สื่อเผยจีนอัดงบกว่า 10 ล้านล้านหยวน มาจริงสัปดาห์หน้าพร้อมเลือกตั้งสหรัฐ

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าววงใน 2 รายที่เกี่ยวข้องว่า รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาอนุมัติวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่กว่า 10 ล้านล้านหยวน (ราว 47 ล้านล้านบาท) ระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการสภาประชาชนแห่งชาติ (NPCSC) ในวันที่ 4-8 พ.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่าสิบปีของจีนเพื่อพยายามพลิกฟื้นประเทศ และคาดว่าจะเป็นการเสริมแกร่งเตรียมพร้อมกรณีหากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสัปดาห์หน้าด้วย  

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า NPCSC ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารสูงสุดในสภาประชาชนจีนนำโดยประธาน "จ้าว เล่อจี้" ผู้นำอันดับสามในโปลิตบูโรจีน เป็นรองเพียงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง จะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ 

ส่วนแรกคือ การอนุมัติออกพันธบัตรพิเศษ (Special-purpose bonds) วงเงินราว 4 ล้านล้านหยวน (ราว 19 ล้านล้านบาท) สำหรับให้รัฐบาลท้องถิ่นไปดำเนินการซื้อที่ดินรกร้างและอสังหาริมทรัพย์ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า 

รัฐบาลท้องถิ่นจะได้รับอนุญาตให้ออกพันธบัตรระดมทุนจำนวนดังกล่าวได้ เพิ่มเติมจากโควตาการออกพันธบัตรประจำปีตามปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยโควตาปัจจุบันอยู่ที่ 3.9 ล้านล้านหยวนในปีนี้ และ 3.8 ล้านล้านหยวนในปี 2566

ส่วนที่สองคือ การออกพันธบัตรพิเศษวงเงินราว 6 ล้านล้านหยวน (ราว 28.4 ล้านล้านบาท) เป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจุดมุ่งหมายหลักๆ ของเงินก้อนนี้คือ การช่วยรัฐบาลท้องถิ่นให้สามารถรับมือความเสี่ยงของหนี้นอกงบดุลจากการออกพันธบัตรพิเศษได้ เป็นที่คาดว่า NPCSC จะอนุมัติงบก้อนนี้ในการประชุมวันสุดท้าย หรือวันศุกร์ที่ 8 พ.ย. 

สำหรับในส่วนของการใช้จ่ายทางการคลังโดยรวมนั้น แหล่งข่าวเผยด้วยว่า จีนกำลังพิจารณาว่าอาจจะอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ มูลค่าอย่างน้อย 1 ล้านล้านหยวนร่วมด้วย เช่น มาตรการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งรวมถึงการเทรดอินแลกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า 

ขณะที่แหล่งข่าวอีกรายระบุว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจออกพันธบัตรพิเศษระดมทุนเพิ่มอีก 1 ล้านล้านหยวน เพื่อฉีดเงินทุนเข้าธนาคารรัฐขนาดใหญ่ด้วย

วงเงินกระตุ้นทั้งหมดกว่า 10 ล้านล้านหยวนในครั้งนี้ ซึ่งจะมาจากการกู้ยืมทั้งรูปแบบของการออกพันธบัตรพิเศษและพันธบัตรปกติของรัฐบาลท้องถิ่น มีสัดส่วนมากถึงราว 8% ของขนาดเศรษฐกิจประเทศจีน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ทว่าปัจจุบันกำลังอ่อนแรงลงอย่างหนักจากวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ครั้งเลวร้ายที่สุดของจีน รวมถึงปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่พอกพูนมานาน

มาตรการที่คาดว่าจะมีขึ้นในครั้งนี้บ่งชี้ได้ว่า "รัฐบาลปักกิ่งได้เปลี่ยนเกมหันมาใช้แนวทางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจ" จากเดิมที่มักจะหลีกเลี่ยงการก่อหนี้อัดฉีดก้อนใหญ่มาตลอด แม้ว่ารอบนี้จะยังไม่มากถึงขั้นที่นักลงทุนบางส่วนเรียกร้องให้มีการอัดฉีดใหญ่แบบ "บาซูก้า" เหมือนในปี 2551 (ช่วงวิกฤติซับไพรม์ปี 2008) ก็ตาม

ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือนก.ย. ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ประกาศ "มาตรการสนับสนุนทางการเงินเชิงรุกมากที่สุด" นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา พร้อมทั้งประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทว่าไม่ได้ระบุรายละเอียด "จำนวนเงิน" ทำให้เกิดการคาดเดาอย่างเข้มข้นในตลาดทุนโลกเกี่ยวกับขนาดของการใช้จ่ายใหม่รอบใหม่ของจีน

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวย้ำกับรอยเตอร์สว่าแผนการครั้งนี้ยังไม่ได้เคาะข้อสรุปที่แน่ชัด และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ 

ตัวแปรหลักอยู่ที่ 'เลือกตั้งสหรัฐ' 

