เอกชน คาดได้รัฐบาลใหม่ไม่เกิน เดือน ก.ย. จี้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาภาคเอกชนติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสามารถรวบรวมเสียงได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยปัจจุบันทราบว่ามีการรวมเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาล รวม 9 พรรค และคาดว่าจะมีพรรคการเมืองและวุฒิสภาให้การสนับสนุนเพิ่มเติมจนสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากแคนนดิเดตพรรคเพื่อไทยได้

 แต่สิ่งสำคัญคือเสถียรภาพของรัฐบาลที่จะต้องมีเสียงเพียงพอและเข้มแข็ง เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความต่อเนื่อง หากพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันหอการค้าฯ ยังมีความมั่นใจว่าประเทศน่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ได้ในกรอบของ ส.ค. - ก.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ช้าเกินไป โดยหอการค้าไทยมองว่าไทยควรมีรัฐบาลชุดใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะปัจจุบันประเทศมีประเด็นความท้าทายสำคัญหลายประการ ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวขึ้น การลงทุนยังคง wait and see ท่ามกลางความผันผวน ไม่แน่นอนและมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง รวมถึงภาวะสงครามที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ถือเป็นความเสี่ยงรอบด้านของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญอยู่

สำหรับข้อเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องดูแลทันทีคือการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชนทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ที่ยังอยู่ในระดับสูง และการเผชิญกับปัญหาภาคการส่งออกที่ชะลอตัวติดลบต่อเนื่อง 8 - 9 เดือน นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายและถือเป็นช่วงไฮท์ซีซันของปี

ทั้งการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนให้รวดเร็ว การเพิ่มเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว รวมถึงเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่าย 2567 ให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ จากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเป็นผลดีต่อตัวเลขการส่งออกในอนาคต ส่วนในระยะกลางต้องวางแผนและป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งอย่างจริงจัง

 ทั้งนี้ กกร. ได้ประเมินว่าภัยแล้งน่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท รัฐบาลใหม่จึงจำเป็นต้องเตรียมแผนบริหารจัดการทั้งพื้นที่และการกักเก็บน้ำที่เหมาะสม รองรับความต้องการของภาคการเกษตร ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปีหน้า ตลอดจนสานต่อข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่ไทยได้เริ่มดำเนินการกับหลายประเทศ เพื่อเร่งขยายตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะ FTA ไทย - EU และอีกหลายฉบับ โดยเอกชนมองว่าจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกมากขึ้น

 ส่วนในระยะยาว ต้องเริ่มปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของทุกภาคส่วนถึงประเด็นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพราะรูปแบบการค้าของโลกจะเปลี่ยนไป วันนี้เห็นได้ชัดว่ามาตรฐานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคมกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทัน โดยเฉพาะการการส่งเสริมแนวทาง BCG และ ESG ให้มีรูปแบบและมาตรฐานสากล

นายสนั่น กล่าวว่า  สำหรับเศรษฐกิจภายในประเทศต้องยอมรับว่ายังคงน่ากังวล โดยเฉพาะกำลังซื้อของประชาชนที่สะท้อนจากการซื้อสินค้าคงทนตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย.มีแนวโน้มลดลง เป็นสัญญาณว่าประชาชนไม่มีรายได้และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทันทีเช่นเดียวกับที่เคยทำในช่วงที่ผ่านมาเช่น โครงการคนละครึ่ง เพื่อดึงกำลังซื้อของประชาขนให้กลับมา

ขณะที่สเปคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถือเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนว่าจะสามารถนำเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างรวดเร็วและตรงจุด ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าพรรคเพื่อไทยสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และนำเอานโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจแบบทันทีนั้น หอการค้าฯ มองว่าในหลักการสามารถทำได้ แต่ต้องประเมินผลความคุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจให้ชัดเจนและรอบด้านเพราะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล

โดยหอการค้ามีข้อเสนอประกอบด้วย 1. การอัดฉีดเม็ดเงินไปยังกลุ่มผู้มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป น่าจะอยู่ราว 50 ล้านคน หากใช้เงิน 1 หมื่นบาทต่อคนจะต้องใช้งบประมาณราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งในหลักการการอัดฉีดเม็ดเงินดังกล่าวเข้าถึงมือประชาชนโดยตรงจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยหอการค้าฯ ประเมินว่า ทุกๆ 1 - 1.5 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นจีดีพีได้ 1% ดังนั้น โครงการดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 2.5 - 3% เกิดเม็ดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 3 - 4 รอบ

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวยังมีข้อเป็นห่วงจากหลายฝ่าย ทั้งที่มาของแหล่งงบประมาณว่าจะมาจากแหล่งใด จะกระทบต่อฐานะการคลังมากน้อยแค่ไหนซึ่งจะต้องมีความชัดเจนในส่วนนี้ โดยหอการค้าฯ ขอให้มีการพิจารณาแนวทางการใช้นโยบายที่จะช่วยสนับสนุนและ จูงใจผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีให้ถูกต้องมากขึ้น โดยปัจจุบันร้านค้าขนาดกลาง และขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการขยายฐานภาษีและจัดเก็บรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

2. พิจารณาการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แบบพุ่งเป้าไปยังกลุ่มที่เดือนร้อนหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือก่อน เพราะจะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณที่สูงจนเกินไป และนำงบประมาณบางส่วนไปใช้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างงาน หรือการลงทุนในสาธารณะประโยชน์จะเกิดความคุ้มค่ากว่าหรือไม่ ภายใต้การคำนึงถึงความคุ้มค่าและไม่สร้างภาระทางการคลังของประเทศ

“ หอการค้าฯ ยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสที่จะเติบโตได้ 3.0 - 3.5% และมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเติบโตอย่างเต็มที่จากแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้น ภาคเอกชนหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลควรเป็นไปอย่างรวดเร็ว เรียบร้อย และมีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายต่าง ๆ ในการเดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้”นายสนั่น กล่าว


หมวดเดียวกัน

จับตา"ปูติน"สาบานตนรับตำแหน่งปธน.สมัยที่ 5 อังคารนี้

พิธีสาบานตนรับตำแหน่งของปูตินจะจัดขึ้น 2 วัน ก่อนวันแห่งชัยชนะในวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเป็นวันรำลึกที่กอง...

เทียบ นศ.ประท้วงสงคราม 'อิสราเอล VS เวียดนาม’ สะเทือนเก้าอี้ 'ปธน.สหรัฐ' มากแค่ไหน

เมื่อวันเสาร์ (4 พ.ค.) ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 54 ปี “เหตุกราดยิงที่มหาวิทยาลัยเคนต์” ซึ่งเป็นวันที่...

กรุงเทพโปรดิ๊วส เพิ่มประสิทธิภาพตรวจจับเผาแปลงข้าวโพดแบบรายวัน

ห้องปฏิบัติการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability Operations Room)เชื่อมภาพถ่ายดาวเทียม 3 ดวง กับ พิกัดจีพ...

เปิดตำนาน TAG Heuer แบรนด์นาฬิกาบนข้อมือ "ลิซ่า BLACKPINK" ต่อไปราคาพุ่งแน่!

นับว่าในขณะนี้ TAG Heuer เป็นแบรนด์นาฬิกาที่กำลังเป็นกระแสไวรัลทั่วโลกออนไลน์ในช่วงนี้ และหลายคนอยาก...