้เงินเดือนหรือใช้บำนาญเพียงอย่างเดียวค่ะ ขอบคุณความรู้ที่น้องส่งผ่านมาถึงพวกเราและคนรุ่นใหม่ค่ะ”

ป.ล. ขอแก้ข่าวในโลกโซเชียล  ผู้ทำหลักสูตรเงินทองของมีค่า คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจัดทำในสมัยที่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นผู้จัดการตลาด ส่วนดิฉันเป็นกรรมการตลาดฯในยุคนั้น หลายท่านฟังไม่ดีแล้วนำไปโพสต์ต่อ ทำให้ข้อมูลผิดไป

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...