“เฟนทานิล” คืออะไร? แรงกว่าเฮโรอีน 50 เท่า-แรงกว่ามอร์ฟีน 100 เท่า

จากกรณีที่มีรายงานว่า สหรัฐฯ ขณะนี้กำลังเผชิญวิกฤตการเสพยา “เฟนทานิล” (Fentanyl) เกินขนาดทั่วประเทศ โดยข้อมูลปี 2021 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดเพิ่มขึ้น 100,000 คนเป็นครั้งแรก ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตจากการใช้เฟนทานิลสูงถึง 66%

แม้ลักษณะการใช้เฟนทานิลจะเป็นการเสพควบคู่กับสารเสพติดตัวอื่น เช่น ฝิ่น ยาบ้า โคเคน แต่เฟนทานิลก็มีความรุนแรงและน่ากลัวในตัวของมันเองเช่นกัน

“เฟนทานิล” คืออะไร?

เฟนทานิลคือ “สารโอปิออยด์สังเคราะห์ หรือสารระงับความปวด ที่มีความรุนแรงกว่าเฮโรอีน 50 เท่า และรุนแรงกว่ามอร์ฟีนถึง 100 เท่า” ทำให้เฟนทานิลเพียงไม่กี่หยด ก็สามารถทำให้เมายาได้แล้ว

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เฟนทานิลนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ “เฟนทานิลเพื่อการแพทย์” และ “เฟนทานิลที่ผลิตอย่างผิดกฎหมาย”

โดยเฟนทานิลทางการแพทย์นั้น เป็นยาที่ใช้ได้เมื่อแพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาอาการปวดรุนแรง โดยเฉพาะหลังการผ่าตัดและผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม

อย่างไรก็ตาม กรณีการใช้ยาเกินขนาดที่เกี่ยวข้องกับเฟนทานิลในสหรัฐฯ มีความเชื่อมโยงกับ “เฟนทานิลที่ผลิตอย่างผิดกฎหมาย” ซึ่งจำหน่ายผ่านตลาดยาผิดกฎหมายเนื่องจากมีฤทธิ์คล้ายเฮโรอีน โดยการผสมเฟนทานิลเพียงเล็กน้อยก็ทำให้สารเสพติดอื่น ๆ มีฤทธิ์รุนแรงขึ้นได้ จึงมักถูกนำไปผสมกับสารเสพติดอื่น ๆ ทำให้ยาเสพติดราคาถูกลง มีฤทธิ์มากขึ้น ติดง่ายขึ้น และอันตรายมากขึ้น

เฟนทานิลที่ผลิตอย่างผิดกฎหมายมีจำหน่ายในรูปแบบของเหลวและผง โดยแบบผงมีลักษณะเหมือนกับยาอื่น ๆ โดยทั่วไปจะใช้ผสมกับยาเสพติด เช่น เฮโรอีน โคเคน และเมตแอมเฟตามีน และทำเป็นยาเม็ด ยาที่ผสมเฟนทานิลเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และหลาย ๆ คนอาจไม่รู้ว่ายาของพวกเขาเจือด้วยเฟนทานิล

ส่วนในรูปแบบของเหลว เฟนทานิลสามารถผสมลงไปในสเปรย์ฉีดจมูก ยาหยอดตา และหยดลงบนกระดาษหรือลูกอมขนาดเล็กได้

ยาหรือสารใด ๆ ที่ผสมเฟนทานิลนั้นยากต่อการตรวจพบ เพราะไม่สามารถสังเกตความต่างได้ด้วยตา ลิ้มรสหรือดมกลิ่นก็ไม่ได้ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกได้ว่ายานั้น ๆ เจือด้วยเฟนทานิลหรือไม่ เว้นแต่จะทดสอบด้วยแถบทดสอบเฟนทานิลโดยเฉพาะ