ทั้งนี้โดยปกติแล้ว NPCSC จะจัดการประชุมกันทุกๆ 2 เดือน ในเดือนเลขคู่ของช่วงครึ่งปีหลัง และจากวาระงานปี 2567 ของสภาประชาชนแห่งชาติจีนที่เผยแพร่เมื่อเดือนพ.ค. ได้มีการวางแผนให้จัดการประชุม NPCSC เอาไว้ในเดือนต.ค. ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่าเดิมทีการประชุมจะมีในช่วงปลายเดือนต.ค. แต่สุดท้ายถูกเลื่อนไปเป็นต้นเดือนพ.ย. แทน

แหล่งข่าวเปิดเผยกับรอยเตอร์สด้วยว่า การประชุมของจีนในสัปดาห์หน้าซึ่งตรงกับช่วงการเลือกตั้วประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย. นี้ จะทำให้ปักกิ่งมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการปรับแพ็คเกจการคลัง รวมถึงขนาดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด 

รัฐบาลปักกิ่งอาจประกาศแพ็คเกจการคลังที่แข็งแกร่งขึ้น หาก "ทรัมป์" ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สอง เนื่องจากการกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งของเขาคาดว่าจะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับเศรษฐกิจจีนหนักขึ้นอีก โดยทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้าจากจีน 60% หากเขาชนะการเลือกตั้ง และจะขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศด้วย  

บทเรียนเก่าทำให้จีนต้องรอบคอบ

รอยเตอร์สระบุว่ามาตรการล่าสุดของจีนมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มขีดความสามารถของ "รัฐบาลท้องถิ่น" ในการจัดการกับอุปทานที่ดิน รวมถึงช่วยบรรเทาแรงกดดันเรื่องหนี้และสภาพคล่องของทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 

พันธบัตรเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ (Special-purpose bond) นั้นเป็นเครื่องมือสำหรับการระดมทุน "นอกงบประมาณ" หรือการก่อหนี้นอกงบดุลของรัฐบาลท้องถิ่นจีน เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะในเชิงนโยบาย เช่น การใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน

หาก NPCSC อนุมัติการออกพันธบัตรเหล่านี้ทั้งหมดรวดเดียวแทนที่จะดำเนินการทีละขั้นตอน อาจทำให้มูลค่าการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10 ล้านล้านหยวน ซึ่งการที่รัฐบาลกลางของปักกิ่งก่อหนี้ใหม่เฉลี่ย 2 ล้านล้านหยวนต่อปีนั้น จะเป็นสัญญาณตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของจีนในการพยุงเศรษฐกิจประเทศ

ในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา จีนได้ใช้วิธีออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันน้ำท่วม และช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประมาณ 5% มาแล้ว

อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นทางการคลังในครั้งนี้ก็ยังไม่สามารถเทียบได้กับมาตรการแบบบาซูก้าเมื่อปี 2551 ซึ่งในครั้งนั้นรัฐบาลปักกิ่งในยุคของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังครั้งใหญ่ 4 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 13% ของมูลค่าจีดีพีจีนในขณะนั้น เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกจากปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐ

ทว่างบประมาณดังกล่าวกลับถูกนำไปกระตุ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์จนเติบโตอย่างร้อนแรง และทำให้เกิดการปล่อยกู้อย่างไม่จำกัดในโครงการระดมเงินทุนของรัฐบาลท้องถิ่นจีน (LGFV) ซึ่งเป็นกลไกกู้ยืมของท้องถิ่นเพื่อหลบเลี่ยงข้อจำกัดของการกู้ยืมอย่างเป็นทางการ และกลายเป็นวิกฤติหนี้พอกพูนครั้งใหญ่ตามมา

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

สื่อเผยจีนอัดงบกว่า 10 ล้านล้านหยวน มาจริงสัปดาห์หน้าพร้อมเลือกตั้งสหรัฐ

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าววงใน 2 รายที่เกี่ยวข้องว่า รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาอนุมัติวงเงินกร...

'ข้าวหมูเด้ง' ชวนซื้อข้าว ช่วยชาวนาประสบภัยน้ำท่วมกว่า 300 ครัวเรือน

อุตสาหกรรมข้าวไทยในช่วงปี 2023-2024 เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน แต่ยังคงแสดงถึงความสำคัญทางเศรษฐก...

ถึงว่าเดือดดาลขั้นสุด เผยเม็ดเงินก้อนโตที่ "วินิซิอุส" อดได้ หลังชวดคว้า "บัลลงดอร์ 2024"

ถึงว่าเดือดดาลขั้นสุด เผยเม็ดเงินก้อนโตที่ "วินิซิอุส จูเนียร์" แข้งเลือดแซมบ้าของ "เรอัล มาดริด" อด...

'ยุทธศาสตร์ฟ้าใส' ไทย-ลาว-เมียนมา แก้หมอกควันข้ามแดน

ยุทธศาสตร์ฟ้าใสเป็นแผนงานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างไทย สปป.ลาว และเมียนมา ระหว่างปี 2567-257...