'ผู้ต้องขัง' องคาพยพสิ่งแวดล้อม กรมราชทัณฑ์ใช้หนอน BSF จัดการขยะอินทรีย์

ขยะมูลฝอยเป็นหนึ่งปัจจัยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งกว่าร้อยละ 35-40 ของขยะมูลฝอยชุมชนเป็นขยะเศษอาหาร เมื่อโลกต้องเผชิญกับปริมาณขยะอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โซลูชั่นใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมกำลังเกิดขึ้นเพื่อต่อสู้กับความท้าทายเหล่านี้ หนึ่งในนั้นคือการใช้ตัวอ่อนของแมลงวันลายทหารดำ (Black Soldier Fly : BSF) ในการจัดการขยะอินทรีย์ วิธีการนวัตกรรมนี้เสนอวิธีการที่ยั่งยืน คุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการจัดการขยะอินทรีย์

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการขับเคลื่อนเรือนจำสีเขียว ด้วยนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ ใช้ Black Soldier Fly (หนอน BSF) พร้อมขยายผลสู่ 143 เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ

ข้อดีจัดการขยะด้วยหนอน BSF

เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : ตัวอ่อน BSF ลดปริมาณขยะอินทรีย์อย่างมาก ลดการใช้งานหลุมฝังกลบและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การรีไซเคิลธาตุอาหาร : กระบวนการนี้นำธาตุอาหารกลับเข้าสู่ระบบนิเวศน์ ส่งเสริมการปฏิบัติการเกษตรที่ยั่งยืน

คุ้มค่า : การใช้ BSF ในการจัดการขยะมีความคุ้มค่ามากกว่าวิธีการแบบดั้งเดิม เช่น การเผาหรือการฝังกลบ

ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง : ตัวอ่อนสามารถแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนต่อแหล่งอาหารสัตว์แบบดั้งเดิม

การประยุกต์ใช้ทั่วโลก

ประเทศและอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังนำการจัดการขยะด้วย BSF มาใช้มากขึ้น ตัวอย่างเช่นในประเทศไทย หลายสตาร์ทอัพและสถาบันวิจัยกำลังนำเทคโนโลยี BSF มาใช้ในการจัดการขยะอาหารและเศษซากการเกษตร ซึ่งไม่เพียงแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ แต่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยการสร้างตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มาจาก BSF

ขยะฝังกลบปล่อยก๊าซเรือนกระจก 8.66 ล้านตัน

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระบวนการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่ใช้ในปัจจุบัน อาทิ ระบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล ระบบหมักทำปุ๋ย ระบบหมักแบบไร้อากาศ การเผาในเตาเผาและเผากลางแจ้ง มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 8.66 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการปล่อยในภาคของเสียทั้งหมด (16.88 MtgCO2eq) (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2562/ค.ศ. 2019)

กรมลดโลกร้อนจึงได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ในการจัดการขยะเศษอาหารที่ต้นทางอย่างเหมาะสมด้วยหนอน BSF โดยได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เรือนจำและทัณฑสถานในรูปแบบออนไลน์กว่า 136 แห่ง และลงมือปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง 7 แห่ง พบว่า สามารถจัดการกับขยะเศษอาหารได้ดี และยังนำผลผลิตจากหนอน BSF ไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ทั้งเป็นอาหารสัตว์และปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งการลงนาม MOU ในวันนี้ จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของการขยายผลแนวทางการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างแท้จริง

ผู้ต้องขัง 2 แสนคน ทรัพยากรมนุษย์สำคัญ

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการควบคุมและแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องราชทัณฑ์

ปัจจุบันมีผู้ต้องราชทัณฑ์ จำนวน 277,950 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2567) ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงในทุกองคาพยพของสังคม และเป็นพลังที่จะมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

ผู้ต้องราชทัณฑ์ร่วมทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อสร้างสังคมน่าอยู่ อาทิ ลดปริมาณขยะ ปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

"กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้ในนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ ด้วยการใช้หนอน BSF ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและกิจกรรม Green Prison เรือนจำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถลดปริมาณขยะเศษอาหาร และยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการเกษตร ลดต้นทุนอาหารสัตว์และปุ๋ยอินทรีย์ อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะภายในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศอีกด้วย"

ในปัจจุบันมีเรือนจำและทัณฑสถานที่ดำเนินการเลี้ยงหนอน BSF เพื่อใช้ในการจัดการขยะอินทรีย์แล้ว จำนวน 17 แห่ง ซึ่งการลงนาม MOU ในวันนี้ จะเป็นการสร้างความร่วมมือและนำไปสู่การขยายการดำเนินงานไปยังเรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมอันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป

ทั้งนี้ ภายใต้ MOU ดังกล่าว ทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการจัดการขยะอินทรีย์และขยะเศษอาหารในเรือนจำและทัณฑสถาน การนำผลผลิตที่ได้ไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร ทั้งการใช้เป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ รวมถึงการประเมินปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะมูลฝอยภายในเรือนจำและทัณฑสถาน เพื่อก่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และลดผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ทูตจีนยินดีไทยร่วมหุ้นส่วน BRICS

นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยแสดงปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจจีนในมุมมองใ...

'สตาร์บัคส์' ปรับใหญ่เมนูร้าน ถอดเมนูที่ซับซ้อนเกิน เร่งดึงลูกค้ากลับ

ไบรอัน นิคโคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนใหม่ของเชนร้านกาแฟรายใหญ่ “สตาร์บัคส์” (Starbucks) ...

'มาริษ' ร่วมเฟรม 'ปูติน-สี จิ้นผิง' ระหว่างประชุม BRICS Plus

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมก...

‘Intel’ รอดคดีผูกขาด! ไม่ต้องจ่ายค่าปรับเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “อินเทล” (Intel) ผู้ผลิตชิปซีพียูระดับโลก “ชนะ” ศึกต่อสู้ทางกฎหมายรอบล่...