ในสหรัฐฯ แผ่นทดสอบมีราคาไม่แพงและโดยทั่วไปจะให้ผลภายใน 5 นาที แต่แม้ว่าผลการทดสอบจะเป็นลบ ก็ควรใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากแถบทดสอบอาจตรวจไม่พบสารคล้ายเฟนทานิลที่มีฤทธิ์แรงกว่า เช่น คาร์เฟนทานิล

กลไกการออกฤทธิ์ของเฟนทานิล

เช่นเดียวกับเฮโรอีน มอร์ฟีน และยากลุ่มฝิ่นอื่น ๆ เฟนทานิลออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับในสมองที่ควบคุมความเจ็บปวดและอารมณ์ หลังจากใช้เฟนทานิลหลายครั้ง สมองจะปรับตัวเข้ากับยา ลดความไวของสมอง ทำให้ยากต่อการได้รับความสุขจากสิ่งอื่นใดนอกจากยานี้ กลายเป็นอาการเสพติด

ผลของเฟนทานิล

  • ความสุขสุดขีด
  • อาการง่วงนอน
  • คลื่นไส้
  • ความสับสน
  • ท้องผูก
  • กดประสาท
  • ปัญหาการหายใจ
  • หมดสติ

เมื่อใช้ยาเฟนทานิลเกินขนาด จะส่งผลให้หายใจช้าลงหรือหยุดลง ลดปริมาณออกซิเจนที่ไปหล่อเลี้ยงสมอง เกิดภาวะขาดออกซิเจน อาจนำไปสู่อาการโคม่าและสมองถูกทำลายอย่างถาวร และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

การเลิกเสพเฟนทานิลถือเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากเมื่อหยุดใช้ จะเกิดอาการถอนยาหลายประการ เช่น ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ปัญหาการนอนหลับ ท้องเสียและอาเจียน ขนลุกหนาวสั่น ควบคุมขาไม่ได้ และอาการอยากอย่างรุนแรง ซึ่งได้มีการพัฒนายาขึ้นมาเพื่อช่วยในการถอนยาเฟนทานิล เช่น โลเฟกซิดีน (Lofexidine)

ทั้งนี้ อย่างที่ระบุไว้ข้างต้นว่า การใช้เฟนทานิลเกินขนาดเป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างมาก หากพบเห็นสัญญาณของการใช้ยาเกินขนาด เช่น รูม่านตาเล็กและแคบ เผลอหลับหรือหมดสติ ช้า อ่อนแอ หรือหายใจไม่ออก สำลักบ่อย ร่างกายปวกเปียก ผิวหนังเย็นและ/หรือชื้น ริมฝีปากและเล็บเปลี่ยนสี ควรรีบแจ้งแพทย์โดยทันที

สำหรับประเทศไทย เฟนทานิล ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 2 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นยากลุ่มโอปิออยด์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น มีความแรงในการระงับปวดมากกว่ามอร์ฟีน 50 – 100 เท่า

ทั้งนี้เคยปรากฎเป็นข่าวดัง เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 หน่วยปราบปรามและสกดกั้นยาเสพติดพื้นที่อากาศยาน ได้ตรวจยึดพัสดุที่ส่งมาจากสหรัฐฯ ซึ่งซุกซ่อนยาเสพติดหลายประเภท หนึ่งในนั้นมี เฟนทานิล รวมอยู่ด้วย และเป็นการตรวจพบ เฟนทานิล ครั้งแรกในประเทศไทย

โดย นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยในขณะนั้นว่า เฟนทานิล ยังไม่ได้ระบาดในกลุ่มชาวไทย แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง โดยจัดอยู่ในยาเสพติดประเภท 2 คือ สถานพยาบาลต้องมีใบอนุญาตในการใช้และจำหน่าย ประชาชนทั่วไปไม่สามารถหาซื้อจากร้านขายยาได้

 

เรียบเรียงจาก CDC / NIH

ภาพจาก

AFP PHOTO / Don EMMERT

AFP PHOTO / Juan Pablo Pino

AFP PHOTO / Johannes EISELE

AFP PHOTO / Alameda County Sheriff's Office

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...